BBL-KKP ติดโผหุ้น Top Pick กำไรQ4/63โตเด่น

498

 

มิติหุ้น-นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.หยวนต้า(ประเทศไทย) แนะนำ “Overweight” กลุ่มธนาคารพาณิชย์ แม้ภาพรวมผลดำเนินงานไตรมาส 4/63 ภายใต้ Coverage ทั้ง 7 แห่ง คาดปรับตัวลง 21.4% จากปีก่อน จากผลกระทบของรายได้ดอกเบี้ยรับที่ต่ำลงตามทิศทางของดอกเบี้ยนโยบายที่ปรับลดลงกว่า 5 ครั้งนับตั้งแต่ไตรมาส 3/62กดดัน Asset Yield ให้ต่ำลง บวกกับระดับการตั้งสำรองที่เร่งตัวขึ้นเพื่อรองรับความเสี่ยงทาง ศก. จากการแพร่ระบาดของ COVID-19

อย่างไรก็ดีหากพิจารณาแยกเป็นรายแบงก์ ฝ่ายวิจัยแบ่งหุ้นที่ดูแลตามทิศทางของกำไรในไตรมาส 4/63 เป็น 3 กลุ่มได้แก่ 1.กำไรฟื้นแรงในไตรมาส 3/63 และคาดโตต่อในไตรมาส 4/63 ได้แก่ BBL โดยไตรมาส 4/63 คาดกำไรสุทธิ 5,531 ล้านบาท เติบโต 37.7% จากไตรมาสก่อน แต่ลดลง 30.9% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน  หลังมีค่าใช้จ่ายพิเศษเพิ่มเข้ามาในไตรมาส 3/63 ที่บันทึกค่าใช้จ่ายในโครงการควบรวมแบงก์ Permata ในอินโดนีเซียเข้ามาในไตรมาส 3/63  ทั้งหมดราว 4,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายครั้งเดียว  อีกทั้งพอร์ตสินเชื่อของ BBL มีสัดส่วนลูกหนี้ SME ที่ต่ำทำให้คาดการตั้งสำรองมีโอกาสชะลอลงต่ำ ทำให้แนวโน้มกำไรไตรมาส 4/63 มีโอกาสฟื้นตัวได้เด่นที่สุดในกลุ่ม

ส่วน  KBANK ไตรมาส 4/63 คาดกำไรสุทธิ 6,826 ล้านบาท เติบโต 2.2% จากไตรมาสก่อน แต่ลดลง 22.4%จากช่วงเดียวกันของปีก่อน แม้คาดการตั้งสำรองยังทรงตัวในระดับสูงเพราะพอร์ตสินเชื่อหลักเป็นกลุ่ม MSME ที่มีความเปราะบางต่อการเปลี่ยนแปลงทาง ศก. แต่คาดจะเริ่มผ่อนคลายลงต่อเนื่องจากไตรมาส 3/63 ขณะที่กำไรจากการดำเนินงานมีแนวโน้มเร่งตัวขึ้นหลังรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยฟื้นตัว

2.ฐานกำไรต่ำในไตรมาส 3/63 และคาดฟื้นตัวได้ดีจากไตรมาสก่อน ได้แก่ KTB ไตรมาส 4/63 คาดกำไรสุทธิ 4,106 ล้านบาท เติบโต 34.3% จากไตรมาสก่อน แต่ลดลง 44.9% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน , SCB ไตรมาส 4/63 คาดกำไรสุทธิ 5,918 ล้านบาท เติบโต 27.5% จากไตรมาสก่อน และ เติบโต 7.5% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วน TMB คาดกำไรสุทธิ 2,003 ล้านบาท เติบโต 23.7% จากไตรมาสก่อน  และ เติบโต 24.0% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

โดยส่วนใหญ่เป็นแบงก์ที่มีฐานกำไรในไตรมาส 3/63 ต่ำกว่าแบงก์อื่นๆในกลุ่ม ทั้งจากนโยบายตั้งสำรองที่เร่งตัวขึ้นในไตรมาส3/63 จากการจัดชั้นลูกหนี้แบบ Qualitative (ปรับชั้นลูกหนี้ที่มีศักยภาพชำระคืนหนี้ต่ำแม้จะอยู่ภายใต้โครงการพักชำระหนี้หรือปรับโครงสร้างหนี้) และเพิ่มระดับความระมัดระวังเพื่อรองรับการทดสอบ Stress Test ที่จัดส่ง ธปท. ในเดือน ต.ค. ทำให้เราคาดกลุ่มนี้โดยรวมจะมีการชะลอการตั้งสำรองลง

3.กำไรฟื้นตัวได้อย่างมีเสถียรภาพ ได้แก่ TISCO ไตรมาส 4/63 คาดกำไรสุทธิ 1,673 ล้านบาท เติบโต 3.8% จากไตรมาสก่อน แต่ลดลง 10.3% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และ KKP คาดกำไรสุทธิ 1,414 ล้านบาท เติบโต 5% จากไตรมาสก่อน แต่ลดลง  15.8% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นกลุ่มที่การดำเนินงานโดยรวมได้รับผลกระทบจาก ศก. น้อยกว่ากลุ่ม และพอร์ตสินเชื่อ โดยรวมมีคุณภาพค่อนข้างดี (สัดส่วนราว 70% เป็นสินเชื่อที่มีหลักประกัน) ทำให้คาดการตั้งสำรองมีแนวโน้มผ่อนคลายมากกว่าแบงก์อื่น อีกทั้งมีแรงหนุนจากการเข้าสู่ช่วง High Season ของรายได้ค่าธรรมเนียมต่างๆ โดยเฉพาะค่าธรรมเนียมขายหน่วยลงทุนและค่าธรรมเนียมธุรกิจหลักทรัพย์ที่มีแนวโน้มปรับตัวขึ้นได้ดี หนุนให้คาดกำไรสุทธิจะฟื้นตัวต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 3

ดังนั้นฝ่ายวิจัยเลือก BBLและ KKP เป็นหุ้น Top Pick แนะนำ BBL (เป้าหมาย 151บ.) เป็น Top Pick ของกลุ่ม คาดกำไรไตรมาส 4/63 ฟื้นตัวเด่นสุดในกลุ่มฯ หลังตั้งค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับ Permata ไปล่วงหน้าแล้วในไตรมาส 3/63 ทำให้ไม่มีแรงกดดันจากค่าใช้จ่ายส่วนเพิ่ม ขณะที่ 64 คาดฟื้นตัวเด่นเช่นกัน หนุนด้วยการตั้งสำรองที่ผ่อนคลายลง และการรวมงบการเงินของ Permata เข้ามาเต็มปีเป็นครั้งแรก นอกจากนี้ BBL ยังเป็นแบงก์ที่มีความเสี่ยงของพอร์ตสินเชื่อไม่สูงเพราะมีลูกหนี้ SME น้อยกว่าแบงก์ใหญ่รายอื่น

ส่วนแบงก์ขนาดกลาง/เล็กแนะนำ KKP (เป้าหมาย 64 บ.) มีปัจจัยบวกจาก 1.ยอดสินเชื่อเติบโตเด่นสุดในกลุ่ม ,2. รายได้ค่าธรรมเนียมฝั่งตลาดทุนที่จะปรับตัวดีขึ้น หลัง IPO ดีลใหญ่เลื่อนไปเป็นปี 64 และคาดพอร์ตสินเชื่อยังเติบโตได้ดีสอดคล้องกับยอดขายยานยนต์ในประเทศที่ดีขึ้น และ 3.มีปัจจัยบวกจากการจ่ายเงินปันผลภายใต้ข้อกำหนดของ ธปท. ที่โดดเด่นกว่ากลุ่ม คาด Div. Yield ปี 2563 ที่ 7.3%

www.mitihoon.com