THCOM จัดทัพก้าวเข้าสู่ยุคใหม่ ใบอนุญาต‘ธุรกิจดาวเทียม’ (04/01/64)

593

มิติหุ้น – THCOM ปี 64 เข้ายุคเปลี่ยนผ่านจากระบบสัมปทานดาวเทียมสู่การประมูลรับใบอนุญาต คาด กสทช. กำหนดประมูลช่วงต้นปี โบรกฯ ชี้ไทยคมได้ประโยชน์จากมีประสบการณ์เหนือคู่แข่ง แถมมีฐานลูกค้ารองรับอยู่แล้ว เชื่อเป็นโอกาสต่อยอดธุรกิจใหม่เพิ่ม

ผู้สื่อข่าว “มิติหุ้น” รายงานว่า บมจ.ไทยคม หรือ THCOM ประกอบธุรกิจในกลุ่มธุรกิจหลัก 3 กลุ่ม ได้แก่ 1.ธุรกิจดาวเทียมและบริการที่เกี่ยวเนื่อง 2.ธุรกิจอินเทอร์เน็ตและสื่อ 3.ธุรกิจโทรศัพท์ในต่างประเทศ โดยฝ่ายวิจัย บล.เอเชียพลัส ระบุว่า จากในปี 64 อุตสาหกรรมดาวเทียมไทยกำลังจะเปลี่ยนผ่านจากยุคสัมปทานที่สิ้นสุดสัญญาภายใต้การกับกับดูแลของกระทรวงดิจิตอล มาสู่ระบบใบอนุญาต ภายใต้การกำกับดูแลของ กสทช. ซึ่งประเมิน THCOM เป็นผู้ประกอบการรายหลักในปัจจุบันเชื่อว่ามีโอกาสได้ประโยชน์จากความชัดเจนดังกล่าว อีกทั้งยังได้เปรียบคู่แข่งที่ร่วมประมูลเพราะมีประสบการณ์ และลูกค้าอยู่แล้ว

พร้อมประมูลวงโคจรปี64

ทั้งนี้ กสทช.ได้กำหนดประมูลวงโคจรต้นปี 64 และเริ่มจัดรับฟังความคิดเห็นสาธารณะต่อร่างหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้สิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียม ทั้งสิ้น 4 ชุด ได้แก่ 1.วงโคจร 50.5, 51 องศาตะวันออก ราคาขั้นต่ำ 728.19 ล้านบาท 2.วงโคจร 78.5 องศาตะวันออก ราคาขั้นต่ำ 366.48 ล้านบาท 3.วงโคจร 119.5, 120 องศาตะวันออก ราคาขั้นต่ำ 745.56 ล้านบาท 4.วงโคจร 126, 142 องศาตะวันออก ราคาขั้นต่ำ 364.68 ล้านบาท โดยการคัดเลือกผู้ชนะแต่ละชุดวงโครจร จะพิจารณาข้อเสนอด้านประสบการณ์และความสามารถ และพิจารณาที่ราคา โดยแต่ละชุดจะมีอายุใบอนุญาต 20 ปี

นอกจากนี้ ผู้ครองสิทธิ์วงโครจรไทยจะต้องเสียต้นทุนค่าธรรมเนียม 4.25% ของรายได้ (ค่าวงโครจร 0.25% ของรายได้ อื่นๆ คือ ค่าธรรมเนียมใบอนุญาตและค่า ISO (เงินเข้ากองทุนพัฒนาโทรคมนาคมส่วนกลาง) รวม 4.0% ของรายได้) ส่วนผู้ประกอบการที่ใช้วงโคจรต่างประเทศ แล้วต้องการดำเนินธุรกิจในไทยให้ขอใบอนุญาต Landing Rights ค่าธรรมเนียม 3.2% ของรายได้ ทั้งหมดถือเป็นบวกต่อแนวโน้มอุตสาหกรรมดาวเทียมที่มีความชัดเจนด้านกฏเกณฑ์กว่าในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา

โอกาสรุกต่อยอดธุรกิจ 

อย่างไรก็ดี ประเด็นที่ยังต้องติดตามของ THCOM คือ แม้จะชนะประมูลวงโคจร แต่ THCOM ยังต้องใช้เวลาสร้างดาวเทียมใหม่ 1-2 ปี ซึ่งอาจจะไม่ทันต่อช่วงเวลาสิ้นสุดสัมปทานในอีก 9 เดือนข้างหน้า ที่ THCOM จะต้องโอนทรัพย์สินดาวเทียมสัมปทานที่มี 2 จาก 4 ดวง คือ ไทยคม (iPSTAR) และไทยคม 6 ให้กับรัฐฯ

ขณะที่ดาวเทียมที่เหลืออีก 2 ดวงคือ ไทยคม 7,8 ปัจจุบันยังไม่สามารถรองรับลูกค้าดาวเทียมสัมปทานได้ อีกทั้งยังเป็นดาวเทียมที่ไม่อยู่ทั้งภายใต้ระบบสัมปทานและใบอนุญาต โดย THCOM เสียเฉพาะค่าใบอนุญาตให้รัฐ ที่ปีละ 4% อย่างเดียว ทำให้ปัจจุบันอยู่ภายใต้ข้อพิพาท THCOM จึงมีความเสี่ยงไม่มีดาวเทียมให้บริการลูกค้าจึงจำเป็นต้องทางรักษาลูกค้าบนดาวเทียมสัมปทานเอาไว้ให้ได้ก่อนดาวเทียมใหม่จะสร้างเสร็จ

อย่างไรก็ดี หากมีแนวทางชัดเจน เชื่อว่าจะช่วยขจัดประเด็นปัญหากฎเกณฑ์ที่ THCOM เผชิญมาตลอดหลายปี และจะช่วยเปลี่ยนบริษัทเข้าสู่ยุคใหม่ คือ ยังคงรักษาฐานธุรกิจเดิมภายใต้การให้บริการบนดาวเทียมภายใต้การกำกับ กสทช. ขณะเดียวกันยังเตรียมต่อยอดธุรกิจใหม่ๆ อาทิ การเป็นตัวแทนขายกำลังให้บริการดาวเทียมเทคโนโลยีใหม่ LEO และธุรกิจโดรน

www.mitihoon.com