MAJOR ปักธงปี 64 ทุ่มงบ 1พันล. ลุยขยายสาขา-ผลิตคอนเทนท์ทำเงิน

172

นายวิชา พูลวรลักษณ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป จำกัด(มหาชน) หรือ MOJOR เปิดเผยว่า ทิศทางผลประกอบการในปี 64 บริษัทตั้งเป้าจะผลักดันรายได้และกำไรสุทธิให้กลับไปเติบโตใกล้เคียงกับปี 62 ที่มีรายได้ประมาณ 11,141 ล้านบาท และกำไรสุทธิ 1,170 ล้านบาท หรือเป็นการเติบโตในลักษณะวีเชฟ หลังจากปีนี้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างมีนัยสำคัญจนทำให้ผลประกอบการขาดทุนครั้งแรกนับตั้งแต่เข้าตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศ(ตลท.)มา 25 ปี อย่างไรก็ตามมองว่าเป็นประสบการณ์ที่ดีในการปรับโครงสร้างองค์กรให้แข็งแรงและลองทำในสิ่งใหม่หรือธุรกิจใหม่ๆ เช่นการขายสินค้าออนไลน์ ซึ่งเริ่มจากการขายป๊อปคอร์นถือว่าได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี

ส่วนแผนการลงทุนปี 64 บริษัทวางงบลงทุนรวมไว้ที่ 1,000 ล้านบาท แบ่งเป็นการผลิตคอนเทนท์หรือลงทุนสร้างภาพยนตร์ไทยประมาณ 350-400 ล้านบาท ที่เหลือจะเป็นการขยายสาขาในต่างจังหวัดเพิ่มอีก 8 สาขา รวม 24 โรง และสาขาในประเทศกัมพูชาอีก 2 สาขา รวม 6 โรง เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของลูกค้า

โดยปัจจุบันบริษัทมีสาขาที่เปิดให้บริการรวมทั้งสิ้น 172 สาขา หรือคิดเป็นจำนวน 817 โรง และ 185,874 ที่นั่ง โดยแบ่งเป็นสาขาในกรุงเทพฯและปริมณฑลจำนวน 47 สาขา 357 โรง 81,388 ที่นั่ง, สาขาในต่างจังหวัด 117 สาขา 421 โรง96,037 ที่นั่ง และสาขาในต่างประเทศ 8 สาขา 39 โรง 8,449 ที่นั่ง

ขณะที่ผลการดำเนินงานในไตรมาส 4/63 ก็คาดว่าน่าจะเติบโตดีกว่าไตรมาส 3/63 เนื่องจากภายหลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย มีหนังเข้ามาฉายและกวาดรายได้เกิน 100 ล้านบาทเกือบทุกเรื่อง สร้างความมั่นใจให้กับผู้ผลิตหนังรายอื่นๆ นำหนังเข้าฉายในโรงภาพยนตร์อย่างต่อเนื่อง

นายวิชา กล่าวต่อว่าในปี 63 เกิดวิกฤตการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้ธุรกิจโรงภาพยนตร์ต้องปิดบริการชั่วคราว เป็น Global Crisis ที่เกิดขึ้น เข้าใจภาครัฐว่ามีความจำเป็นจะต้องล็อกดาวน์ เพื่อสู้กับสงครามการแพร่ของโรคระบาดที่เกิดขึ้น ต้องยอมรับว่าทุกส่วนโดนผลกระทบกันทั้งหมด

สำหรับ เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป รายได้ช่วงปิดให้บริการหายไป แต่ไม่กระทบโครงสร้างของอุตสาหกรรมโรงภาพยนตร์ เมื่อโรงภาพยนตร์กลับมาเปิดให้บริการ หนังก็สามารถกลับมาฉายได้ทันที เพราะหนังเป็นสินค้าที่ไม่เน่าเสีย ลูกค้าก็คือกลุ่มคนไทยก็จะกลับมาดูหนัง ซึ่งตรงกับผลจากการทำรีเสิร์ชพบว่าคนอยากกลับมาดูหนัง

ซี่งโรงภาพยนตร์ต้องสร้างความเชื่อมั่นด้วยมาตรการ New Normal คุมเข้มในส่วนของความสะอาดและความปลอดภัยขั้นสูงสุดสำหรับลูกค้าเป็นเรื่องสำคัญ ถือเป็นบทเรียนครั้งสำคัญของธุรกิจโรงภาพยนตร์และอุตสาหกรรมภาพยนตร์ที่ต้องถอดบทเรียนกับสิ่งที่เกิดขึ้น

จากนี้ไปการดำเนินธุรกิจจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป เป็นปีที่ท้าทายของทุกธุรกิจ เป็นสถานการณ์ใหม่ที่ไม่เคยเจอมาก่อน ซึ่งอยู่เหนือการคาดเดาและการควบคุม ไม่มีอะไรแน่นอน ต้อง Transform องค์กรและปรับโครงสร้างการทำงานใหม่เป็น Total Digital Organization และสร้าง Business Model ให้แข็งแรง ด้วย 3 T ดังนี้

1.Thai Movie ที่ผ่านมาในช่วงสถานการณ์วิกฤตของไวรัสโควิด-19 ภาพยนตร์ไทยกลายเป็นคอนเทนต์หลักที่ช่วยให้ธุรกิจโรงภาพยนตร์สามารถผ่านจุดวิกฤต ถือเป็นช่วงโอกาสทองของภาพยนตร์ไทยที่จะโชว์คอนเทนต์อย่างเต็มที่สู่ตลาด สามารถช่วยแก้ปัญหาจากบทเรียนของสถานการณ์วิกฤตโควิด-19 ที่ผ่านมา

เมื่อตลาดโรงภาพยนตร์โลกขาดสินค้าหรือคอนเทนต์ที่เป็นภาพยนตร์ฮอลลีวูดเข้าฉาย แต่หากเรามีภาพยนตร์ Local Film ที่สร้างเอง ก็จะทำให้มีคอนเทนต์ป้อนตลาด โดยไม่ต้องรอภาพยนตร์ฮอลลีวูด ที่ผ่านมามีภาพยนตร์ไทย 3 เรื่องที่ทำให้ภาพยนตร์ไทยกลับมาคึกคักอีกครั้ง นั่นคือ ภาพยนตร์เรื่อง “มนต์รักดอกผักบุ้ง เลิกคุยทั้งอำเภอ” ที่สามารถตอบโจทย์คนดูทางภาคใต้ ทำรายได้ ไปถึง 43 ล้านบาท

ตามมาด้วย “อีเรียมซิ่ง” ซึ่งขณะนี้กวาดรายได้ไปแล้ว 200 ล้านบาท  หากคอนเทนต์ทำได้น่าสนใจและโดนใจคนดู คนก็จะออกมาดูหนัง ดังนั้น เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป จึง Rethink ด้วยการให้ความสำคัญในการพัฒนา ส่งเสริม สนับสนุนและผลักดันให้บริษัทผลิตภาพยนตร์ผลิตภาพยนตร์ไทยเข้าฉายในโรงภาพยนตร์ ซึ่งถือเป็นการพัฒนาอุตสาหกรรมแบบครบวงจรตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ

คือ เป็นทั้ง ผู้สร้าง Local Film และ ผู้ฉาย หวังสร้าง Local Content ให้แข็งแรง เพื่อสามารถยืนได้ด้วยตัวเอง มั่นใจว่าหากมีคอนเทนต์ภาพยนตร์ไทยที่น่าสนใจและมีคุณภาพ ก็สามารถส่งออกไปขายยังตลาดกลุ่มประเทศ CLMV และตลาดโลกได้ และส่งผลให้ธุรกิจภาพยนตร์ไทยและธุรกิจโรงภาพยนตร์เติบโตควบคู่กันไปอย่างยั่งยืน หวังให้ภาพยนตร์ไทยเติบโตมี มาร์เก็ตแชร์ 50% เพื่อพัฒนาก้าวสู่ Tollywood (Thailand+Hollywood) of The World ที่คนทั่วโลกรู้จักนอกเหนือจากฮอลลีวูด และบอลลีวูดในอินเดีย

อย่างไรก็ตาม แม้ปีนี้อาจเป็นปีที่ไม่ค่อยดีนักของโรงภาพยนตร์ แต่ปีหน้า ปี 2564 จะเป็นปีที่ Movie is back, No Time To Die จะมีภาพยนตร์เข้าฉายให้ลูกค้าได้ชมกันมากถึง 260 เรื่อง เป็นภาพยนตร์ฮอลลีวูดประมาณ 210 เรื่อง เป็นภาพยนตร์ไทยประมาณ 50 เรื่อง เป็นของบริษัทผลิตภาพยนตร์ไทยในเครือเมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป จาก 6 ค่าย

ได้แก่ M PICTURES, M๓๙, Transformation Film, CJ MAJOR Entertainment, TAI MAJOR และ รฤก โปรดักชั่น รวม 20 เรื่อง  เป็นการผลิตเพิ่มขึ้นเท่าตัวจากที่เคยผลิตเพียงปีละ 10-12 เรื่อง, GDH 4 เรื่อง, สหมงคลฟิล์ม 7 เรื่อง ไฟว์สตาร์ 3 เรื่อง และค่ายหนังอื่น ๆ คาดว่าเป็นภาพยนตร์ไทยที่ทำเงิน อาทิ คุณชายใหญ่, บอสฉัน… ขยันเชือด My Boss is a Serial Killer, เรื่องผีเล่า, ไสหัวไป นายส่วนเกิน, Game Changer, Ghost Lab โกสต์แล็บ ฉีกกฎทดลองผี, ส้มปลาน้อย, ผีมือใหม่, ผาดำคำไอ่, SLR, พี่นาค 3, ร่างทรง, แดงพระโขนง, แสงกระสือ 2, สุภาพบุรุษสุดซอย The Movie, I Am OK และ บุพเพสันนิวาส ๒

ส่วนภาพยนตร์ฮอลลีวูดที่เข้าฉายมีประมาณ 210 เรื่อง ส่วนหนึ่งเป็นภาพยนตร์ที่เลื่อนฉายจาก ปี 2563 ในช่วงโควิด-19 เป็นภาพยนตร์ที่หลายคนรอคอยการกลับมาฉาย ซึ่งเป็นภาพยนตร์ฮอลลีวูด บ็อกซ์บัสเตอร์ฟอร์มยักษ์ที่คาดว่าจะทำเงิน อาทิ Black Widow, Godzilla VS Kong, Fast & Furious 9, Mission : Impossible 7, Spider-Man Sequel, The Matrix 4, Venom 2, The Conjuring 3, Mortal Kombat, The King’s Man, Morbius, No Time to Die, A Quiet Place Part 2, Infinite, Top Gun 2 :Maverick, Minions : The Rise of Gru, Shang-Chi and the Legend of the Ten Rings, Jungle  Cruise, The Suicide Squad 2, Dune, The Eternals

2. Technology : นโยบาย Major 5.0 มุ่งเน้นการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่ทันสมัยเข้ามาเติมเต็มในการให้บริการมากขึ้น โดย เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป ถือเป็นโรงภาพยนตร์รายแรกของโลกที่ขับเคลื่อนธุรกิจที่มีการนำนวัตกรรมเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่ทันสมัยเข้ามาให้บริการลูกค้าตลอดมาอย่างต่อเนื่อง เริ่มตั้งแต่การขายตั๋วผ่านตู้จำหน่ายตั๋วอัตโนมัติ E Ticket แล้วพัฒนาต่อเป็น Seamless Ticket โดยมอบประสบการณ์การซื้อผ่านแอพได้ตั๋ว นำมาสแกนที่ตู้แล้วเดินเข้าโรงภาพยนตร์ได้ทันที

3. Trading : เกิด New Business จากการเพิ่มช่องทางการขายออนไลน์กับ “Major Popcorn Delivery” ที่ตอบรับความต้องการและอำนวยความสะดวกให้ลูกค้าที่ต้องการสั่งออนไลน์ผ่านแอปพลิเคชั่นเดลิเวอรี่ โดยร่วมกับผู้ประกอบธุรกิจ Food Delivery อย่าง Grab Food, foodpanda, LINEMAN, gojek จัดส่งป๊อปคอร์นสดใหม่จากโรงภาพยนตร์ไปให้ลูกค้าได้รับประทานทุกที่ ทุกเวลา ไม่ว่าจะอยู่บ้าน ที่ทำงาน หรือที่ไหน ๆ ก็สามารถอร่อยกับ ป๊อปคอร์น Pop Corn Supersize ป๊อปคอร์นถังใหญ่ ขนาด 355 ออนซ์, Pop To Go ป๊อปคอร์นในถุงซิปล็อค ขนาด 75 ออนซ์, POP STAR ป๊อปคอร์นพรีเมียมบรรจุในกระป๋อง ขนาด 60 ออนซ์

นอกจากนี้ ได้ขยายช่องทางการขายป๊อปคอรน์เข้าไปในอีเวนต์ต่าง ๆ เช่น กีฬา, คอนเสิร์ต,  Pop To Go ในห้างสรรพสินค้า และล่าสุดได้ขยายไลน์สินค้าป๊อปคอร์นด้วยการเปิดตัว ป๊อปคอร์น พรีเมียม POPSTAR ให้ลูกค้าที่ชื่นชอบในรสชาติของป๊อปคอร์นโรงหนังที่เป็นเอกลักษณ์ ได้เลือกอร่อย ใน 3 รูปแบบ คือ ป๊อปสตาร์ สแน็ค ป็อปคอร์นแบบซอง, ป๊อปสตาร์ ไมโครเวฟ รสชีส ทำเองได้ ง่าย ๆ เพียงเข้าไมโครเวฟ กับความพิเศษมาพร้อมผงปรุงรสชีสในซอง และ ป๊อปสตาร์พรีเมียม ทินแคน ป๊อปคอร์นพรีเมียมบรรจุกระป๋อง ลูกค้าสามารถซื้อเป็นของขวัญ ของฝาก หรือจัดกระเช้าป๊อปคอร์นนำไปส่งมอบในช่วงเวลาแห่งความสุข Season Of Happiness ในช่วงเทศกาลคริสต์มาสและปีใหม่ได้ด้วย ในอนาคตจะมีการขยาย Outlet การขายออกไปนอกโรงภาพยนตร์เพิ่มมากขึ้น

แผนการตลาดในปี 2564 ว่า จะทำการตลาดแบบ Convergence โดยทำ ON-GROUND ควบคู่ไปกับ ONLINE จากความสำเร็จของการเติบโตของ M PASS ซึ่งถือว่า เป็น O2O Platform ที่มีความสะดวกสามารถสมัครผ่านออนไลน์ ทำให้ลูกค้ามาดูภาพยนตร์ที่โรงเติบโตมากถึง 100,000 Member และมียอดสมัครใหม่มากกว่าเดือนละ 30,000 คน มีการใช้ดาต้าเบสเพื่อหาลูกค้ากลุ่มใหม่ผ่านเครื่องมือ GA360 เพื่อใช้ Application ในการนำเสนอโปรโมชั่นดิจิตอล หรือ M VOUCHER ให้ตรงใจกับลูกค้ามากยิ่งขึ้น

อีกทั้ง ได้เลือกสรรคอนเทนต์ที่มีความหลากหลายที่เป็น Alternative Content, Non-Movie Content เพื่อนำประสบการณ์พิเศษแปลกใหม่เข้าสู่โรงภาพยนตร์ เช่น การแข่งขันอีสปอร์ต, Dine in Cinema ส่วนคอนเทนต์ภาพยนตร์มีการนำเสนอคอนเทนต์เอเชี่ยนที่มาแรง ไม่ว่าจะเป็นภาพยนตร์ญี่ปุ่น เกาหลี จีน อินเดีย ที่มีความน่าสนใจมากขึ้นและให้มีสัดส่วนเพิ่มมากขึ้น

พร้อมต่อยอดการนำพื้นที่โรงภาพยนตร์มาเป็นสถานที่ใช้จัดกิจกรรมต่าง ๆ ที่สามารถตอบสนองความต้องการที่หลากหลายให้กับลูกค้าในการเข้าใช้บริการ เพื่อสร้างรายได้เพิ่ม อาทิ การจัดสัมมนา, การจัดประชุมผู้ถือหุ้น, การจัดเสวนาทางวิชาการ, การจัดงานแถลงข่าว, การจัดกิจกรรมติวเตอร์, การถ่ายทอดสด Live Streaming การประกวดมิสยูนิเวอร์สไทยแลนด์ ปี 2020 และคอนเสิร์ตออนไลน์ (LIVE) จากญี่ปุ่นและเกาหลี, การจัดงานมอบรางวัล, การฉายภาพยนตร์ซีรีย์รอบพิเศษ, การจัดงานแต่งงาน เป็นต้น

www.mitihoon.com