NER ได้รับอานิสงส์ราคาน้ำยางปรับตัวสูงขึ้น จากดีมานด์ใช้ยางพุ่งต่อเนื่อง ตั้งเป้ารายได้ปี 64 ที่ 2.2 หมื่นลบ.

227

มิติหุ้น – นายชูวิทย์ จึงธนสมบูรณ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท นอร์ทอีส รับเบอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ NER ผู้ดำเนินธุรกิจผลิตและจำหน่ายยางแผ่นรมควัน ยางแท่ง และยางผสม เพื่อจำหน่ายไปยังผู้ผลิตในอุตสาหกรรมยานยนต์ และกลุ่มผู้ค้าคนกลาง ทั้งในและต่างประเทศ เปิดเผยถึงสถานการณ์การใช้ยางพาราในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด – 19 ทั้งในประเทศและต่างประเทศว่า บริษัทได้รับอนิสงค์จากราคาน้ำยางที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากความต้องการการใช้ถุงมือยางเพิ่มมากขึ้น จนทำให้สินค้าในกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ที่ใช้ยางแผ่น หรือ ยางก้อน ในการผลิตได้รับอนิสงค์ด้วย เนื่องจากสินค้าทั้ง 2 ชนิดใช้วัตถุดิบจากแหล่งเดียวกัน โดยราคายางแผ่นรมควันชั้น 3 ณ ตลาดกลางยางพาราจังหวัดสงขลา วันนี้(21 ธ.ค.63) อยู่ที่ 65.29 บาท/กิโลกรัม

สำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์นั้น สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ได้ออกมาเปิดเผยว่าจำนวนการผลิตยอดขายรถยนต์ภายในประเทศและการส่งออกรถยนต์และรถจักรยานยนต์ของประเทศ ได้มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นหลังจากสงครามการค้าเมื่อปีที่แล้วและการระบาดของโควิด – 19 เนื่องจากประเทศคู่ค้าเริ่มคลายการล็อคดาวน์และมีกิจกรรมทางเศรษฐกิจมากขึ้นด้วย บริษัทจึงมองว่าสินค้าในกลุ่มยานยนต์เป็นกลุ่มที่ยังมีความต้องการสูงอยู่อย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้รายงานจากฟิตช์ เรตติงส์ (Fitch Ratings) สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือตัวเลขคาดการณ์การเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของจีนในปี 2021 จะเติบโตถึง 8% โดยบริษัทมองว่าจะเป็นผลดีในกับบริษัทเนื่องจากบริษัทอยู่ในกลุ่มสินค้าอุปโภคและบริโภค

คุณชูวิทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ด้านเป้าหมายการเติบโตของรายได้รวมในปี 2564 บริษัทตั้งเป้ารายได้ 22,000 ล้านบาท โดยมองว่าความต้องการใช้ยางในอุตสาหกรรมยังดีต่อเนื่อง ซึ่งปัจจัยหนุนหลายด้าน ส่วนปริมาณการขายคาดว่าจะสามารถทำยอดขายยางพาราอยู่ที่ 410,000 ตัน จากกำลังการผลิตทั้งหมด 465,000 ตัน นอกจากนี้ราคาขายเฉลี่ยในปี 2564 จะสูงกว่าปี 2563 ค่อนข้างมากเนื่องจากความต้องการที่เพิ่มขึ้นจากการซื้อของผู้ซื้อยาง ด้านสัดส่วนของยอดขายในปี 64 ทางบริษัทยังวางนโยบายการจำหน่ายสินค้าในประเทศและต่างประเทศเป็น 50:50 ซึ่งมองว่าเป็นอัตราส่วนที่เหมาะสมของลูกค้าในประเทศที่มีการเพิ่มกำลังการผลิตจากการย้ายฐานการผลิตจากประเทศจีนย้ายมาตั้งโรงงานอยู่ที่ประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น  และลูกค้าต่างประเทศที่มีความต้องการใช้ยางธรรมชาติอยู่ แต่ปริมาณของผู้ส่งออกยางธรรมชาติในประเทศไทยมีปริมาณลดลง

www.mitihoon.com