สินทรัพย์เสี่ยงได้ไปต่อ ข้อมูลเศรษฐกิจจีนดีเกินคาด

172

สำนักงานสถิติแห่งชาติของจีนรายงานว่าดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตของจีนในเดือนพฤศจิกายนสดใสกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้และเป็นระดับสูงสุดในรอบกว่า 3 ปี ทางด้านดัชนี PMI สำหรับภาคบริการเพิ่มขึ้นสู่จุดสูงสุดในรอบกว่า 8 ปี และเติบโตต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 9 ส่วนความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวดีขึ้นเช่นกัน ขณะที่ยอดผู้ติดเชื้อ COVID-19 ปัจจุบันอยู่ในระดับต่ำ และจีนเร่งการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ

 

แม้ว่ากองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดว่าจีดีพีของจีนในปีนี้จะเติบโต 1.9% ซึ่งนับเป็นการขยายตัวที่ช้าที่สุดในรอบกว่า 30 ปี แต่ข้อมูลที่แข็งแกร่งในไตรมาสนี้บ่งชี้ว่า จีนเป็นประเทศแรกที่กิจกรรมทางด้านเศรษฐกิจฟื้นตัวกลับเข้าสู่ภาะวะปกติ โดยสามารถหักล้างผลทางเศรษฐกิจทั้งหมดที่เกิดจากมาตรการปิดเมืองและวิกฤตด้านสาธารณสุขได้สำเร็จแล้ว ขณะที่การฟื้นตัวมีแนวโน้มดำเนินต่อไปในปี 2564 ทั้งนี้ IMF คาดว่าเศรษฐกิจจีนจะเติบโตในอัตรา 8.2% ในปีหน้า

 

เป็นที่น่าสังเกตว่าในช่วง 11 เดือนแรกของปีนี้ เงินหยวนปรับตัวแข็งค่าอย่างโดดเด่นในอัตรา 5.8% ซึ่งสูงสุดสำหรับกลุ่มสกุลเงินตลาดเกิดใหม่ในเอเชีย (กราฟด้านล่าง) โดยเงินหยวนแข็งค่าขึ้นตั้งแต่เดือนพฤษภาคมเรื่อยมาจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่เร็วกว่าประเทศอื่นๆ ยิ่งไปกว่านั้น ตัวเลขเศรษฐกิจของจีนช่วยประคองแรงส่งเชิงบวก (Positive Momentum) ของสินทรัพย์เสี่ยง เช่น ตลาดหุ้น น้ำมันและทองแดง รวมถึงสกุลเงินที่มีความเชื่อมโยงสูงกับราคาสินค้าโภคภัณฑ์อย่างเงินดอลลาร์ออสเตรเลีย ซึ่งล้วนทะยานขึ้นอย่างรวดเร็วนับตั้งแต่ต้นเดือนพฤศจิกายนท่ามกลางความชัดเจนของผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่สร้างความหวังเกี่ยวกับทิศทางของสงครามการค้าที่น่าจะลดความรุนแรงลง และข่าวการพัฒนาวัคซีน COVID-19 ของหลายบริษัทที่ได้ผลน่าพอใจ อนึ่ง แม้เราคาดว่าสกุลเงินส่วนใหญ่ของประเทศคู่ค้าสำคัญของจีน รวมถึงเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นล้อไปกับเงินหยวน เรายังคงมองอย่างระมัดระวังว่าความเสี่ยงหลัก

 

สำหรับตลาดการเงินโลกในระยะสั้น คือกรณีที่ประธานาธิบดีทรัมป์จะทิ้งทวนโจมตีบริษัทสัญชาติจีน ซึ่งจะเพิ่มความผันผวนให้กับตลาดได้ และความไม่แน่นอนในระยะ 3-6 เดือนข้างหน้าคือหากวัคซีนยังไม่นำมาใช้ได้ภายในไตรมาส 1/2564 ซึ่งจะสร้างความผิดหวังให้กับนักลงทุน และหากสถานการณ์เป็นเช่นนั้น มีแนวโน้มที่นักลงทุนจะปรับพอร์ตเทขายสินทรัพย์เสี่ยงอีกครั้งเพื่อรอดูความชัดเจนต่อไป

Source: Bloomberg

โดย คุณรุ่ง สงวนเรือง ผู้อำนวยการ
ผู้บริหารฝ่ายส่งเสริมธุรกิจโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)

www.mitihoon.com