CPF โบรกยังมั่นใจผลประกอบการแข็งแกร่ง

492

มิติหุ้น-บทวิเคราะห์ บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง(ประเทศไทย) ระบุว่า บมจ. เจริญโภคภัณฑ์อาหาร (CPF) ฝ่ายวิจัยปรับเพิ่มประมาณการกำไรสะท้อนอัตรากำไรดีกว่าคาด อีกทั้งราคาหมูในไทย และเวียดนามยังมีแนวโน้มอยู่ในระดับสูง แม้ปีนี้ CPF ทำกำไรสูงเป็นประวัติการณ์ แต่เราประเมินว่ากำไรปีหน้ายังคงอยู่ในเกณฑ์ดี อีกทั้งการรวมธุรกิจ CTI เป็นอัพไซด์ต่อประมาณการ 10-12% ขณะที่การลงทุนในเทสโก้คาดว่าจะกระทบกำไรลง 6-7% เราคงคำแนะนำ ซื้อ CPF โดยปรับเพิ่มราคาเป้าหมายจาก 37.50 บาท เป็น 39 บาท ประกอบด้วย CPF 19.4 บาท อิง PER 13 เท่า (-1SD ของ PE เฉลี่ย) และ CPALL 19.6 บาท จาก DCF (WACC 7.2%, LTG 4%)

ปรับเพิ่มประมาณการสะท้อนอัตรากำไรดีกว่าคาด
แนวโน้มกำไร ไตรมาส 4/63 ชะลอ QoQ จากฐานสูงและเข้าสู่ช่วงโลว์ซีซั่น ขณะที่ราคาเนื้อสัตว์ในไทยและเวียดนามอ่อนตัวลงเล็กน้อย QoQ แต่ยังสูงขึ้น YoY อย่างไรก็ดี กำไร 9 เดือน เท่ากับกำไรทั้งปีที่เราคาดการณ์ จึงปรับประมาณการกำไรปกติปีนี้ขึ้น 23% และ 15% ในปีหน้า สะท้อนถึงอัตรากำไรขึ้นต้นดีกว่าที่คาด ส่วนราคากากถั่วเหลืองที่เพิ่มขึ้นยังไม่กระทบต้นทุนปีนี้ เนื่องจากมีการสต็อกไว้ใช้ได้ถึงไตรมาส 1Q64 โดยคาดว่าราคาเพิ่มขึ้น 10% ในปีหน้า แต่ต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์คาดจะเพิ่มขึ้นเพียง 2-3% เนื่องจากเพิ่มประสิทธิภาพการเลี้ยง&ผลิตทำให้ต้นทุนลดลง และปรับสูตรอาหารสัตว์

ราคาหมูในเวียดนามยังทรงตัวในระดับสูง
ราคาหมูเวียดนามปัจจุบันทรงตัวสูงที่ 70,000 VND/กก. ผู้บริหารประเมินว่า Supply ยังไม่กลับมาปกติ เนื่องจากยังมีการระบาดของ ASF ในบางพื้นที่ อีกทั้งอุตสาหกรรมหมูเกินกว่า 50% เป็นผู้เลี้ยงรายย่อยซึ่งยังไม่มีระบบการเลี้ยงที่ได้มาตรฐาน โดยคาดว่าราคาหมูจะลดลงบ้างจากเฉลี่ย 75,000 VND/กก. ในปีนี้ เป็น 60,000 VND/กก. แต่ CPF มีการเลี้ยงหมูเพิ่มจาก 6 ล้านตัว เป็น 7 ล้านตัวในปีหน้า รวมทั้งคาดว่าอาหารหมูจะมียอดขายเพิ่มขึ้น ทำให้ผลประกอบการของเวียดนามยังอยู่ในเกณฑ์ดี

ธุรหมูในจีนยังเติบโตดีต่อเนื่อง
คาดว่าจะรวมธุรกิจหมูในจีน (CTI) ภายใน 4Q63 ซึ่งจะมีการบันทึกกำไรพิเศษประมาณ 2,400 ล้านบาท แม้ราคาหมูในจีนลดลงจากสูงสุดที่ 40 RMB/กก. มาเป็น 28 RMB/กก. ในปัจจุบัน แต่ยังถือว่าเป็นระดับสูง และยังมีแนวโน้มทรงตัวสูงต่อไปในปีหน้า เนื่องจากผู้เลี้ยงรายย่อย (ซึ่งเป็นส่วนใหญ่ของตลาด) ยังไม่กลับมาเลี้ยง จากการที่ยังไม่มีวัคซีนรักษาโรค ASF ทำให้ปริมาณหมูยังขาดแคลน

ความเสี่ยง: ราคาเนื้อสัตว์ตกต่ำ ราคาวัตถุดิบเพิ่มขึ้น เศรษฐกิจโลกชะลอ โรคระบาด

www.mitihoon.com