BJC เผยงบ Q3/63 กำไรสุทธิสำหรับผู้ถือหุ้นของบริษัทอยู่ที่ 1,062 ลบ. แจงผลประกอบการปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมากว่า 247.2%

77

มิติหุ้น – BJC รายงานผลประกอบการไตรมาส ปีนี้ แม้จะยังได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ส่งผลให้ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว การส่งออกที่ลดลง และจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่หายไปจากข้อจำกัดด้านการเดินทางเข้าประเทศของชาวต่างชาติ แต่เห็นการฟื้นตัวที่ดีขึ้นอย่างชัดเจนเมื่อเทียบกับไตรมาส 2 ที่ผ่านมา จากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เริ่มกลับมาดำเนินการได้ตามปกติอีกครั้ง

บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ บีเจซี รายงานผลประกอบการไตรมาส 3/63 ต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ว่าบริษัทมีรายได้รวมในไตรมาส 3/63 อยู่ที่ 38,239 ล้านบาท ลดลง 4,483  ล้านบาท หรือคิดเป็น 10.5% เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน รายได้รวมลดลงจากยอดขายและรายได้ค่าบริการที่ลดลงจากกลุ่มธุรกิจรวม อยู่ที่ 35,027 ล้านบาท ลดลง 3,593  ล้านบาท หรือคิดเป็น 9.3% เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน  โดยลดลงจากยอดขายในกลุ่มสินค้าและบริการทางบรรจุภัณฑ์ กลุ่มสินค้าและบริการทางเวชภัณฑ์และเทคนิค และกลุ่มธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ แต่อย่างไรก็ตามหากเปรียบเทียบกับไตรมาส 2 ที่ผ่านมา ยอดขายมีการฟื้นตัวอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าและบริการทางบรรจุภัณฑ์ และกลุ่มสินค้าและบริการทางอุปโภคบริโภค

สำหรับยอดขายกลุ่มสินค้าและบริการทางอุปโภคบริโภคในไตรมาส 3/63 มีความแข็งแกร่ง  อยู่ที่ 5,146 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 676 ล้านบาท หรือคิดเป็น 15.1% เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน โดยเกิดจากยอดขายที่เพิ่มขึ้นจากกลุ่มธุรกิจอุปโภค กลุ่มธุรกิจโลจิสติกส์และกลุ่มธุรกิจต่างประเทศ และเมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาส 2/63 ยอดขายเติบโต เพิ่มขึ้นกว่า 190 ล้านบาท หรือคิดเป็น 3.8% เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสก่อน จากการฟื้นตัวในทุกกลุ่มธุรกิจ ในส่วนของกลุ่มสินค้าและบริการทางบรรจุภัณฑ์ แม้ยอดขายในไตรมาส 3/63 จะลดลงเล็กน้อยที่ 2.4เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน แต่ปรับตัวดีขึ้นอย่างแข็งแกร่งจากไตรมาส 2/63 ที่ผ่าน โดยปรับตัวดีขึ้นกว่า 11.5เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า ซึ่งเป็นผลจากการฟื้นตัวที่ดีขึ้นของกลุ่มธุรกิจบรรจุภัณฑ์แก้ว โดยเฉพาะกลุ่มผลิตภัณฑ์เครื่องดื่ม  

สำหรับกำไรสุทธิส่วนที่เป็นของผู้ถือหุ้นบริษัทในไตรมาส 3/63 เท่ากับ 1,062 ล้านบาท ลดลง 712 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 40.1 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน อย่างไรก็ตาม หากไม่รวมค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียวจากค่าชดเชยให้กับพนักงานจากการปรับโครงสร้างองค์กร สุทธิจากภาษีเงินได้นิติบุคคลและผู้ถือหุ้นส่วนน้อย จำนวน 27 ล้านบาทที่บันทึกในไตรมาส 3/63 และการกลับรายการการตั้งสำรองภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างของครึ่งปีแรกของปี 2562 สุทธิจากภาษีเงินได้นิติบุคคลและผู้ถือหุ้นส่วนน้อย จำนวน 298 ล้านบาทที่บันทึกในไตรมาส 3/62 กำไรสุทธิส่วนที่เป็นของผู้ถือหุ้นบริษัทในไตรมาส 3/63 เท่ากับ 1,090 ล้านบาท ลดลง 386 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 26.2% เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้ กำไรสุทธิส่วนที่เป็นของผู้ถือหุ้นบริษัทในไตรมาส 3/63 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาส 2/63 ที่ผ่านมา เพิ่มขึ้นกว่า 756 ล้านบาท หรือคิดเป็นเพิ่มขึ้นร้อยละ 247.2 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา สาเหตุหลักเนื่องจากการฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งของกลุ่มสินค้าและบริการทางบรรจุภัณฑ์ และการเริ่มฟื้นตัวของกลุ่มสินค้าและบริการทางการค้าปลีกสมัยใหม่

ในไตรมาส 3/63กลุ่มสินค้าและบริการทางการค้าปลีกสมัยใหม่ยังคงมุ่งขยายสาขาอย่างต่อเนื่อง โดยในไตรมาส 3/63 ได้เปิดสาขาขนาดใหญ่ บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ 1 สาขา บิ๊กซี ฟู้ดเพลส 2 สาขา  มินิบิ๊กซีทั้งหมด 64 สาขา และร้านขายยาเพรียว 3 สาขา ส่งผลให้ ณ สิ้นเดือนกันยายน 63 มีจำนวนสาขาไฮเปอร์มาร์เก็ตทั้งหมด 152 สาขา (บิ๊กซีซูเปอร์เซ็นเตอร์ และบิ๊กซีเอ็กซ์ตร้า) บิ๊กซีมาร์เก็ต 62 สาขา (บิ๊กซีมาร์เก็ต บิ๊กซี ฟู้ดเพลส และบิ๊กซีดีโป้) มินิบิ๊กซี 1,153 สาขา (รวมสาขาแฟรนไชส์ 61 สาขา) และร้านขายยาเพรียว 144 สาขา

จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศ ที่ถูกควบคุมได้เป็นอย่างดีผ่านมาตรการควบคุมด้านต่างๆ ส่งผลให้จำนวนผู้ติดเชื้อลดลงอย่างเป็นนัยสำคัญ และด้วยการผ่อนคลายมาตรการล็อคดาวน์ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจเริ่มกลับมาดำเนินการได้ตามปกติอีกครั้ง กลุ่มธุรกิจต่างๆ จึงเริ่มเห็นการฟื้นตัวที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง

www.mitihoon.com