เออาร์ไอพี และ ม.ศรีนครินทรวิโรฒ ร่วมมือทางวิชาการ วิจัยสมรรถนะที่จำเป็นต่อการทำงานในอนาคต เพื่อพัฒนาองค์กรธุรกิจไทย

59

มิติหุ้น – บริษัท เออาร์ไอพี จำกัด (มหาชน)  จับมือสถาบันวิจัย พัฒนา และสาธิตการศึกษา มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ร่วมมือทางวิชาการจัดทำวิจัยสมรรถนะที่จำเป็นของบุคลากรต่อการทำงานในอนาคตในบริบทที่เหมาะสมกับองค์กรไทย และการพัฒนาหลักสูตรฝึกอบรมเพื่อเสริมสร้างคุณลักษณะตามสมรรถนะที่จำเป็น โดยตั้งเป้าหมายให้เป็นมาตรฐานให้กับองค์กรไทยในการใช้ประเมินระดับสมรรถนะของบุคลากรในองค์กรในทุกระดับ จึงได้จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงร่วมกัน  โดยมี รศ.ดร.สมชาย สันติวัฒนกุล รักษาการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ พร้อมด้วย นายมนู เลียวไพโรจน์ ประธานกรรมการ บริษัท เออาร์ไอพี จำกัด (มหาชน) ร่วมลงนาม พร้อมด้วย นายบุญเลิศ นราไท ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เออาร์ไอพี จำกัด (มหาชน) และ รองศาสตราจารย์ ดร.ศิริยุภา พูลสุวรรณ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัย พัฒนา และสาธิตการศึกษา (มศว.) ร่วมเป็นสักขีพยาน ณ หอดนตรีและศิลปะการแสดงอโศกมนตรี ชั้น 4 อาคารนวัตกรรม มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (ประสานมิตร)

นายบุญเลิศ นราไท ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เออาร์ไอพี จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า  “โลกขณะนี้การเกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นมากมายโดยเฉพาะการมาของ Covid-19 นั้นเป็นตัวเร่งให้ทุกธุรกิจต้องปรับตัวให้ธุรกิจเดินหน้าได้อย่างต่อเนื่อง เช่นเดียวกับทักษะของคนทำงานที่ต้องปรับให้สอดคล้องกับทิศทางขององค์กร ซึ่งหากมองผลการศึกษาของ World Economic Forum 2020 ที่ระบุว่า ภายในปี 2025 อาชีพของคนทำงานทั่วโลก 50% จำเป็นต้องเร่ง รีสกิล (Reskill) และอีกกว่า 40% ของคนทำงาน จะต้อง reskilling ตนเอง ทุก ๆ 6 เดือน เพื่อตอบโจทย์การทำงานยุคดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งทำให้บริษัท เออาร์ไอพี จำกัด (มหาชน) ได้ตระหนักถึงความสำคัญของการพัฒนาทักษะต่อการทำงานในอนาคต จึงริเริ่มทำการศึกษาเกี่ยวกับทักษะแห่งอนาคต และได้ร่วมมือกับผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันวิจัย พัฒนาและสาธิตการศึกษา มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ วิจัยและพัฒนาระบบประเมินสมรรถนะที่จำเป็นสำหรับการทำงานในโลกอนาคตแบบครบวงจร โดยเริ่มตั้งแต่การสังเคราะห์สมรรถนะและคุณลักษณะเชิงพฤติกรรม (expected behaviors) และพัฒนาระบบประเมินสมรรถนะที่จำเป็นสำหรับการทำงานในโลกอนาคต (Future Competency Assessment System)

โดยความร่วมมือในครั้งนี้เป็นการพัฒนาหลักสูตรเพื่อเสริมสร้างระดับความเชี่ยวชาญของบุคลากรจากผลการประเมินสมรรถนะ ในรูปแบบการอบรมเชิงปฏิบัติการ และเรียนรู้บนระบบออนไลน์ ผ่านแพลตฟอร์ม WISIMO ซึ่งเป็นระบบบริหารจัดการการเรียนรู้เพื่อพัฒนาศักยภาพบุคลากรขององค์กร โดยมีเป้าหมายเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาทุนมนุษย์ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการทำงานต่อไปในอนาคต”

รศ.ดร.สมชาย สันติวัฒนกุล รักษาการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยศรีนครินทรโรฒ กล่าวว่า “ ความท้าทายของมหาวิทยาลัยในฐานะสถาบันทางวิชาการ คือการใช้ศักยภาพของมหาวิทยาลัย ในการทำความเข้าใจเชิงรุก และรู้เท่าทันความเปลี่ยนแปลง โดยการวิจัยเพื่อศึกษาสมรรถนะที่จำเป็นสำหรับการทำงานและนำองค์ความรู้ที่ได้ไปใช้เป็นฐานในการประเมินสมรรถนะและจัดทำหลักสูตรอบรมเพื่อพัฒนาสมรรถนะบุคลากรให้สามารถร่วมกันผลักดันองค์กรให้ก้าวไปข้างหน้า มหาวิทยาลัย จึงได้ร่วมมือกับ บริษัท เออาร์ไอพี จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นหน่วยงานภาคเอกชนที่มีความเชี่ยวชาญในการออกแบบระบบการพัฒนาบุคลากร นับเป็นจุดบรรจบที่ลงตัวในการทำงานร่วมกันเพื่อพัฒนาสมรรถนะของบุคลากรในองค์กร ซึ่งเป็นที่มาของการลงนามความร่วมมือในวันนี้”

ในความร่วมมือของทั้ง 2 องค์กรนั้นได้ร่วมกันศึกษา วิเคราะห์ สมรรถนะที่จำเป็นสำหรับการทำงานในโลกอนาคต ที่ทั่วโลกกำลังสนใจ กว่า 50 สมรรถนะที่มีหลากหลายแตกต่างกัน ซึ่งในกระบวนการศึกษาวิจัยแล้วนั้น ได้มีการจำแนกสมรรถนะที่จำเป็นสำหรับการทำงานในโลกอนาคตในบริบทขององค์กรธุรกิจไทยแบ่งกลุ่มสมรรถนะออกมาเป็น 3 กลุ่มสมรรถนะสำคัญ รวมทั้งสิ้น 10 สมรรถนะหลัก คือ

กลุ่มที่ 1 – สมรรถนะเพื่อการทำงานแบบมืออาชีพ (Working Professionally) ประกอบด้วย

1.1 ความสามารถในการจัดการปัญหาบนฐานการคิด (Thinking-based solution)

1.2 ความตั้งใจใฝ่รู้เพื่อการพัฒนางาน (Willingness to Learn)

1.3 ความฉลาดรู้ทางดิจิทัล (Digital literacy)

1.4 ความฉลาดรู้ทางข้อมูล(Information literacy)

กลุ่มที่ 2 – สมรรถนะเพื่อการทำงานร่วมกับผู้อื่น (Working with Others)

2.1 ความสามารถในการมีอิทธิพลทางความคิด (Influencing and leading to goals)

2.2 ความสามารถในการทำงานร่วมกับผู้อื่นอย่างชาญฉลาด (Interpersonal savvy)

กลุ่มที่ 3 – สมรรถนะเพื่อการทำงานสู่ความสำเร็จตามเป้าหมายองค์กร (Working to achieve goals)

3.1 ความสามารถในการระบุโอกาสที่สร้างคุณค่าให้กับองค์กร (Opportunity Identification for Valuing Ideas)

3.2 ความสามารถในการรับมือกับสถานการณ์ทีไม่แน่นอน (Dealing with ambiguity and risk)

3.3 ความยืดหยุ่นและความสามารถในการปรับตัว (Behavioral Flexibility & Adaptability)

3.4 ความตระหนักถึงความรับผิดชอบต่อสังคม (Social Responsibility)

พร้อมกันนี้ได้ออกแบบโปรแกรม (ต้นแบบ) การเสริมสร้างคุณลักษณะตามสมรรถนะที่จำเป็นสำหรับการทำงานในโลกอนาคต ซึ่งได้กรอบเนื้อหาเพื่อการพัฒนาสมรรถนะพื้นฐาน จำนวน 31 วิชา ที่ครอบคลุมทุกทักษะใน 10 สมรรถนะหลักที่จำเป็น เพื่อให้เป็นมาตรฐานในการพัฒนาทักษะแห่งอนาคต สำหรับองค์กรธุรกิจไทยต่อไป

www.mitihoon.com