กรมสมเด็จพระเทพฯ พระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากสถาบันวิทยสิริเมธี และโรงเรียนกำเนิดวิทย์

185

มิติหุ้น – กรมสมเด็จพระเทพฯ เสด็จฯ พระราชทานปริญญาบัตร และพระราชทานทุน “ศรีเมธี” แก่นักศึกษาจาก VISTEC รวมทั้งพระราชทานประกาศนียบัตรแก่ผู้แทนนักเรียน KVIS พร้อมรับฟังและทอดพระเนตร “การสร้างและการสาธิตการใช้งานชุดตรวจวินิจฉัย COVID19” และเยี่ยมชมสถาบันวิจัยปัญญาประดิษฐ์ประเทศไทย ซึ่งเป็นศูนย์กลางให้บริการการพัฒนาอุตสาหกรรมและนวัตกรรม AI ครบวงจร รวมถึงยังเป็นองค์ประธานเปิดศูนย์ความร่วมมืองานวิจัยและพัฒนา PTTEPARVVISTEC R&D Collaboration Center ที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อรองรับการวิจัยและพัฒนา จากนั้นเสด็จทอดพระเนตรโครงการศูนย์วิจัยพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม ปตท.สผ. เพื่อดำเนินกิจกรรมด้านวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม ในการพัฒนาบุคลากรและโครงสร้างพื้นฐานใน EECi และเสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดอาคารศูนย์ปฏิบัติการอัจฉริยะ (Intelligence Operation Center หรือ IOC) ซึ่งกลุ่ม ปตท. ได้เข้ามาดำเนินการพัฒนาพื้นที่วังจันทร์วัลเลย์เพื่อพัฒนาสู่การเป็นเมืองอัจฉริยะ (Smart city) ของประเทศต่อไป 

วันนี้ (3 พฤศจิกายน 2563) – สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากสถาบันวิทยสิริเมธี (VISTEC) ประจำปีการศึกษา 2562 ในระดับปริญญาโท จำนวน 4 ราย ระดับปริญญาเอก จำนวน 8 ราย และพระราชทานทุน “ศรีเมธี” ประจำปีการศึกษา 2563 ให้กับนิสิตของสถาบันฯ ที่มีผลการเรียนดีเยี่ยม จำนวน 8 ราย รวมทั้งพระราชทานประกาศนียบัตรแก่ผู้แทนนักเรียนโรงเรียนกำเนิดวิทย์ (KVIS) ที่สำเร็จการศึกษา รุ่นที่ 3 โดยมีนายชาญนะ เอี่ยมแสง ผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง นายอานันท์ ปันยารชุน ประธานที่ปรึกษานโยบายสถาบันวิทยสิริเมธี  นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร นายกสภาสถาบันสถาบันวิทยสิริเมธี  นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.)คณะผู้บริหารจาก กลุ่ม ปตท. และผู้สนับสนุนจากองค์กรต่างๆ  รวมทั้งผู้บริหาร คณาจารย์ นิสิต จากสถาบันวิทย สิริเมธี และโรงเรียนกำเนิดวิทย์ เฝ้าฯ รับเสด็จ ณ พื้นที่วังจันทร์วัลเลย์ ตำบลป่ายุบใน อำเภอวังจันทร์ จังหวัดระยอง

นายอรรถพล เปิดเผยว่า กลุ่ม ปตท. ตระหนักถึงความสำคัญในการพัฒนาองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมของประเทศ จึงร่วมกันจัดตั้งสถาบันวิทยสิริเมธี (VISTEC) ระดับบัณฑิตศึกษา (ปริญญาโทและปริญญาเอก) และโรงเรียนกำเนิดวิทย์ (KVIS) ระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย ขึ้นเมื่อปี พ.ศ 2558 เพื่อร่วมเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับประเทศได้อย่างยั่งยืน ตามเจตนารมณ์ของ กลุ่ม ปตท.

ปัจจุบัน สถาบันวิทยสิริเมธี มีนิสิตทั้งหมด 6 รุ่น จำนวน 247 คน จาก 4 สำนักวิชา ได้แก่ 1.สำนักวิชาวิทยาการโมเลกุล 2.สำนักวิชาวิทยาการพลังงาน 3.สำนักวิชาวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมชีวโมเลกุล ได้รับการสนับสนุนการจัดตั้งโดยธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) 4.สำนักวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสารสนเทศ ได้รับการสนับสนุนการจัดตั้งโดยธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) และมีศูนย์วิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีชั้นแนวหน้า เป็นอีกหนึ่งกลไกสนับสนุนการดำเนินงานวิจัยของทั้ง 4 สำนักวิชา ซึ่งผลงานวิจัยจำนวนมากของสถาบันฯ ได้รับการยอมรับในระดับสากล โดยในปี 2563 ถือเป็นก้าวสู่การดำเนินงานปีที่ 5 อย่างเต็มภาคภูมิ ด้วยผลงานสำคัญคือการได้รับการจัดอันดับจาก Nature Index ให้ขึ้นสู่ “ที่ 1” มหาวิทยาลัยของประเทศไทยที่มีผลงานวิจัย “ชั้นเลิศ” ในทุกสาขาวิชาด้าน Natural Sciences ทั้ง Physical Sciences, Life Sciences, Chemical Sciences และ Earth & Environmental Sciences และเป็นอันดับที่ 4 ในอาเซียน (อันดับที่ 13 เป็นของมหาวิทยาลัยจากประเทศสิงคโปร์) รวมถึงการครอง “อันดับที่ 1 ของประเทศไทย เป็นครั้งที่ 2 ติดต่อกัน” ในสาขา Chemical Sciences (ที่มา : ข้อมูลการจัดอันดับ ณ วันที่ 14 กรกฎาคม 2563)

สำหรับโรงเรียนกำเนิดวิทย์ นักเรียนที่สำเร็จการศึกษาในปีการศึกษา 2562 มีจำนวน 65 คน ศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยชั้นนำต่างประเทศจำนวน 30 คน ศึกษาต่อระดับปริญญาตรีในมหาวิทยาลัยชั้นนำในประเทศ 35 คน และยังได้รับคัดเลือกเป็นตัวแทนประเทศไทยไปแข่งขันด้านวิชาการในต่างประเทศ อาทิ การแข่งขันฟิสิกส์สัประยุทธ์ระดับนานาชาติ การแข่งขันโอลิมปิกวิชาการระดับนานาชาติ รวมถึงมีผลงานทางด้านวิชาการที่ได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารวิชาการ และมีผลงานที่สามารถยื่นขอรับอนุสิทธิบัตรได้

            จากนั้น กรมสมเด็จพระเทพฯ ได้เสด็จพระราชดำเนินไปอาคารสำนักวิชาวิทยาศาสตร์และวิศวกรรม ชีวโมเลกุล เพื่อรับฟังการบรรยายและทอดพระเนตรนิทรรศการ “การสร้างและการสาธิตการใช้งานชุดตรวจวินิจฉัย COVID19” ใช้เทคโนโลยี CRISPR (คริสเปอร์) มาทำชุดตรวจวินิจฉัย มุ่งหวังให้ในอนาคตจะนำเทคนิค CRISPR (คริสเปอร์) ไปใช้ตรวจและควบคุมโรคระบาดอื่นๆ ในประเทศไทย เช่น ไข้เลือดออก ชิคุนกุนยา หรือมาลาเรีย เป็นต้น โดยเสด็จพระราชดำเนินต่อไปยังสำนักวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสารสนเทศ ทอดพระเนตรศูนย์คอมพิวเตอร์วิทยาศาสตร์ชั้นแนวหน้า ที่ใช้ในงานปัญญาประดิษฐ์ และงานประมวลผลแบบจำลองโมเลกุล

ต่อมา เสด็จพระราชดำเนินไปสถาบันวิจัยปัญญาประดิษฐ์ประเทศไทย (Artificial Intelligence Research Institute Thailand) ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง VISTEC และสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ depa เพื่อเป็นศูนย์กลางให้บริการสำหรับการพัฒนาอุตสาหกรรมและนวัตกรรมปัญญาประดิษฐ์ (AI) ครบวงจร โดยเริ่มดำเนินการมาแล้วกว่า 1 ปี และพัฒนากำลังคนดิจิทัลไปแล้วไม่น้อย 500 ราย จากหลักสูตร Data Science และ AI ขั้นพื้นฐาน และขั้นสูง  

หลังจากนั้น เสด็จพระราชดำเนินทรงเป็นประธานเปิด ศูนย์ความร่วมมืองานวิจัยและพัฒนา PTTEPARVVISTEC R&D Collaboration Center (RDCC) โดย บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) (ปตท.สผ.) บริษัท เอไอ แอนด์ โรโบติกส์ เวนเจอร์ส จำกัด (เออาร์วี) และสถาบันวิทยสิริเมธี (VISTEC) ที่สร้างขึ้นเพื่อรองรับการวิจัย พัฒนา และทำงานร่วมกัน อาทิ งานเพิ่มประสิทธิภาพในการสำรวจ พัฒนา และผลิตปิโตรเลียม  งานด้านเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์และหุ่นยนต์

จากนั้น ได้ทอดพระเนตรความก้าวหน้าของโครงการศูนย์วิจัยพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม ปตท.สผ. หรือ PTIC ในพื้นที่ EECi เพื่อดำเนินกิจกรรมด้านวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม ร่วมกับพันธมิตรทุกภาคส่วน เพื่อพัฒนาบุคลากรและโครงสร้างพื้นฐานใน EECi ให้นำไปใช้ประโยชน์ได้จริง โดยแบ่งแผนการก่อสร้างออกเป็น 3 ระยะ ซึ่งระยะที่ 1 เน้นเรื่องโครงสร้างพื้นฐานและสนามทดสอบอากาศยานไร้คนขับ ระยะที่ 2 เป็นการพัฒนาด้านโรงงานต้นแบบและพื้นที่ทดสอบเพื่อรองรับอุตสาหกรรมปัญญาประดิษฐ์และหุ่นยนต์ และโครงการที่เพิ่มประสิทธิภาพของการผลิตปิโตรเลียม ระยะที่ 3 เป็นการพัฒนาเพื่อสนับสนุนเทคโนโลยีพลังงานทางเลือก และรองรับธุรกิจใหม่      

หลังจากนั้น เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดอาคารศูนย์ปฏิบัติการอัจฉริยะ(Intelligence Operation Center หรือ IOC) ซึ่งตั้งอยู่ในโครงการพัฒนาพื้นที่วังจันทร์วัลเลย์ ออกแบบภายใต้แนวคิดเมืองอัจฉริยะ    (Smart City) ครบทั้ง 7 ด้าน ตามหลักเกณฑ์ที่จะต้องมีศูนย์กลางในการบริหารจัดการโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภคของเมืองอย่างเบ็ดเสร็จและมีประสิทธิภาพ ด้วยระบบปฏิบัติการและระบบติดตามที่ทันสมัย ผนวกกับการแสดงผลแบบเรียลไทม์ 24 ชั่วโมง โดยศูนย์แห่งนี้จะสามารถควบคุมและวิเคราะห์ข้อมูลจากระบบงานต่างๆ ได้อย่างรวดเร็ว แม่นยำ ต่อเนื่อง ส่งผลให้สามารถบริหารจัดการเมืองได้อย่างมีประสิทธิภาพและทันเหตุการณ์ ทั้งนี้ นอกจากจะเป็นศูนย์กลางในการบริหารจัดการระบบโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภคแล้ว IOC ยังเป็นศูนย์บัญชาการเหตุฉุกเฉิน (Emergency Command Center) และเป็นศูนย์ประชาสัมพันธ์ เพื่อใช้ในการเฝ้าระวัง ประสานงาน สั่งการ และบริหารจัดการเหตุฉุกเฉินต่างๆ หากเกิดขึ้นภายในพื้นที่วังจันทร์วัลเลย์

สำหรับโครงการพัฒนาพื้นที่วังจันทร์วัลเลย์ เป็นโครงการที่กลุ่ม ปตท. มุ่งพัฒนาให้เป็นศูนย์กลางด้านงานวิจัยและนวัตกรรมของประเทศ เป็นฐานที่ตั้งสำคัญของเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EECi ในการยกระดับขีดความสามารถของไทย และรองรับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจตามนโยบาย Thailand 4.0 และนำไปสู่การเสริมสร้างคุณภาพชีวิตของประชาชน ด้วยการพัฒนาในรูปแบบ Smart Natural Innovation Platform บนพื้นที่ 3,454 ไร่ของโครงการฯ แบ่งออกเป็นพื้นที่เพื่อการศึกษา (Education Zone) พื้นที่เพื่อการวิจัยและพัฒนานวัตกรรม (Innovation Zone) และพื้นที่เพื่ออำนวยความสะดวก ที่พักอาศัยและสันทนาการ (Community Zone) ที่มีระบบนิเวศนวัตกรรมที่เป็นเลิศ นอกจากนี้ โครงการฯ ยังได้รับการประกาศให้เป็นเขตส่งเสริมเมืองอัจฉริยะ จากสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล จึงนับได้ว่าวังจันทร์วัลเลย์เป็นพื้นที่ที่มีความพร้อมในการพัฒนาสู่เมืองอัจฉริยะ หรือ Smart City ของประเทศไทยต่อไป

            “กลุ่ม ปตท. และองค์กรพันธมิตรทั้งภาครัฐ และเอกชน หวังเป็นอย่างยิ่งว่า โครงการวังจันทร์วัลเลย์แห่งนี้ จะเป็นการสร้างความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่สำคัญของไทย และเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนประเทศ ….Powering Thailands Transformationนายอรรถพล กล่าว

www.mitihoon.com