ปตท.สผ. ผลการดำเนินงานไตรมาส 3 กำไรสุทธิ 230 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

243

มิติหุ้น – ปตท.สผ.เผยผลประกอบการไตรมาส 3 ปี 2563 ปรับตัวดีขึ้นกว่าไตรมาสก่อน โดยมีกำไรสุทธิ 230 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (สรอ.) (เทียบเท่า 7,202 ล้านบาท) ซึ่งเป็นผลมาจากปริมาณการขายปิโตรเลียมของ ปตท.สผ. ที่เพิ่มสูงขึ้น และราคาขายเฉลี่ยที่ปรับตัวดีขึ้น

นายพงศธร ทวีสิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. เปิดเผยว่าในไตรมาส 3 ของปี 2563 บริษัทมีรายได้รวมจากการดำเนินงาน 1,305 ล้านดอลลาร์ สรอ. (เทียบเท่า 40,887 ล้านบาท) เพิ่มขึ้นร้อยละ 19 เมื่อเทียบกับไตรมาส 2 ซึ่งมีรายได้รวม 1,095 ล้านดอลลาร์ สรอ. (เทียบเท่า 34,954 ล้านบาท) โดยมีปัจจัยหลักจากปริมาณขายปิโตรเลียมเฉลี่ยที่เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 344,317 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 5 เมื่อเทียบกับ 327,004 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวันในไตรมาสที่ผ่านมา เนื่องจากผู้ซื้อเรียกรับก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะในโครงการบงกชและโครงการคอนแทร็ค 4 สำหรับราคาขายผลิตภัณฑ์ของ ปตท.สผ. ในไตรมาส 3 นี้ เฉลี่ยปรับตัวสูงขึ้นกว่าร้อยละ 11 มาอยู่ที่ 38.77 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ เมื่อเทียบกับ 34.97 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบในไตรมาสก่อนหน้า เนื่องจากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้น

จากปัจจัยดังกล่าว ส่งผลให้ ปตท.สผ. มีกำไรสุทธิในไตรมาส 3 ที่ 230 ล้านดอลลาร์ สรอ. (เทียบเท่า 7,202 ล้านบาท) สูงขึ้นร้อยละ 72 จากไตรมาสก่อนหน้า ซึ่งมีกำไรสุทธิ 134 ล้านดอลลาร์ สรอ. (เทียบเท่า 4,323 ล้านบาท) โดยบริษัทยังคงสามารถรักษาระดับต้นทุนต่อหน่วยที่ 30 ดอลลาร์ สรอ. ต่อบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ และมีอัตรากำไรก่อนดอกเบี้ย ภาษี และค่าเสื่อมราคา ที่ร้อยละ 71 ซึ่งเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้

สำหรับผลประกอบการ 9 เดือนของปี 2563 นั้น ปตท.สผ. มีรายได้รวม 4,082 ล้านดอลลาร์ สรอ. (เทียบเท่า 128,369 ล้านบาท) ลดลงร้อยละ 11 จาก 4,572 ล้านดอลลาร์ สรอ. (เทียบเท่า 143,115 ล้านบาท) เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า และมีกำไรสุทธิ 639 ล้านดอลลาร์ สรอ. (เทียบเท่า 20,137 ล้านบาท) ลดลงร้อยละ 46 เมื่อเทียบกับ 1,185 ล้านดอลลาร์ สรอ. (เทียบเท่า 37,182 ล้านบาท) โดยหลักมาจากราคาขายผลิตภัณฑ์เฉลี่ยลดลงตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก

นายพงศธร กล่าวว่า “ผลการดำเนินงานในไตรมาส 3 ดีกว่าไตรมาสที่แล้ว โดยเป็นผลจากความต้องการใช้น้ำมันดิบที่มีแนวโน้มสูงขึ้นจากการที่หลายประเทศเริ่มผ่อนคลายมาตรการปิดเมืองจากไวรัส โควิด-19 และประเทศในองค์การกลุ่มประเทศผู้ส่งน้ำมันออกและประเทศพันธมิตร (โอเปก พลัส) เองยังคงยืนนโยบายลดกำลังการผลิตอย่างต่อเนื่อง ในส่วนของราคา Spot LNG เองก็ปรับตัวสูงขึ้นด้วยเช่นกัน โดยราคาขายปลายเดือนกันยายนสูงขึ้นกว่า 5 ดอลลาร์ สรอ. ต่อล้านบีทียู ส่งผลให้การนำเข้า LNG ของประเทศต่อจากนี้ไปมีแนวโน้มที่จะลดลง ซึ่งที่ผ่านมาเห็นได้ชัดว่ามีการเรียกรับก๊าซในอ่าวไทยเพิ่มขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีกับปริมาณการขายของบริษัทในช่วงไตรมาสหลังของปี อย่างไรก็ตาม ปตท.สผ. จะยังคงต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดเพื่อเตรียมพร้อมเดินหน้าแผนงานทั้งเชิงรุกและเชิงรับให้สอดคล้องกับสถานการณ์”

ความคืบหน้าในการดำเนินงานที่สำคัญ

นายพงศธร กล่าวต่อว่าในไตรมาส 3 ที่ผ่านมา ปตท.สผ. ได้เริ่มเจาะหลุมประเมินผล เพื่อประเมินศักยภาพปิโตรเลียม ในแปลงซาราวัก เอสเค 410 บี ประเทศมาเลเซีย หลังจากที่ได้ทำการเจาะหลุมสำรวจในปีที่ผ่านมาและค้นพบแหล่งก๊าซธรรมชาติที่ใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งของ ปตท.สผ. และเป็นแหล่งที่ใหญ่อันดับ 7 ของโลกในปี 2562 ซึ่งผลการเจาะน่าจะทราบภายในปีนี้ และจะผลักดันให้สามารถตัดสินใจลงทุนขั้นสุดท้าย (FID) ให้ได้ในปี 2565 นอกจากนี้ บริษัทได้ตกลงเข้าซื้อสัดส่วนการลงทุนในโครงการแอลจีเรีย ฮาสสิ เบอร์ ราเคซ เพิ่มอีกร้อยละ 24.5 จาก CNOOC หนึ่งในผู้ร่วมลงทุนโครงการ ด้วยมูลค่าเท่ากับเงินลงทุนตามสัดส่วนของ CNOOC ที่ใช้ในระหว่างการพัฒนาโครงการจนถึงวันที่ได้รับการอนุมัติ ซึ่งขณะนี้กำลังรอการอนุมัติอย่างเป็นทางการจากรัฐบาลแอลจีเรีย โดยหลังจากการเข้าซื้อดังกล่าว บริษัทจะมีสัดส่วนการลงทุนในโครงการฯ ทั้งหมดร้อยละ 49 ซึ่งคาดว่าจะเริ่มผลิตในระยะแรกได้ที่ระดับ 10,000-13,000 บาร์เรลต่อวันในช่วงหลังของปี 2564 และจะเพิ่มการผลิตเป็น 50,000-60,000 บาร์เรลต่อวันในปี 2568

ส่วนความคืบหน้าของการเปลี่ยนผ่านสิทธิการดำเนินการของโครงการจี 1/61 (แหล่งเอราวัณ) และโครงการ จี 2/61 (แหล่งบงกช) นั้น ขณะนี้บริษัทได้เริ่มวางแผนการเจาะหลุมสำรวจ การสร้างแท่นหลุมผลิตและท่อส่งก๊าซฯ รวมถึงเตรียมความพร้อมด้านอื่น ๆ เพื่อให้สามารถผลิตก๊าซฯ ได้ตามสัญญาแบ่งปันผลผลิต โดยในส่วนของโครงการจี 1/61 นั้น ปตท.สผ. อยู่ในระหว่างการเจรจาขอเข้าพื้นที่เพื่อติดตั้งแท่นผลิตและท่อใต้ทะเลตามแผนที่วางไว้

สำหรับปริมาณขายปิโตรเลียมเฉลี่ยของปี 2563 ปตท.สผ. ประเมินว่าจะอยู่ที่อัตรา 350,000 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน ลดลงเล็กน้อยจากที่มีการประเมินไว้ตอนกลางปี

www.mitihoon.com