JCK มั่นใจผลประกอบการงวดปี 63 หรูกว่าปี 62 เหตุเริ่มโอนโครงการ ARTIZAN รัชดา มูลค่า 2,000 ล้านบาท เสนอรัฐคลอดมาตรการกระตุ้นภาคอสังหาฯหวังเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

62

มิติหุ้น-JCK มั่นใจผลงานปี 2563 ดีกว่าปีก่อนหน้า เหตุเริ่มโอนห้องพักโครงการ ARTIZAN ราว 2,000 ล้านบาท จาก มูลค่าโครงการทั้งหมด 6,000 ล้านบาท พร้อมเสนอรัฐบาลคลอดมาตรการลดหย่อนภาษีสำหรับภาคอสังหาริมทรัพย์ หวังเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจให้พ้นบ่วงพิษโควิด-19

นายอภิชัย เตชะอุบล ประธานกรรมการและประธานกรรมการบริหารบริษัท เจซีเคอินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด(มหาชน)หรือ JCK เปิดเผยว่า ผลประกอบการของบริษัทในปี 2563 คาดว่าจะเป็นที่น่าพอใจและดีกว่าปีที่ผ่านมา เนื่องจากจะรับรู้รายได้จากโครงการ ARTIZAN รัชดา มูลค่าโครงการ 6,000 ล้านบาท ซึ่งได้ขายไปแล้วประมาณเกือบ 90% และเริ่มโอนห้องพักให้แก่ผู้ซื้อไปแล้วตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2563 ปัจจุบันมียอดที่โอนไปแล้วกว่า 2,000 ล้านบาท

            สำหรับสถานการณ์วิกฤตโควิด-19 ครั้งนี้ ส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจของประเทศไทยมากกว่าวิกฤตครั้งไหน ๆ ไม่ว่าจะเป็นเมื่อครั้งสงครามอ่าวเปอร์เซีย หรือแม้แต่วิกฤตต้มยำกุ้งไม่ได้ส่งผลกระทบเทียบเท่ากับวิกฤตคราวนี้

            ในอดีตบางรัฐบาลเคยออกมาตรการกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์โดยการลดค่าภาษีธุรกิจเฉพาะจาก 3.3% ลงมาเหลือ 0.1% ลดค่าธรรมเนียมการโอนจาก 2% ลงมาเหลือ 0.01% และลดค่าธรรมเนียมจดทะเบียนจำนองจาก 1% ลงมาเหลือ 0.01%  จึงอยากจะให้รัฐบาลพิจารณาหยิบยกเอามาตรการดังกล่าวมาใช้อีกครั้งหนึ่ง และไม่ควรจำกัดมูลค่าของห้องชุดหรือบ้านพักอาศัยที่มีราคาไม่เกิน 3 ล้านบาทอย่างที่ใช้อยู่ในปัจจุบันถึงจะได้รับสิทธิ  เพื่อช่วยกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งเป็นภาคธุรกิจขนาดมีมูลค่ารวมในระดับล้านล้านบาท

            หากรัฐบาลประกาศให้ลดหย่อนค่าภาษีและค่าธรรมเนียมการโอนลงจะกระตุ้นให้เกิดการโอนอสังหาริมทรัพย์เพิ่มมากขึ้น จะส่งผลดีในทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบการ ผู้รับเหมา ผู้ใช้แรงงาน ผู้ขายวัสดุก่อสร้าง เฟอร์นิเจอร์และในส่วนอื่นๆอีกมากมายที่มีความเกี่ยวพันกัน นอกจากนี้ยังจะส่งผลดีไปยังบรรดาห้องพักในคอนโดมิเนียมและบ้านพักอยู่อาศัยที่ก่อสร้างเสร็จแล้วที่มีอยู่กว่า 500,000

หน่วย จะดึงดูดใจให้มีการซื้อขายเพิ่มมากขึ้นด้วย ประมาณการว่าในส่วนนี้มีมูลค่ามากกว่า 2 ล้านล้านบาท เม็ดเงินที่ได้รับมาจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศได้เป็นอย่างมาก

            ผู้ประกอบการจะนำเงินที่ได้รับไปเริ่มโครงการใหม่ ทำให้เกิดการจ้างงาน ประชาชนมีกำลังซื้อ มีการจับจ่ายใช้สอยทำให้เกิดการหมุนเวียนของเงินซึ่งจะช่วยให้เกิดการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจได้เป็นอย่างมาก จึงขอให้รัฐบาลพิจารณาดำเนินการอย่างเร่งด่วน

            นายอภิชัยได้กล่าวเพิ่มเติมว่า  ในส่วนของนิคมอุตสาหกรรมทีเอฟดีนั้น ขณะนี้มีนักลงทุนชาวจีนให้ความสนใจที่จะเข้ามาดูพื้นที่ค่อนข้างมาก เพียงแต่ติดปัญหาเรื่องการเดินทางจะต้องถูกกักตัว 14 วัน และเมื่อเดินทางกลับจะต้องถูกกักตัวอีก 14 วัน ทำให้เป็นอุปสรรคต่อการเดินทางเข้ามาเจรจาธุรกิจเป็นอย่างยิ่ง หากรัฐบาลพิจารณาเรื่องการกักตัวให้เหลือเพียง 7 วันหรือยกเว้นการกักตัวโดยให้ตรวจสอบว่าผู้ที่จะเดินทางเข้ามาไม่ติดเชื้อโควิต 19 จากต้นทางก่อนเดินทาง 72 ชั่วโมงน่าจะเพียงพอแล้ว

            นอกจากนี้ จากการที่ได้มีโอกาสพูดคุยกับนักธุรกิจต่างชาติหลายรายต่างให้ความเห็นว่า นักลงทุนอยากจะย้ายฐานการผลิตเข้ามาลงทุนในประเทศไทย เนื่องจากมีระบบสาธารณูปโภคที่มีความพร้อมที่จะรองรับความต้องการของนักลงทุนได้เป็นอย่างดี รวมทั้งมีความสะดวกต่างๆเหนือกว่าประเทศคู่แข่งอย่างลาว กัมพูชา หรือเวียดนาม ถึงแม้ว่าค่าแรงงานจะสูงกว่าก็ตาม แต่เป็นระดับที่ผู้ประกอบการยอมรับได้ แต่สิ่งที่ยังดึงดูดใจนักลงทุนไม่เพียงพอก็คือ สิทธิประโยชน์ต่างๆทางด้านภาษีที่นักลงทุนได้รับมีน้อยกว่าประเทศคู่แข่ง จึงอยากให้รัฐบาลให้พิจารณาทบทวนปรับปรุงในเรื่องสิทธิประโยชน์ให้กับนักลงทุนให้ใกล้เคียงหรือเหนือกว่าประเทศคู่แข่ง ไม่ว่าจะเป็นในเขตพัมนาพิเศษภาคตะวันออก(EEC) หรือสิทธิประโยชน์ของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ) เพื่อจูงใจให้นักลงทุนเหล่านั้นเข้ามาลงทุนในประเทศไทยก่อนที่จะตัดสินใจไปลงทุนในประเทศคู่แข่ง จึงขอให้รัฐบาลเร่งตัดสินใจด้วย

www.mitihoon.com