จับ “โป๊ะแตก” เกณฑ์ประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม!

1051

ยังคงขุดคุ้ยกันออกมาไม่หยุดหย่อนกับโครงการประมูลหาเอกชนเข้าร่วมลงทุน โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ –มีนบุรี ระยะทาง 34.9 กม.วงเงินลงทุนกว่า 1.4 แสนล้าน ที่กำลังเรียกแขกให้งานเข้า หลังจากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ลุกขึ้นมาปรับปรุงเกณฑ์การประมูลจากเดิมที่พิจารณาซองเทคนิค และผลตอบแทนทางการเงินแยกจากกัน มาเป็นรูปแบบการพิจารณาข้อเสนอด้านเทคนิคควบคู่กับด้านราคา มาเป็นการพิจารณาเงื่อนไขด้านเทคนิคและผลตอบแทนทางการเงินควบคู่

แม้ล่าสุดฝ่ายบริหาร รฟม.จะออกมาแถลงยืนยันว่าได้ดำเนินการไปตามกรอบของกฎหมาย โดยเฉพาะตาม พ.ร.บ.การลงทุนระหว่างรัฐละเอกชนปี 2562 แต่ก็กลับถูกจับโป๊ะแตกชุดใหญ่ว่ายิ่งแถลงยิ่งเข้าเนื้อ ทั้งนี้เพราะ

ประเด็นแรก การที่ รฟม.อ้างว่า ได้ดำเนินการตาม พ.ร.บ.ร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนปี 2562 โดยระบุว่า รฟม.ได้มีประกาศเชิญชวนเอกชนเข้าร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2563 กำหนดยื่นซองเอกสารในวันที่ 23 กันยายน 2563 ต่อมาคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 ในการประชุมครั้งที่ 13/2563 เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2563 มีมติเห็นชอบข้อชี้แจงตอบข้อสอบถามของผู้ซื้อเอกสาร สำหรับการคัดเลือกเอกชน (RFP Clarification) และเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชนเพิ่มเติม (RFP Addendum) รวมถึงกรรมการเสียงข้างมากได้เห็นชอบการปรับปรุงวิธีการประเมินข้อเสนอ พร้อมเห็นชอบให้ขยายระยะเวลาในการยื่นข้อเสนอออกไป 45 วัน เป็นวันที่ 9 พฤศจิกายน 2563 แล้วนั้น

ในข้อเท็จจริงกลับ พบว่านับตั้งแต่ รฟม.ออก ITB เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม จนถึงวันที่ 21 สิงหาคม 2563 คณะกรรมการตามมาตรา 36 ไม่เคยมีการหารือเรื่องการเปลี่ยนหลักเกณฑ์ประมูลใด ๆ มาก่อน แต่หลังจากที่สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ(สคร.) ส่งเรื่องที่บริษัทรับเหมา (อิตาเลี่ยนไทย ITD) ร้องขอให้ปรับปรุงเกณฑ์ประมูล ในวันที่ 13 สิงหาคม คณะกรรมการคัดเลือกฯ กลับดำเนินการปรับเปลี่ยนหลักเกณฑ์ประมูล โดยใช้เวลาเตรียมข้อมูลเพียง 1 สัปดาห์ ทั้งยังอ้างว่ากรรมการเสียงข้างมากเห็นชอบ ซึ่งไม่น่าจะเป็นเรื่องที่ถูกต้องกับโครงการที่มีความสำคัญขนาดนี้

2. การที่ รฟม. อ้างว่าการปรับปรุงวิธีการประเมินข้อเสนอการร่วมลงทุนในครั้งนี้เป็นประโยชน์สูงสุดแก่รัฐ เนื่องจากโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มฯ เป็นโครงการร่วมลงทุนขนาดใหญ่ที่มีความซับซ้อนและความเสี่ยงสูง และมีความจำเป็นที่จะต้องใช้เทคโนโลยีในการออกแบบและก่อสร้างชั้นสูง แต่ในข้อเท็จจริงคณะกรรมการใช้เวลาพิจารณาเรื่องนี้แค่ 3 ชั่วโมงเท่านั้น

นอกจากนี้ ประเด็นเรื่องความซับซ้อนของโครงการ ที่จำเป็นต้องใช้เทคนิคขั้นสูงในการก่อสร้างระบบใต้ดิน และอุโมงค์ลอดแม่น้ำเจ้าพระยานั้น ก็เป็นสิ่งที่ทุกฝ่ายทราบมาตั้งแต่ต้นอยู่แล้ว เพราะอยู่ในเงื่อนไขประมูล RFP และไม่ได้มีความแตกต่างไปจากโครงการรถไฟฟ้า สายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย ที่ รฟม.ดำเนินการไปก่อนหน้านี้ โดยไม่ได้มีการปรับปรุงวิธีการตัดสินแต่อย่างใด

“สิ่งที่ รฟม แถลงล่าสุดล้วนเป็นข้อมูลเดิมที่มีอยู่แล้ว ทั้งเรื่อง Ground improvement NFPA ระบบรถไฟฟ้า การซ่อมบำรุง การฝึกอบรม ที่กล่าวอ้างทั้งหมด แต่ที่ รฟม. ไม่ได้ชี้แจงคือทำไมกำหนดให้เปิดซองเทคนิคและซองการเงินพร้อมกัน รฟม. ต้องการให้สามารถกำหนดคะแนนที่จะแพ้ชนะกัน ใช่หรือไม่ ทำไมจึงอ้างว่ากังวลเรื่องเทคนิค แต่กับตัดเกณฑ์เทคนิคขั้นต่ำ 85% ออก แล้วเอาไปรวมกับซองการเงินแทน ซึ่งเป็นการลดทอนความปลอดภัยลง”

3. กับข้ออ้างของ รฟม. ที่ว่าการดำเนินการปรับปรุงวิธีการประเมินข้อเสนอเป็นไปตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องนั้น ในข้อเท็จจริง มาตรา 35 แห่ง พ.ร.บ.การร่วมลงทุนฯ นั้น ให้อำนาจ รฟม. ในการจัดทำร่างประกาศ ร่างเอกสารคัดเลือก ร่างสัญญาร่วมทุนเท่านั้น ขณะที่มาตรา 38 ให้อำนาจคณะกรรมการพิจารณาให้ความเห็นชอบเอกสารที่ รฟม. จัดทำ และพิจารณาดําเนินการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องเท่านั้น แต่ไม่ได้หมายความว่า จะพิจาณาเรื่องใดๆ ก็ได้ เพราะโดยหลักการแล้วต้องไม่ขัดต่อมติ ครม. ที่ได้เห็นชอบหลักเกณฑ์ประมูลไปแล้วตั้งแต่วันที่ 28 มกราคม 2563 สิ่งที่คณะกรรมการคัดเลือกฯ และ รฟม. ดำเนินการไปนั้น คือการเปลี่ยนหลักเกณฑ์ตัดสินที่แตกต่างไปจากมติที่ ครม. ให้ความเห็นชอบ

4. รฟม. อ้างว่า สิ่งที่ดำเนินการไปนั้นสอดคล้องตามประกาศคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน เรื่องรายละเอียดของร่างประกาศเชิญชวน ร่างเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชน และสาระสำคัญของร่างสัญญาร่วมลงทุน พ.ศ. 2563 ข้อ 4 (8) และ 4 (9) ทั้งที่ในข้อเท็จจริงนั้น เป็นการดำเนินการตรงกันข้าม

และ 5.การปรับปรุงเอกสาร RFP ครั้งนี้มีความโปร่งใส ไม่เป็นการเอื้อประโยชน์และก่อให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบกับเอกชนผู้ยื่นข้อเสนอรายใดเนื่องจากเป็นการปรับปรุงเฉพาะวิธีการประเมินข้อเสนอเท่านั้น ไม่ได้เป็นการปรับปรุงเนื้อหาอื่นใดในเอกสาร RFP แต่การกำหนดให้เปิดซอง 2 และซอง 3 พร้อมกัน เพื่อเปิดช่องให้มีการใช้ดุลยพินิจได้อย่างกว้างขวางในการประเมินข้อเสนอทางเทคนิค เพื่อให้สามารถชดเชยคะแนนที่แพ้จากซองการเงิน!

http://www.natethip.com/news.php?id=3101

โดยเนตรทิพย์กระพริบข่าวร้อน

www.mitihoon.com