โบรกส่องงบแบงก์ Q3 ผลประกอบการอ่อนแอ และฟื้นตัวช้า

945

ผู้สื่อข่าว “มิติหุ้น” รายงานว่า บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) ระบุว่า ฝ่ายวิจัยยังคงชอบหุ้นธนาคารที่มีแนวโน้มกำไรชัดเจน และงบดุลแข็งแกร่ง โดยหุ้นเด่นที่เรามองว่า ‘ปลอดภัย’ ในกลุ่มธนาคารคือ TISCO เนื่องจากมีแนวโน้มกำไรดีกว่าธนาคารอื่นๆ ในขณะที่ทั้งเงินกองทุนและสัดส่วน NPL coverage ก็อยู่ในระดับสูง เราปรับเพิ่มคำแนะนำหุ้น KBANK จากขายเป็นถือ และคงราคาเป้าหมายเอาไว้ที่ 80 บาท หลังจากที่ราคาหุ้นตกลงไปถึง 22% และ underperform ดัชนี SET ถึง 14% นับตั้งแต่กลางเดือนมิถุนายน นอกจากนี้ เรายังปรับลดประมาณการกำไรปี FY20-21E ของ KKP ลงอีก 4-6% โดยยังคงคำแนะนำซื้อ แต่ปรับลดราคาเป้าหมายลงเหลือ 45 บาท (อิงจาก PER ปี FY20E ที่ 8x และ P/BV ที่ 0.83x)

รายได้ที่อ่อนแอจะฉุด PPoP ในไตรมาส 3/63

เราคาดว่ากำไรสุทธิรวมในไตรมาส 3/63 ของธนาคารเจ็ดแห่งที่เราดูแลอยู่จะอยู่ที่ 2.22 หมื่นล้านบาท ลดลง 52% YoY (เนื่องจาก credit cost เพิ่มขึ้น และ NIM ลดลง) และลดลง 4%จากไตรมาสก่อน (จากการลดลงของ non-NII และNIM) โดยคาดว่าสินเชื่อจะทรงตัว YoY เนื่องจากอุปสงค์สินเชื่อยังอ่อนแอ หักล้างไปกับยอดการชำระคืนหนี้ที่ลดลง ทั้งนี้ สินเชื่อกลุ่มธนาคารขยายตัวแค่ 0.2% QTD ในเดือนสิงหาคม เราคาดว่ารายได้ในไตรมาส3/63 จะอ่อนแอจากทั้ง NII และ non-NII โดย NII ที่อ่อนแอจะเป็นผลมาจาก NIM ที่ลดลงจากการลดดอกเบี้ยหลายรอบ ในขณะที่ non-NII ที่อ่อนแอจะเป็นเพราะฐานที่สูงเนื่องจากมีกำไรจากเงินลงทุนสูงในไตรมาส2/63 ดังนั้น เราจึงคาดว่า PPoP ของกลุ่มธนาคารจะลดลง 28% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และ 18% จากไตรมาสก่อน

Credit cost อาจจะลดลง qoq ใน 3Q แต่จะยังไม่สะท้อนผลกระทบจาก Covid-19

เราคาดว่ากลุ่มธนาคารจะตั้งสำรองลดลง 25% จากไตรมาสก่อน เนื่องจาก BBL KBANK และ KTB ตั้งสำรองล่วงหน้าเผื่อไปแล้วตั้งแต่ 2/63 ในทางกลับกัน เราคาดว่า credit cost ของ SCB TMB และ KKP จะเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน ในไตรมาส 3/63 เรามองว่าคุณภาพสินทรัพย์มีแนวโน้มจะอ่อนแอลงทั้งกลุ่ม แต่ยอด NPL ของธนาคารต่าง ๆ อาจจะยังไม่ได้เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เพราะ ธปท. อนุญาตให้ธนาคารสามารถคงสถานะการจัดชั้นหนี้ที่ผ่านการปรับโครงสร้างเอาไว้ได้จนถึงสิ้นปี 64 เราแนะนำให้นักลงทุนมองเลยวัฏจักรรอบนี้ไปในการประเมินความเสี่ยงด้านคุณภาพสินทรัพย์ โดยเราเชื่อว่าทั้ง NPLs และ credit cost จะยังคงสูงต่อเนื่องไปอีก 3 ปี

แนวโน้มกำไรยังอ่อนแอ และยังขาดปัจจัยกระตุ้นหากนักท่องเที่ยวยังไม่กลับมา

เราเชื่อว่าแนวโน้มรายได้ที่อ่อนแอ (ทั้งจากการอัตราการเติบโตของสินเชื่อ NIM และรายได้ค่าธรรมเนียม) และคุณภาพสินทรัพย์ที่ยังมีความไม่แน่นอนสูงจะกดดันผลประกอบการกลุ่มธนาคารในอีกสามปีข้างหน้า ถึงแม้ว่าราคาหุ้นกลุ่มธนาคารของไทยจะดูไม่แพงในแง่ P/BV แต่เราเชื่อว่าราคาหุ้นในปัจจุบันเหมาะสมแล้วกับ ROE ของกลุ่มที่คาดว่าจะลดลงเหลือแค่ 6-7% ในปี 2020-2022E จาก 10-13% ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ เรายังมองไม่เห็นปัจจัยกระตุ้นในระยะสั้นถ้าหากว่าภาคท่องเที่ยวยังฟื้นตัวช้าโดย ธปท. คาดการณ์จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติปีนี้เอาไว้แค่ 6.7 ล้านคน และปีหน้าที่ 9.0 ล้านคน จาก 39.8 ล้านคนในปี 63

www.mitihoon.com