BCPG เพิ่มทุน 1.3 พันล.หุ้น คาดโกยเงินหมื่นล.รุกพลังงานเต็มสูบ

157

 

มิติหุ้น-บีซีพีจี เพิ่มทุน 1.035 หมื่นล้านบาท รองรับการลงทุนโครงการที่มีในมือ 64% ของวงเงินโดยรวมจากการเพิ่มทุน และส่วนที่เหลือเตรียมไว้สำหรับการลงทุนที่สร้าง EBITDA ในอัตราสูงเมื่อรวมกับการจัดการบริหารสินทรัพย์ที่มีอยู่ จะสามารถลดผลกระทบด้าน dilution ในระยะสั้น  ได้อย่างแน่นอน

นายบัณฑิต สะเพียรชัย กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า บริษัทฯ สามารถเดินหน้าตามแผนการลงทุนที่วางไว้ โดยเข้าลงทุนในโครงการใหม่ที่น่าสนใจ    และมีผลตอบแทนคุ้มค่า ด้วยแผนยุทธศาสตร์  ที่ทำให้ธุรกิจเติบโตอย่างยั่งยืน ได้แก่

  1. กลยุทธด้านธุรกิจ

– การเติบโตทางธุรกิจทั้งแบบ Organic Growth และ Inorganic Growth

– การเพิ่มประสิทธิภาพของสินทรัพย์อย่างต่อเนื่อง

– การก้าวสู่ระบบดิจิตอลและนวัตกรรมมากขึ้น

  1. กลยุทธด้านการเงิน

– การเพิ่มประสิทธิภาพเงินทุนที่ใช้และงบดุล

  1. กลยุทธด้านทรัพยาการบุคคล

– การเพิ่มขีดความสามารถด้านบุคลากรและองค์กร

โดยตามแผนกลยุทธ 5 ปี บริษัทฯ ได้ตั้งงบลงทุนกว่า 4.5 หมื่นล้าน โดยมุ่งขยายโรงไฟฟ้าไปยังภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค และประเทศในกลุ่มซีแอลเอ็มวี ซึ่งที่ผ่านมาบริษัทฯ ได้ดำเนินการลงทุนตามแผนอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ เพื่อให้ธุรกิจสามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืน บริษัทฯ จึงได้ดำเนินการเพิ่มทุนจดทะเบียนของบริษัทฯ โดยการเพิ่มทุนในครั้งนี้ ทำให้สถานะทางการเงินของบริษัทฯ มีความแข็งแกร่ง และสามารถรองรับการลงทุนตามแผนที่วางไว้ โดยบริษัทฯ ได้ประกาศเพิ่มทุนไปเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2563 จำนวน 1.3 พันล้านหุ้น คาดว่าจะได้รับเงินจำนวน 1.035 หมื่นล้านบาท

สำหรับ เงินที่ได้รับจากการเพิ่มทุนประมาณ 10,000 ล้านบาทในครั้งนี้ บริษัทฯ มีแผน     ใช้เงินลงทุนประมาณ 6,650 ล้านบาท ในโครงการที่มีอยู่และกำลังพัฒนา ดังนี้

  1. โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศไทยจำนวน 4 โครงการ ตั้งอยู่ในบริเวณ 3 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดกาญจนบุรี จังหวัดลพบุรี และจังหวัดปราจีนบุรี มีกำลังการผลิตตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้ารวม 20 เมกะวัตต์
  2. โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมใน สปป. ลาว กำลังการผลิต 600 เมกะวัตต์ ซึ่งขณะนี้รัฐบาลเวียดนามได้อนุมัติแผนการรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการฯ รวมถึงการก่อสร้างสายส่งขนาด 500 กิโลโวลต์ เพื่อรองรับการซื้อไฟฟ้าจากโครงการดังกล่าวเรียบร้อยแล้ว ทั้งนี้ คาดว่าโครงการฯ จะสามารถเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ได้ภายในปี 2566
  3. การชำระหนี้เงินกู้ของโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำ Nam San 3A และ Nam San 3B ใน สปป. ลาว และการสร้างสายส่งขนาด 220 กิโลโวลต์ เพื่อส่งไฟฟ้าที่ผลิตจากโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำทั้ง 2 แห่ง  ไปยังประเทศเวียดนาม

ส่วนเงินเพิ่มทุนอีกประมาณ 3,700 ล้านบาท ใช้เพื่อลงทุนพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งขณะนี้ อยู่ระหว่างการศึกษา และพิจารณาข้อเสนอ ซึ่งตั้งเป้าอัตราส่วนผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (Return on Equity/ ROE) ไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 โดยเมื่อรวมกับผลประกอบการที่จะได้รับจากการลงทุนตั้งแต่ปลายปี 2562 และปี 2563 ได้แก่ โครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำทั้ง 2 โครงการ ใน สปป. ลาว และโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศไทย    ที่บริษัทฯ ได้ซื้อมาเพิ่มอีก 4 โครงการ กำลังการผลิตรวม 20 เมกะวัตต์ ผนวกกับการบริหารจัดการสินทรัพย์ที่มีอยู่ ให้เกิดประสิทธิภาพและได้รับผลตอบแทนสูงสุด อาทิ โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลม ในฟิลิปปินส์  ฯลฯ จะสามารถลดผลกระทบด้าน dilution ในระยะสั้นได้อย่างแน่นอน

www.mitihoon.com