Dow – ทช. – IUCN ร่วมต้านโลกร้อน ลดขยะทะเล

95

มิติหุ้น –  เมื่อเร็วๆนี้ กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย (Dow) กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และองค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (International Union for Conservation of Nature – IUCN) ได้จัดพิธีลงนามความร่วมมือโครงการ ดาว – เครือข่ายชายฝั่ง รักษ์พิทักษ์ป่าชายเลน เพื่อความยั่งยืน” (Dow & Thailand Mangrove Alliance) หรือเรียกย่อ ๆ ว่า ดาวและเครือข่ายรักษ์ป่าชายเลนไทย ตั้งเป้าร่วมอนุรักษ์ป่าชายเลนอ่าวไทย-อันดามัน ครอบคลุม 5 จังหวัดพื้นที่รวมกว่า 5,000 ไร่ เพื่อแก้วิกฤตโลกร้อนและลดปัญหาขยะทะเลอย่างยั่งยืน ชูปากน้ำประแส จังหวัดระยอง นำร่องโครงการ

นายฉัตรชัย เลื่อนผลเจริญชัย ประธานบริหาร กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย กล่าวว่า “โลกกำลังเผชิญกับปัญหาใหญ่ 2 ด้าน คือ สภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป และปัญหาขยะพลาสติกในทะเล เพื่อตอบโจทย์การแก้ไขได้ทั้งสองปัญหา เราจึงริเริ่มและสนับสนุนโครงการ Dow & Thailand Mangrove Alliance ขึ้นมา เพราะป่าชายเลนเป็นป่าที่สามารถกักเก็บคาร์บอนได้ดีที่สุดซึ่งจะช่วยลดปัญหาโลกร้อน และยังเป็นปราการที่สามารถดักกรองขยะไม่ให้ลงสู่ทะเล โดยได้ต่อยอดความสำเร็จจากโครงการปลูกป่าชายเลนที่ Dow ดำเนินการต่อเนื่องมากว่า 12 ปีในประเทศไทย และครั้งนี้จะเป็นการยกระดับโครงการไปสู่ระดับสากล เราตั้งเป้าดำเนินโครงการต่อเนื่องอย่างน้อย 5 ปีด้วยงบประมาณอย่างน้อย 30 ล้านบาท”

ดาวและเครือข่ายรักษ์ป่าชายเลนไทยจะมีโครงการนำร่องในพื้นที่ปากน้ำประแส จังหวัดระยอง ในปีนี้ ก่อนที่จะขยายผลไปยังป่าชายเลนที่สำคัญในพื้นที่จังหวัดอื่น ๆ ต่อไปตามแผนงาน 5 ปี (2563-2567) โดยมีเป้าหมายหลักในการลดโลกร้อนและป้องกันขยะลงสู่ทะเล ผ่านการยกระดับการอนุรักษ์ป่าชายเลนอย่างครบวงจรและมีส่วนร่วมของภาคเอกชนและชุมชน โดยจะวางระบบรวมทั้งสร้างเครือข่ายในการฟื้นฟูดูแลป่าชายเลนให้เกิดประโยชน์ทั้งในด้านสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และสังคมอย่างสมดุล

นับเป็นครั้งแรกในประเทศไทยที่จะมีการพัฒนากลไกคาร์บอนเครดิตจากป่าชายเลนเพื่อการอนุรักษ์ที่ต่อเนื่องและยั่งยืน รวมทั้งการผสานการแก้ปัญหาขยะอย่างครบวงจรเข้าในโครงการป่าชายเลน ด้วยการสร้างต้นแบบการจัดการขยะในพื้นที่อนุรักษ์ และถ่ายทอดความรู้การจัดการขยะให้กับชุมชนพร้อมทั้งนักท่องเที่ยวที่มาเยี่ยมชม ห้องเรียนธรรมชาติที่จะมีการปรับปรุงใหม่ ทำให้โครงการนี้ไม่ใช่เป็นเพียงการปลูกและฟื้นฟูป่าชายเลน แต่ยังสามารถช่วยแก้ปัญหาโลกร้อนและขยะทะเลได้อย่างเป็นรูปธรรม

 นายโสภณ ทองดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กล่าวว่า “การเพิ่มพื้นที่ป่าชายเลนเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องให้ความสำคัญ เนื่องจากป่าชายเลนสามารถกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้มากกว่าป่าบกถึง 5 เท่าเมื่อเทียบต่อหนึ่งหน่วยพื้นที่เท่า ๆ กัน อีกทั้งป่าชายเลนยังเป็นตะแกรงทางธรรมชาติที่ดีในการดักจับขยะไม่ให้ไหลลงสู่ทะเล และเป็นแหล่งอนุบาลพันธุ์สัตว์น้ำเพื่อการประมง ทช. จึงมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ Dow และ IUCN เสนอตัวมาร่วมกันทำงานกับภาครัฐ อีกทั้งหวังเป็นอย่างยิ่งว่าชุมชนรอบพื้นที่ป่าและประชาชนที่มาเที่ยวชมห้องเรียนธรรมชาติจะได้มีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ป่าชายเลนและเรียนรู้การลดขยะทะเลโดยการแยกขยะ”

“การอนุรักษ์ป่าชายเลนเป็นที่ยอมรับในระดับโลกว่าสามารถช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เป็นสาเหตุสำคัญของภาวะโลกร้อนได้อย่างมหาศาล โดยในต่างประเทศมีคอนเซปต์ของการซื้อขายคาร์บอนเครดิต โดยการคำนวณปริมาณและมูลค่าของก๊าซเรือนกระจกที่ได้จากการปลูกป่าชายเลน และให้หน่วยงานหรือผู้สนใจจ่ายเงินสนับสนุนการอนุรักษ์ป่า แลกกับคาร์บอนเครดิตเพื่อไปหักลบกับมลภาวะที่ตนเป็นผู้ก่อ ซึ่งป่าชายเลนในประเทศไทยยังไม่มีกลไกด้านนี้อย่างเป็นรูปธรรม และเราหวังว่าโครงการนี้จะสามารถนำร่องให้เกิดขึ้นจริงได้เป็นครั้งแรกเพื่อยกระดับการอนุรักษ์ป่าชายเลนของไทยให้ไปสู่ระดับสากล” ดร. เทจปาล ซิงห์ รองผู้อำนวยการองค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ สำนักงานภูมิภาคเอเชีย ให้ความเห็น

www.mitihoon.com