กทปส. หนุนทุน 8.78 ลบ. ดันภาคอุตฯ ใช้ “ไอโอที” สร้าง “สมาร์ท แฟคทอรี” ปรับการผลิตดันจีดีพีไทยโต 30%

53

มิติหุ้น – กองทุนวิจัยและพัฒนา กิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) หนุนงบฯ วิจัย 8.78 ล้านบาท ดันภาคอุตสาหกรรมการผลิต ใช้เทคโนโลยีไอโอที สร้าง “สมาร์ท แฟคทอรี” หลังพบภาคอุตสาหกรรมดันจีดีพีไทยโต 30% ล่าสุด เนคเทค-สวทช. ได้เปิดเวที “Smart Factory IoT Challenge 2020” แมชต์ชิ่งผู้ประกอบการและนักพัฒนา ต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 ภายใต้การสนับสนุนทุนวิจัยของ กทปส. เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมไทยสู่ 4.0 ด้วยการใช้เทคโนโลยีไอโอที ปรับกระบวนการภายในโรงงาน ให้พร้อมก้าวสู่โรงงานอัจฉริยะในอนาคต โดยล่าสุด โครงการดังกล่าวได้ต้นแบบนวัตกรรม “Smart Cooling Tower System” การใช้อินเตอร์เน็ตติดตามความผิดปกติของหอหล่อเย็น โรงงานผู้ผลิตท่อแบบเรียลไทม์ หนุนการตัดสินใจของช่างซ่อมบำรุง ลดต้นทุนการผลิต 7.4 แสนบาทต่อปี และลดภาระการทำงานด้านการตรวจสอบระบบ

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม หรือติดตามความเคลื่อนไหวของข่าวสารและกิจกรรมของ กทปส. ได้ที่ กองทุนวิจัยและพัฒนาฯ ถนนวิภาวดีรังสิต กรุงเทพฯ โทรศัพท์ 02-554-8111 และ 02-554-8114 เว็บไซต์ https://btfp.nbtc.go.th เฟซบุ๊กแฟนเพจ www.facebook.com/BTFPNEWS 

นายนิพนธ์ จงวิชิต ผู้อำนวยการ กองทุนวิจัยและพัฒนา กิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) ภายใต้การกำกับดูแลของ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยว่า กทปส. มียุทธศาสตร์สำคัญ ที่มุ่งผลักดันการใช้อินเตอร์เน็ตให้เกิดประโยชน์แก่สาธารณชนอย่างต่อเนื่อง ทั้งการยกระดับการเข้าถึงสิทธิประโยชน์ผ่านโครงข่ายอินเตอร์เน็ต การรักษาพยาบาลหรือการแพทย์ทางไกล เพื่ออำนวยความสะดวกคนไทยในพื้นที่ห่างไกล ให้สามารถเข้าถึงการรักษาได้อย่างเท่าเทียม การผลิตรายการโทรทัศน์สำหรับเยาวชนและครอบครัว เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้และสร้างภูมิคุ้มกันแก่เยาวชน รวมถึงการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศอำนวยความสะดวกในภาคอุตสาหกรรม โดยที่ล่าสุด กทปส. ได้สนับสนุนงบประมาณ 8.78 ล้านบาท ดันภาคอุตสาหกรรมการผลิต ใช้เทคโนโลยีไอโอที (IoT) ปรับใช้ในกระบวนการทำงาน เพื่อก้าวสู่โรงงานอัจฉริยะ หรือ Smart Factory อย่างเต็มประสิทธิภาพในอนาคต

ด้าน ดร.ชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) กล่าวว่า “สมาร์ท แฟคทอรี” (Smart Factory) หนึ่งใน 8 ยุทธศาสตร์ของเนคเทค ที่มุ่งส่งเสริมการนำเทคโนโลยีที่มีอยู่เข้ามาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์และแก้ปัญหาจริงในโรงงานอุตสาหกรรม อันนำไปสู่การสร้าง “สมาร์ท แฟคทอรี” รับอุตสาหกรรมไทย 4.0 (Industry 4.0) โดยเฉพาะ “ภาคอุตสาหกรรม” เซ็คเตอร์ขนาดใหญ่ที่ช่วยขับเคลื่อนจีดีพี (GDP) ประเทศได้ถึง 30% ดังนั้น NECTEC จึงได้จับมือกับ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) จัดโครงการ “Smart Factory IoT Challenge 2020” การแข่งขันจับคู่ผู้ประกอบการโรงงานอุตสาหกรรมกับนักพัฒนา ต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 ภายใต้การสนับสนุนทุนจาก กทปส. ที่มุ่งยกระดับอุตสาหกรรมไทยสู่ 4.0 ด้วยการใช้เทคโนโลยีไอโอที (IoT) เข้ามาปรับปรุงกระบวนการภายในโรงงาน ให้พร้อมก้าวสู่โรงงานอัจฉริยะ (Smart Factory) ให้เกิดขึ้นจริงในอนาคต

โครงการดังกล่าว ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานพันธมิตร ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) โดย กองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) บริษัท อินเทอร์เน็ตประเทศไทย จำกัด (มหาชน) บริษัท เน็กซ์พาย จำกัด และ บริษัท กราวิเทคไทย (ไทยแลนด์) จำกัด

โดยผลการแข่งขันจากโครงการ “Smart Factory IoT Challenge 2020” ได้ผู้ชนะเลิศ เป็นต้นแบบนวัตกรรม “สมาร์ท คูลลิ่ง ทาวเวอร์ ซิสเต็ม” (Smart Cooling Tower System) จากทีม Pied Piper ผลสำเร็จจากการใช้อินเทอร์เน็ตติดตามความผิดปกติของหอหล่อเย็น โรงงานผู้ผลิตท่อแบบเรียลไทม์ ด้วยการติดตั้ง Sensor เชื่อมต่อกับ uRTU เพื่อรับค่าพารามิเตอร์ของระบบ Cooling Tower และเชื่อมต่อกับ คอมพิวเตอร์ขนาดเล็ก (Rasberry Pi) ในการประมวลผลและควบคุมการทำงานของระบบ แล้วส่งข้อมูลไปยัง NETPIE IoT Platform เพื่อบันทึก วิเคราะห์ และแสดงผลข้อมูลผ่านระบบออนไลน์ โดยมุ่งอำนวยความสะดวกในการดูความผิดปกติต่าง ๆ ของระบบแบบเรียลไทม์ ซึ่งช่วยให้การตัดสินใจซ่อมบำรุงรวดเร็วยิ่งขึ้น เมื่อเกิดปัญหากับระบบการผลิต ช่วยลดต้นทุนการผลิตได้ถึง 7.4 แสนบาทต่อปี ลดภาระการทำงานของวิศวกรและพนักงานฝ่ายผลิต ในการตรวจสอบระบบ นอกจากนี้ ระบบยังสามารถบันทึกและวิเคราะข้อมูล เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของระบบ Cooling Tower ได้ในอนาคต

ทั้งนี้ โครงการดังกล่าว เดือนมกราคม 2563 ได้คัดเลือกโรงงานที่มีโจทย์ชัดเจนและน่าสนใจเพียง 9 โรงงาน พร้อมคัดสรรนักพัฒนาที่มีผลงานประสบการณ์เป็นที่ประจักษ์ เข้าสู่กิจกรรมการจับคู่ระหว่างโรงงานและนักพัฒนา เพื่อฟอร์มทีมแข่งขันและเริ่มต้นลงมือพัฒนาผลงาน โดยทีมที่ผ่านรอบแรกทั้งสิ้น 9 ทีม เนคเทค ได้ให้เงินทุน ทีมละ 20,000 บาท พร้อมเครื่องมือพัฒนา ซึ่งเป็นงานวิจัยของเนคเทคให้ทีมนำไปใช้ร่วมกับผลงาน ได้แก่ แพลตฟอร์ม NETPIE IoT แพลตฟอร์มที่ให้บริการเชื่อมต่ออุปกรณ์ หรือแอปพลิเคชันด้วย IoT มีฟีเจอร์ต่างๆ เช่น การเก็บข้อมูลเซนเซอร์ หน้าจอแสดงผล และ การแจ้งเตือน เป็นต้น รวมถึง อุปกรณ์ Universal Remote Terminal Unit (uRTU) อุปกรณ์สำหรับตรวจวัดและสั่งการอุปกรณ์ได้หลายประเภท ซึ่งตลอดระยะเวลา 6 เดือนที่ผ่านมา ทีมผู้เข้าแข่งขันจะต้องฝ่าฟันอุปสรรค จากสถานการณ์โควิดหลากรูปแบบ ทั้งการเดินทาง การจัดหาอุปกรณ์ และปรับตัวเพื่อความอยู่รอดของโรงงาน จนกระทั่งการคัดเลือกผลงานอีกถึ2 ครั้ง ดร.ชัย กล่าวทิ้งท้าย

www.mitihoon.com