ASIAN จัดใหญ่ Q2/63 โกยกำไร 300 ลบ. ทะยาน 1,264% โตกว่าปีที่แล้วทั้งปี

157



 

มิติหุ้น-“เอเชี่ยนซี คอร์ปอเรชั่น” เผยงบ Q2/63 กำไรโตสนั่น 1,263.63% อยู่ที่ 300 ลบ. โตกว่ากำไรสุทธิทั้งปีก่อนเรียบร้อยแล้ว ส่วนอัตรากำไรขั้นต้นทุบสถิติสูงสุดอยู่ที่ 18.9% ยอดขายอยู่ที่ 2,005 ลบ. ผลจากความสำเร็จของกลุ่มธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยงเติบโตกว่า 40% และ กลุ่มธุรกิจอาหารแช่เยือกแข็งพลิกทำกำไร ประเมินแนวโน้มครึ่งปีหลังยังดี ออเดอร์ไหลเข้าต่อเนื่อง หนุนภาพรวมทั้งปี 63 ฟอร์มสวย แม้รายได้ไม่โตตามแผน

นายเฮ็นริคคัส แวน เวสเทนดร็อป ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ และประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายการเงิน บริษัท เอเชี่ยนซี คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ASIAN ผู้ประกอบธุรกิจแปรรูปสัตว์น้ำแช่แข็ง จำหน่ายและส่งออก ทั้งที่เป็นผลิตภัณฑ์ภายใต้เครื่องหมายการค้าของบริษัท และผลิตภัณฑ์ภายใต้เครื่องหมายการค้าของลูกค้า และผู้ผลิตและจำหน่ายอาหารสัตว์เลี้ยง เปิดเผยว่า ผลประกอบการของบริษัทฯ และบริษัทย่อยในงวดไตรมาส 2/2563 มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 300 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 278 ล้านบาท หรือคิดเป็น 1,263.63% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 22 ล้านบาท และโตกว่ากำไรสุทธิทั้งปี 2562 ซึ่งทำได้ 132.70 บาทเรียบร้อยแล้ว

สำหรับกำไรขั้นต้นอยู่ที่ 378 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 216 ล้านบาท เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อนอยู่ที่ 162 ล้านบาท คิดเป็นอัตรากำไรขั้นต้น 18.9% ทำสถิติสูงสุดใหม่ เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนที่มีอัตรากำไรขั้นต้นอยู่ที่ 8.2% เนื่องจาก ยอดขายกลุ่มอาหารสัตว์เลี้ยงสูง อัตรากำไรที่แข็งแกร่งขึ้นมากในกลุ่มผลิตภัณฑ์อาหารทะเลแช่เยือกแข็ง แม้ว่าค่าเงินบาทจะแข็งค่าขึ้นในช่วงปลายไตรมาส

ขณะที่ในไตรมาส 2/2563 มีรายได้จากการขายอยู่ที่ 2,005 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มียอดขาย 1,971ล้านบาท ในขณะที่ยอดขายเชิงปริมาณเพิ่มขึ้นราว 10%  เป็นผลจากการเลิกขายผลิตภัณฑ์กลุ่มแช่เยือกแข็งในตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ และการบริโภคในกลุ่มภัตตาคารและร้านอาหารในประเทศที่หดตัวในระหว่างไตรมาสทำให้ปริมาณขายกลุ่มผลิตภัณฑ์แช่เยือกแข็งลดลง 44%  แต่ได้รับการชดเชยจากปริมาณขายผลิตภัณฑ์กลุ่มอาหารสัตว์เลี้ยงที่เพิ่มสูงขึ้นถึง 48%  และปริมาณขายอาหารสัตว์น้ำสูงขึ้นราว 18% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ส่วนยอดขายเชิงปริมาณกลุ่มผลิตภัณฑ์ทูน่าลดลงราว 10%

สำหรับไตรมาสนี้ รายได้จากกลุ่มธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยง ซึ่งเติบโต 40% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันปีก่อนหน้า จนทำยอดขายขึ้นไปบันทึกสถิติสูงสุดใหม่ที่ 863 ล้านบาท  เป็นกลุ่มที่มีผลงานโดดเด่นที่สุด มีสัดส่วนรายได้ราว 42% ของรายได้รวม โดยยอดขายที่เพิ่มขึ้นเกิดจากลูกค้าเดิมและลูกค้ารายใหญ่รายใหม่ทั้งในญี่ปุ่นและยุโรป ซึ่งคาดว่าจะเป็นแรงสนับสนุนให้ ASIAN เติบโตอย่างแข็งแรงขึ้นในอนาคต สำหรับธุรกิจอาหารแช่เยือกแข็งมีสัดส่วนรายได้รองลงมาอยู่ที่ 32% ถือเป็นกลุ่มที่น่าพอใจที่สุดเมื่อพิจารณาว่าสามารถพลิกฟื้นธุรกิจกลับมามีผลกำไรที่ดี  ด้วยความมุ่งมั่นในการทำตลาดผลิตภัณฑ์อาหารพร้อมปรุง

“ผลประกอบการที่ออกมาเป็นที่น่าพอใจ มองเห็นพัฒนาการและแนวโน้มที่ดีขึ้นในทุกกลุ่มธุรกิจที่สามารถเดินหน้าตามแผนกลยุทธ์ มุ่งเน้นขยายตลาด ควบคู่การบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งในช่วงไตรมาสที่ 1 ไวรัสโควิด-19 เริ่มแพร่ระบาด  แต่เราพบว่าความต้องการซื้อจากลูกค้าของเราไม่ได้ลดลง  ทั้งอาหารแช่เยือกแข็ง และอาหารที่สามารถเก็บรักษาได้นานโดยไม่ต้องแช่เย็น คาดการล็อกดาวน์ทำให้มีการปรุงอาหารเองภายในครัวเรือนมากขึ้น โดยผู้บริโภคเน้นกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่บริโภคได้สะดวก  ซึ่งก็ตรงกับผลิตภัณฑ์ของเรา  ในขณะที่กลุ่มอาหารสัตว์เลี้ยงก็มีความต้องการสูงขึ้นเช่นกัน โดยมีรายงานจากหลายแห่งที่บอกว่าคนมีสัตว์เลี้ยงมากขึ้น โดยเฉพาะสัตว์เลี้ยงขนาดเล็ก ส่วนหนึ่งเพราะใช้เวลาอยู่กับที่พักมากขึ้น  ต้องการเพื่อน ทั้งยังมีการใช้จ่ายเพื่อสัตว์เลี้ยงเฉลี่ยสูงขึ้น สนับสนุนให้กำไรสุทธิเติบโตเพิ่มขึ้นกว่า 1,263% เมื่อเทียบกับงวดไตรมาส 2 ของปีก่อน” นายเฮ็นริคคัส กล่าว

ทั้งนี้ ASIAN มองภาพรวมธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยงในปีนี้จะเติบโตโดดเด่น ด้วยปริมาณคำสั่งซื้อจากลูกค้าทั้งในสหรัฐอเมริกา อังกฤษ  รวมถึงคำสั่งซื้อจากลูกค้ารายใหญ่รายใหม่ในญี่ปุ่น โดยบริษัทฯ กำลังขยายกำลังการผลิตผลิตภัณฑ์ในกลุ่มถุงเพาซ์เครื่องที่สามเพื่อรองรับโอกาส ซึ่งจะทำการติดตั้งเพิ่มเติมในเดือนสิงหาคมนี้ นอกจากนี้บริษัทยังจะเปิดตัวแบรนด์อาหารสัตว์เลี้ยงแบรนด์ใหม่ เป็นกลุ่มอาหารสุนัข เจาะตลาดราคาย่อมเยาว์ เน้นกลุ่มอาหารเม็ดและขนม หรือ สแน็ค  คาดว่าจะออกสู่ตลาดในเดือนกันยายนนี้  ในขณะที่มีการปรับปรุงแผนการจำหน่ายและกระจายสินค้าของแบรนด์ “มองชู” ให้ดีและทั่วถึงมากขึ้น

ด้านธุรกิจอาหารแช่เยือกแข็ง ยอดขายเชิงปริมาณในไตรมาสที่ 2  ลดลง 44% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน โดยส่วนที่ลดลงเป็นสำคัญยังคงเป็นกลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์กุ้ง ที่บริษัทยกเลิกการขายผลิตภัณฑ์กลุ่มนี้ไปก่อนหน้านี้ และยอดขายผลิตภัณฑ์กลุ่มหมึกที่ลดต่ำลงมาก เนื่องจากลูกค้าซึ่งเป็นผู้นำเข้าผลิตภัณฑ์ไปจำหน่ายในอิตาลีขอยกเลิก หรือเลื่อนคำสั่งซื้อ ผลจากการล็อคดาวน์ แต่อย่างไรก็ดียอดขายกลุ่มหมึกมีสัญญาณฟื้นตัวในไตรมาสที่ 3 อย่างไรก็ตาม ปริมาณการขายสินค้ากลุ่มผลิตภัณฑ์เพิ่มมูลค่า (Value Added Product) ซึ่งได้แก่ผลิตภัณฑ์ของทอด กุ้งชุบเกร็ดขนมปัง กุ้งสำหรับทานแบบดิบ (ซาซามิ) เพิ่มขึ้นอย่างมาก

ธุรกิจทูน่า มีสัดส่วนรายได้ประมาณ 10% ของรายได้รวม มียอดขายลดลง 10% เนื่องจากข้อจำกัดด้านแรงงานและลูกค้าชะลอสั่งซื้อน้อยลงจากราคาวัตถุทูน่าขยับสูงขึ้น ขณะที่ธุรกิจอาหารสัตว์น้ำ ซึ่งมีสัดส่วนรายได้ประมาณ 16% ของรายได้รวม ขณะที่ปริมาณขายเพิ่มขึ้น 18% จากยอดขายอาหารกุ้ง  แม้ว่าสถานการณ์การเลี้ยงในปีนี้ลดลงจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิท-19 และสถานการณ์ภัยแล้งในไตรมาสที่ผ่านมา

ภาพรวมธุรกิจในปี 2563 คาดว่าแนวโน้มเป็นไปในทิศทางบวก ประมาณการยอดขายสำหรับปีลดลง คาดจะอยู่ที่ 8,500 ล้านบาท จากเดิมที่ตั้งเป้าไว้ที่ระดับ 9,200 ล้านบาท เนื่องจากยอดขายกลุ่มทูน่าและกลุ่มอาหารแช่เยือกแข็งยังคงต่ำกว่าเป้าหมาย แต่มีการปรับเป้าหมายอัตรากำไรขั้นต้นจาก 10-12% มาอยู่ที่ระดับ 13-15%  โดยอัตรากำไรในช่วงครึ่งปีหลังคาดว่าจะต่ำกว่าในครึ่งปีแรก เนื่องจากค่าเงินบาทแข็งค่าและการต้องปรับราคาขายในช่วงปลายปี นอกจากนี้ Asian ยังมีการปรับทีมบริหาร โดยเราจะมีประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายการเงินท่านใหม่มาร่วมงาน ในขณะที่ผมเองจะเป็นผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ และกรรมการบริษัท เพื่อดูภาพรวมและแผนกลยุทธ์ของกลุ่มบริษัท Asian”  นายเฮ็นริคคัส กล่าวทิ้งท้าย

www.mitihoon.com