สถานการณ์ตลาดน้ำมันประจำสัปดาห์ที่ 3-7 ส.ค. 63 และคาดการณ์สัปดาห์ที่ 10-14 ส.ค. 63

74

สถานการณ์ตลาดน้ำมันประจำสัปดาห์ที่ 3-7 ส.ค. 63 และคาดการณ์สัปดาห์ที่ 10-14 ส.ค. 63 โดยทีมวิเคราะห์ตลาดต่างประเทศ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)

ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงบวก

  • สำนักงานสารสนเทศทางพลังงานของสหรัฐฯ (Energy Information Administration หรือ EIA) รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดิบเชิงพาณิชย์ สัปดาห์สิ้นสุด 31 ก.ค. 63 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 7.4 ล้านบาร์เรล อยู่ที่ระดับ 518.6 ล้านบาร์เรล ขณะที่อัตราการนำน้ำมันดิบเข้ากลั่นเพิ่มขึ้น อยู่ที่ 79.6 % สูงสุดตั้งแต่ปลาย มี.ค. 63
  • เงินสกุลดอลลาร์สหรัฐฯ อ่อนค่า โดยนักลงทุนเก็งว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ จะกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมจากรัฐสภา และรัฐบาล โดยอัดฉีดเงินเข้าระบบ จึงเทขายดอลลาร์ และหันมาถือสินทรัพย์ อื่นๆ เช่น หุ้น สินค้าโภคภัณฑ์ต่างๆ อาทิ ทองคำ และรวมถึงน้ำมัน

ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงลบ

  • วิกฤติ COVID-19 ยังคงลุกลาม โดยเฉพาะในสหรัฐฯ และอินเดีย คุกคามเศรษฐกิจทั่วโลก และกดดันความต้องการใช้พลังงาน สัปดาห์นี้คาดการณ์ว่าราคาน้ำมันดิบเบรนท์จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 43-47 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อย่างไรก็ตามให้ติดตามกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมันและพันธมิตร (OPEC+) ที่ผ่อนคลายการลดปริมาณการผลิตน้ำมันจากเดิม 9.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน ลงมาเหลือ 7.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน เริ่มมาตั้งแต่เดือน ส.ค. 63 นี้ไปจนถึงสิ้นปี อีกทั้งจับตาความขัดแย้งในรัฐสภาสหรัฐฯ ซึ่งพรรคการเมืองยังไม่สามารถบรรลุข้อตกลงร่างมาตรการเยียวยาผลกระทบจากวิกฤติ COVID-19 และชาวอเมริกันไม่พอใจต่อมาตรการชั่วคราว ที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ นาย Donald Trump ใช้คำสั่งฝ่ายบริหาร (Executive Order) ให้เลื่อนการเก็บภาษีรายได้บุคคลสำหรับผู้มีรายได้ต่ำกว่า 100,000 เหรียญสหรัฐฯ ต่อปี ในช่วง 1 ก.ย.- 31 ธ.ค. 63 เนื่องจากโดยลำพังการเลื่อนแต่ไม่ได้ยกเว้น จะยังไม่สามารถบรรเทาความเดือดร้อน และการสนับสนุนเงินสวัสดิการว่างงานพิเศษ ต้องใช้งบประมาณแผ่นดิน ซึ่งเป็นอำนาจของรัฐสภา

www.mitihoon.com