การเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืน….สำคัญจริงแท้

332

เมื่อไม่นานมานี้ Measuring Sustainability Disclosure 2019* เปิดเผยผลการจัดอันดับตลาดหลักทรัพย์ที่มีจำนวนบริษัทจดทะเบียนที่เปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืนที่มีความครบถ้วนและมีประสิทธิภาพมากที่สุดประจำปี 2562 โดยเน้นปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมเป็นสำคัญ ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางการส่งเสริมของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และเป็นเรื่องน่ายินดีกับข่าวดีของตลาดทุนไทยที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยติดอันดับ Top 10 โดยอยู่ลำดับที่ 9 จากตลาดหลักทรัพย์ 49 แห่งทั่วโลกและเป็นแห่งเดียวในเอเชียที่อยู่ใน 10 อันดับแรก** สะท้อนถึงพัฒนาการที่ดีของบริษัทจดทะเบียนไทยในการดำเนินงานด้านความยั่งยืนและการเปิดเผยข้อมูลที่ได้มาตรฐานสากล

ก.ล.ต. ในฐานะที่เป็นหน่วยงานกำกับดูแลและพัฒนาตลาดทุนไทยได้ร่วมมือกับหน่วยงานและองค์กรต่าง ๆ  อาทิ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย  สมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย  สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย และสมาคมที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ ในตลาดทุนไทย ในการดำเนินนโยบายด้านการส่งเสริมการเปิดเผยข้อมูลของบริษัทจดทะเบียนโดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อมูลด้านความยั่งยืนมาโดยตลอด เริ่มจากการกำหนดให้มีการเปิดเผยข้อมูลความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR) และส่งเสริมจัดทำรายงานความยั่งยืนต่อสาธารณชนในรายงานประจำปี ตั้งแต่ปี 2557 เพื่อให้สะท้อนถึงแนวนโยบายและทิศทาง ตลอดจนความมุ่งมั่นในการดำเนินการด้านความยั่งยืนด้วยความรับผิดชอบต่อสังคม สิ่งแวดล้อม และการกำกับดูแลกิจการที่ดี (ESG) อย่างเป็นระบบและเป็นรูปธรรมควบคู่กับการดำเนินธุรกิจ ซึ่งเป็นกลไกหนึ่งที่นำไปสู่เป้าหมายการเป็นตลาดทุนที่ยั่งยืน

Measuring Sustainability Disclosure 2019 เป็นรายงานการจัดอันดับของการเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืนของบริษัทจดทะเบียนทั่วโลก ซึ่งจัดทำขึ้นเป็นประจำทุกปี ตั้งแต่ปี 2555 โดย Corporate Knights สื่อด้านความยั่งยืนจากประเทศแคนาดา และได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจาก AVIVA ผู้ลงทุนสถาบันระดับโลก โดยได้ติดตามการเปิดเผยข้อมูลของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ของประเทศที่เป็นสมาชิกองค์การสหประชาชาติ ซึ่งพิจารณาจากจำนวนบริษัทจดทะเบียนที่มีรายได้ขั้นต่ำ 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ อย่างน้อย 10 บริษัท เพื่อสำรวจข้อมูลด้านความยั่งยืนจากตัวชี้วัด 7 ด้าน ได้แก่ อัตราการลาออกของพนักงาน การใช้พลังงาน การปล่อยก๊าซเรือนกระจก ความปลอดภัยในการทำงาน ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับพนักงาน การจัดการของเสีย และการบริหารการใช้น้ำ

จากรายงานของปี 2019 ข้างต้น มีการเก็บข้อมูลการเปิดเผยข้อมูลของบริษัทจดทะเบียนขนาดใหญ่จำนวน 6,261 บริษัท จากตลาดหลักทรัพย์ทั่วโลก 49 แห่ง แบ่งเป็น 68% เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ที่พัฒนาแล้ว และอีก 32% เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เกิดใหม่ โดยใช้ฐานข้อมูลที่เน้นการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมเป็นหลักจาก 4 แหล่ง*** มาประเมินและประมวลเพื่อให้คะแนนการเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืนใน 3 ประเด็น ได้แก่ (1) อัตราการเปิดเผยข้อมูลตัวชี้วัด 7 ด้าน (Disclosure Rate) จากผลประเมินพบว่าตลาดหลักทรัพย์ Nasdaq Helsinki มีอัตราการเปิดเผยข้อมูลดังกล่าวสูงที่สุดที่ 80.6% สำหรับตลาดหลักทรัพย์ไทยอยู่ที่ 60.3% (2) การเพิ่มขึ้นของการเปิดเผยข้อมูลด้าน ESG ของบริษัทจดทะเบียนเมื่อเทียบกับช่วงก่อนหน้า (2013 – 2017) โดย Bolsa de Comercio de Buenos Aires มีอัตราการเพิ่มขึ้นสูงสุดที่ 40.9% สำหรับตลาดหลักทรัพย์ไทยมีอัตราการเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 8.5% และ (3) การเปิดเผยข้อมูลที่เหมาะสมต่อเวลาของบริษัทจดทะเบียน (Timeliness) โดยดูจากจำนวนวันที่บริษัทเปิดเผยข้อมูลด้าน ESG ในรายงานความยั่งยืนหลังจากสิ้นสุดปีงบประมาณ ซึ่ง Nasdaq Copenhagen ใช้เวลาเฉลี่ยน้อยที่สุดที่ 73 วัน ส่วนตลาดหลักทรัพย์ไทยใช้เวลาเฉลี่ยอยู่ที่ 105 วัน

นอกจากนี้ ในรายงานยังเปิดเผยประเด็นที่น่าสนใจ เช่น แนวโน้มของผู้ลงทุนและผู้มีส่วนได้เสียในปัจจุบันที่ให้ความสำคัญกับข้อมูลเกี่ยวกับนโยบายการดำเนินงานด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมมากขึ้น  อีกทั้งมีหน่วยงานกำกับดูแลในหลายประเทศได้ออกกฎเกณฑ์ให้มีการเปิดเผยข้อมูลดังกล่าวเพิ่มขึ้นทั้งแบบสมัครใจ และภาคบังคับ แต่การเปิดเผยข้อมูลใน 7 ตัวชี้วัดไม่ได้มีอัตราเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ชี้ให้เห็นว่าจำเป็นต้องมีแนวทางใหม่ ๆ (new approach) ที่มาส่งเสริมเรื่องการเปิดเผยข้อมูลให้เป็นที่แพร่หลายเพิ่มขึ้นอีก โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับบริษัทที่ยังไม่เคยเปิดเผยข้อมูลผลการดำเนินงานด้านความยั่งยืน

สำหรับแนวทางการส่งเสริมด้านการเปิดเผยข้อมูลของบริษัทจดทะเบียนนั้น ล่าสุด สำนักงาน ก.ล.ต. กำหนดให้มีการรวมแบบแสดงรายการข้อมูลประจำปี (แบบ 56-1) และรายงานประจำปี (แบบ 56-2)  ให้เหลือเพียงรายงานเดียว (56-1 One report) ที่ได้ปรับปรุงให้มีการเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืนที่รวมอยู่ในกระบวนการทางธุรกิจ (ESG in-process) โดยจะร่วมมือกับตลาดหลักทรัพย์ฯ จัดอบรมการจัดทำแบบ 56-1 One report ให้แก่บริษัทจดทะเบียน  รวมทั้งได้เตรียมจัดทำโครงสร้างข้อมูล (structured data) เพื่อใช้ในการวิเคราะห์และติดตามข้อมูลได้อย่างรวดเร็ว สำหรับบริษัทจดทะเบียน ให้เปิดเผยข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การเคารพสิทธิมนุษยชน และการมีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพในแบบ 56-1 One report ตั้งแต่รอบปีบัญชีสิ้นสุด 31 ธันวาคม 2564 ส่วนบริษัทที่ออกและเสนอขายหลักทรัพย์ต่อประชาชนครั้งแรก (IPO) ให้เริ่มเปิดเผยข้อมูลในแบบ 69-1 ที่ยื่นตั้งแต่ 1 มกราคม 2565 เป็นต้นไป นอกเหนือจากเพื่อลดภาระการรายงานของบริษัทจดทะเบียนแล้ว ผู้ลงทุนสามารถใช้ประโยชน์จากข้อมูลทั้งในเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพประกอบการตัดสินใจ  อีกทั้งแนวการเปิดเผยข้อมูลที่ปรับปรุงนี้ยังส่งผลต่อการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนตามแผนยุทธศาสตร์ของสำนักงาน ก.ล.ต.  แผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติอีกด้วย

การเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืนจึงถือเป็นหนึ่งในภารกิจหลักที่สำนักงาน ก.ล.ต. ให้ความสำคัญโดยได้พัฒนาแนวทางส่งเสริมและบูรณาการกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง เพื่อขับเคลื่อนให้ตลาดทุนไทยบรรลุเป้าหมายการเป็นตลาดทุนที่ยั่งยืน อันเป็นส่วนหนึ่งของการนำไปสู่ความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจของประเทศ

โดย ฝ่ายส่งเสริมธรรมาภิบาลและความยั่งยืน

สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)

www.mitihoon.com