GPSC โชว์แกร่งกำไร Q2/63 โต 20% ชี้ปัจจัยบวกราคาก๊าซลด ยอดใช้ไฟฟ้า-ไอน้ำเพิ่ม

85

 

มิติหุ้น-ไตรมาส 1/63  ฝ่าวิกฤติโควิด-19  ส่งผลให้ผลการดำเนินงาน 6 เดือนแรกของปี 2563 มีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้น 72% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นผลจากการรับรู้รายได้ผลประกอบการจาก GLOW เต็ม 6 เดือน และปัจจัยบวกด้านต้นทุนพลังงานที่ลดต่ำลง รวมทั้งโรงไฟฟ้าในกลุ่มเดินเครื่องได้เต็มประสิทธิภาพ  และการใช้ไฟฟ้าและไอน้ำที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นหลังจากคลายล็อกดาวน์

นายชวลิต  ทิพพาวนิช  ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่  บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC แกนนำนวัตกรรมธุรกิจไฟฟ้า กลุ่ม ปตท. เปิดเผยว่า  ผลประกอบการไตรมาส 2/2563  บริษัทฯ มีรายได้ 18,138 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 1,896 ล้านบาท ซึ่งเมื่อเทียบกับไตรมาส 1/2563  รายได้จะลดลง 1% แต่กำไร เพิ่มขึ้น 20% และเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2562 บริษัทฯ มีกำไรสุทธิ ไม่รวม ค่าตัดจำหน่าย (Adjusted Net Income) 2,264 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 57% ทำให้ผล การดำเนินงานงวด 6 เดือนแรกปี 2563 (ม.ค.-มิ.ย. 63) บริษัทฯ มีรายได้ 36,446 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 25% และมีกำไรสุทธิไม่รวมค่าตัดจำหน่าย 4,212 ล้านบาทเพิ่มขึ้น 77% เมื่อเทียบกับช่วง 6 เดือนแรกของปี 2562 

สำหรับปัจจัยหลักที่ทำให้กำไรสุทธิของบริษัทฯ ในช่วง 6 เดือนในปีนี้เพิ่มสูงขึ้น เนื่องมาจากการรับรู้ผลประกอบการจากบริษัท โกลว์ พลังงาน จำกัด (GLOW) เต็ม 6 เดือนในปี 2563 ในขณะที่ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2562 บริษัทฯ รับรู้รายได้จาก GLOW เพียงแค่ 3 เดือนเศษเท่านั้น นอกจากนี้ยังมีการรับรู้กำไรขั้นต้นของโรงไฟฟ้าศรีราชาที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากค่าความพร้อมของโรงไฟฟ้าที่ปรับเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจากค่าเงินบาทที่อ่อนตัว และการปรับโครงสร้างรายได้จากสัญญาเช่าการเงิน  รวมถึงผลบวกจากปัจจัยของราคาเชื้อเพลิงที่ปรับตัวลดลงตามสภาวะตลาด นอกจากนี้บริษัท โกลว์ ไอพีพี 3 ได้รับค่ารอนสิทธิในที่ดินสำหรับการสร้างระบบโครงข่ายไฟฟ้าแรงสูง 500 kV ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เป็นเงิน 223 ล้านบาท

ผลการดำเนินงานของบริษัทฯ สะท้อนให้เห็นถึงความแข็งแกร่งจากการดำเนินงานของบริษัทฯ ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากการ Synergy  ระหว่าง GPSC และ GLOW ที่เริ่มส่งผลบวกต่อผลประกอบการ  รวมไปถึง ปริมาณการใช้ไฟฟ้า และไอน้ำของกลุ่มลูกค้าอุตสาหกรรมไม่ได้รับผลกระทบมากนักในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19” นายชวลิต กล่าว

สำหรับผลการดำเนินงานในรายละเอียดของไตรมาส 2/2563 เมื่อเทียบกับไตรมาส 1/2563 ที่มีกำไรสุทธิเพิ่มสูงขึ้นนั้น เป็นผลมาจากหลายปัจจัย ในส่วนธุรกิจโรงไฟฟ้าผู้ผลิตอิสระ (IPP) มีการปรับเพิ่มขึ้นของอัตราค่าความพร้อมจ่ายของโรงไฟฟ้า IPP ซึ่งเป็นไปตามฤดูกาล และรายได้ที่เพิ่มขึ้นของโรงไฟฟ้าห้วยเหาะ สปป. ลาว

ในส่วนธุรกิจโรงไฟฟ้าขนาดเล็ก (SPP) กำไรขั้นต้นปรับตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 1 เนื่องจากปริมาณการใช้ไฟฟ้าและไอน้ำของกลุ่มลูกค้าอุตสาหกรรมที่เพิ่มสูงขึ้น   ในส่วนธุรกิจโรงไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (VSPP) กำไรขั้นต้นปรับตัวเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจากการรับรู้รายได้จากการขายไฟฟ้าของบริษัท โกลบอล รีนิวเอเบิล เพาเวอร์ จำกัด (GRP) และ โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ อิจิโนเซกิ-1 (ISP-1) รวมไปถึงรายได้จากการให้บริการรับเหมาออกแบบ และก่อสร้างของบริษัท ผลิตไฟฟ้าและพลังงานร่วม จำกัด (CHPP)

นายชวลิต ยังกล่าวถึงความคืบหน้าในด้านการพัฒนานวัตกรรมพลังงาน โดยล่าสุดคณะกรรมการบริษัทฯ ได้อนุมัติให้มีการลงทุนศูนย์วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีหน่วยกักเก็บพลังงาน  (R&D  Center) ในวงเงิน 230 ล้านบาท สำหรับทดสอบความปลอดภัยของหน่วยกักเก็บพลังงาน เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นในการใช้ระบบกักเก็บพลังงาน (ESS) มากยิ่งขึ้น โดยในส่วนโรงงานผลิตกำลังอยู่ในระหว่างการก่อสร้าง และคาดว่าจะสามารถผลิตในเชิงพาณิชย์ได้ในช่วงปลายปีนี้

www.mitihoon.com