ตลท. สรุปภาพรวมภาวะตลาดหลักทรัพย์เดือนกรกฏาคม 2563

22

 

มิติหุ้น-ณ สิ้นเดือนกรกฎาคม 2563 SET Index ปิดที่ 1,328.53  จุด ค่อนข้างทรงตัว โดยลดลง 0.8% จากเดือนก่อน สาเหตุมาจากหลายปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นผู้ลงทุน ได้แก่ ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐและจีน ความกังวลเกี่ยวกับการกลับมาแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ระลอกสอง อีกทั้งเป็นช่วงเวลาเปิดเผยตัวเลขเศรษฐกิจ รวมถึงการประกาศผลการดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียนในครึ่งปีแรกทำให้ SET Index เคลื่อนไหวในกรอบแคบ ทั้งนี้แม้ว่า SET Index ปรับลดลง 15.9% จากสิ้นปีก่อน แต่ยังอยู่ในระดับที่สูงกว่า MSCI ASEAN ที่ลดลง 19.4% จากสิ้นปีก่อนหน้า

นายศรพล ตุลยะเสถียร รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานวางแผนกลยุทธ์องค์กร ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ในเดือนกรกฎาคม 2563 ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ไทยค่อนข้างทรงตัว เมื่อพิจารณารายอุตสาหกรรมเทียบกับสิ้นปี พบว่าอุตสาหกรรมบางอุตสาหกรรมปรับตัวดีกว่า SET Index และมีสองกลุ่มอุตสาหกรรมที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นอยู่ในแดนบวกได้แก่ กลุ่มอุตสาหกรรมเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร และกลุ่มอุตสาหกรรมสินค้าอุปโภคบริโภค และในบางหมวดธุรกิจที่ได้รับอานิสงส์จากการฟื้นตัวหลังเริ่มมีการคลายการล็อคดาวน์ อาทิ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ อาหารและเครื่องดื่ม ของใช้ส่วนตัวและเวชภัณฑ์ นอกจากนี้ ในเดือนกรกฎาคมยังมีสัญญาณการฟื้นตัวของหลักทรัพย์ที่อยู่นอกกลุ่ม SET100 ในส่วนของมูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันรวมใน SET และ mai ในเดือนกรกฎาคม 2563 อยู่ที่ 64,010 ล้านบาท อยู่ในระดับเดียวกันกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2563 ด้านมูลค่าซื้อขายเฉลี่ยต่อวันรวมอยู่ที่ 67,972 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 31.3% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

นอกจากนี้ เริ่มเห็นสัญญาณความเชื่อมั่นที่ดีขึ้น สังเกตจากผู้ลงทุนต่างชาติที่มีแนวโน้มขายสุทธิในตลาดหลักทรัพย์ไทยลดลง อีกทั้งเริ่มมีกิจกรรม IPO อีกครั้ง โดยในเดือนนี้มีหลักทรัพย์เข้าจดทะเบียนซื้อขายใหม่ 2 หลักทรัพย์ ได้แก่ บมจ. ศรีตรังโกลฟส์ (STGT) และ บมจ. ซิลิคอน คราฟท์ เทคโนโลยี (SICT) มีมูลค่าระดมทุน (IPO) รวม 15,043 ล้านบาท อีกทั้งมีมูลค่าการซื้อขายรวมถึง 81,441 ล้านบาท หรือคิดเป็น 6.46% ของมูลค่าการซื้อขายรวมของเดือนนี้

ภาวะตลาดหลักทรัพย์ไทย

·        ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ไทย (SET Index) ณ สิ้นเดือนกรกฎาคม 2563 SET Index ปิดที่ 1,328.53  จุด ลดลง 0.8% จากเดือนก่อน และลดลง 15.9% จากสิ้นปีก่อน ซึ่งอยู่ในระดับที่สูงกว่า MSCI ASEAN ที่ลดลง 19.4% จากสิ้นปีก่อน

·        เมื่อพิจารณารายอุตสาหกรรมเทียบกับสิ้นปี พบว่ามีบางอุตสาหกรรมปรับตัวดีกว่า SET Index และมีสองกลุ่มอุตสาหกรรมที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นอยู่ในแดนบวกได้แก่ กลุ่มอุตสาหกรรมเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร และกลุ่มอุตสาหกรรมสินค้าอุปโภคบริโภค

·        นอกจากนี้ ในเดือนกรกฎาคมยังเป็นเดือนแรกที่เริ่มเห็นสัญญาณการฟื้นตัวของหลักทรัพย์ที่อยู่นอก SET100 และในบางหมวดธุรกิจที่ได้รับอานิสงส์จากการฟื้นตัวหลังเริ่มมีการคลายการล็อคดาวน์ อาทิ
ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ อาหารและเครื่องดื่ม และเครื่องใช้ส่วนตัวและเวชภัณฑ์

·        มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันรวมใน SET และ mai ในเดือนกรกฎาคม 2563 อยู่ที่ 64,010 ล้านบาท และในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2563 มูลค่าซื้อขายเฉลี่ยต่อวันรวมอยู่ที่ 67,972 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 31.3% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

·        เมื่อพิจารณาการซื้อขายตามประเภทผู้ลงทุนผู้ลงทุนในประเทศมีสัดส่วนมูลค่าการซื้อขายสูงสุดต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 โดยอยู่ที่ 48.03% ของมูลค่าการซื้อขายรวม นอกจากนี้ ผู้ลงทุนต่างประเทศมีแนวโน้มขายหุ้นไทยลดลง โดยในเดือนนี้ผู้ลงทุนต่างประเทศขายสุทธิเพียง 9,938 ล้านบาทซึ่งเป็นมูลค่าขายสุทธิที่ต่ำที่สุดในรอบ 7 เดือน

·        Forward และ Historical P/E ของตลาดหลักทรัพย์ไทย ณ สิ้นเดือนกรกฏาคม 2563 อยู่ที่ระดับ 21.4 เท่า และ 19.1 เท่าตามลำดับ สูงกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดหลักทรัพย์ในเอเชียซึ่งอยู่ที่ระดับ 16.3 เท่า และ 17.5 เท่าตามลำดับ

·        อัตราเงินปันผลตอบแทน ณ สิ้นเดือนกรกฏาคม 2563 อยู่ที่ระดับ 3.66% สูงกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดหลักทรัพย์ในเอเชียซึ่งอยู่ที่ 3.03%

ภาวะตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้า

·        ในเดือนกรกฎาคม 2563 ตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้ามีปริมาณการซื้อขายเฉลี่ยต่อวัน 397,340  สัญญา ลดลง 20.3% จากเดือนก่อน ที่สำคัญจาก Single Stock Future และ SET 50 Index Futures และในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2563 ปริมาณการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 484,269  สัญญา เพิ่มขึ้น 21.75% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

www.mitihoon.com