JMART ย้ำไม่กระทบมาตรการปรับลดเพดานดอกเบี้ยของแบงก์ชาติ

476

กลุ่มเจมาร์ท ย้ำมาตรการลดดอกเบี้ยที่ประกาศโดยธนาคารแห่งประเทศไทย สินเชื่อบัตรเครดิต ปรับดอกเบี้ยลดลงเหลือ 16% จาก 18% สินเชื่อส่วนบุคคลที่มีวงเงินหมุนเวียน และที่ผ่อนชำระเป็นงวด เหลือ 25% จาก 28% และสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ เหลือ 24% ยืนยันไม่กระทบธุรกิจสินเชื่อของกลุ่มบริษัท ทั้ง J Fintech และ SINGER ส่วน JMT มองโอกาสซื้อหนี้เพิ่มเติมช่วงครึ่งปีหลังนี้ เสริมสร้างการเติบโตของกลุ่มบริษัทในอนาคต

นายอดิศักดิ์ สุขุมวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เจมาร์ท จำกัด (มหาชน) หรือ JMART เปิดเผยถึง ภาพรวมธุรกิจสินเชื่อของกลุ่มบริษัท ภายใต้การบริหารบริษัท เจ ฟินเทค จำกัด และ บริษัท ซิงเกอร์ประเทศไทย จำกัด (มหาชน) ไม่ได้รับผลกระทบมาตรการปรับลดเพดานอัตราดอกเบี้ย ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ประกาศปรับลดเพดานดอกเบี้ยเป็นการทั่วไป ร้อยละ 2 – 4 ต่อปี สำหรับบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับ มีผลตั้งแต่ 1 สิงหาคม 2563 ที่ผ่านมา บริษัทฯ มอง มาตรการครั้งนี้เป็นประโยชน์ในแง่ของการกระตุ้นเศรษฐกิจและกำลังซื้อผู้บริโภค และเพื่อช่วยเหลือประชาชนในสถานการณ์โควิด-19

สำหรับบริษัทในกลุ่มเจมาร์ท ในส่วนของ บริษัท เจ ฟินเทค จำกัด ดำเนินธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคล ในประเทศไทย ไม่ได้กระทบมากนัก เพราะฐานลูกค้าเป็นกลุ่มที่มีรายได้สูง ซึ่งคิดอัตราดอกเบี้ยที่ใช้กับลูกค้ากลุ่มนี้ในระดับต่ำอยู่แล้ว โดยสำหรับกลุ่มลูกค้าที่คิดอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่า 25% มีสัดส่วนมากกว่า 70% ของพอร์ตสินเชื่อรวมทั้งหมดของบริษัท ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ 3,700 ล้านบาท โดยส่วนใหญ่เป็นสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้แบรนด์ “J Money” พร้อมทั้ง มุ่งที่จะสร้างประสบการณ์สินเชื่อใหม่ด้วยการใช้เทคโนโลยีด้าน Fintech

ด้าน บริษัท ซิงเกอร์ประเทศไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SINGER ดำเนินธุรกิจสินเชื่อเงินผ่อน และสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ “รถทำเงิน” ไม่กระทบ เพราะอัตราดอกเบี้ยที่ให้บริการกับลูกค้าไม่ถึงเกณฑ์ที่ 24% ที่แบงค์ชาติประกาศอยู่แล้ว ซึ่งธุรกิจสินเชื่อรถทำเงินปีนี้บริษัทวางเป้าปล่อยสินเชื่อใหม่ที่ 2,000 ล้านบาท ปัจจุบันมีสินเชื่อใหม่เข้ามาอยู่ที่ 1,000 ล้านบาท โดยที่ผ่านมา NPL ของธุรกิจสินเชื่อรถทำเงินมีอัตราที่ต่ำกว่าร้อยละ 1 โดยหากปล่อยสินเชื่อตามแผนจะทำให้พอร์ตสินเชื่อรวมปีนี้อยู่ที่ ประมาณ 5,300 -5,400 ล้านบาท จากปีก่อนมีพอร์ตสินเชื่อรวม 3,600 ล้านบาท

ในด้าน บริษัท เจ เอ็ม ที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส จำกัด (มหาชน) หรือ JMT มองว่าตลาดหนี้ด้อยคุณภาพในช่วงครึ่งปีหลัง จะยิ่งเปิดโอกาสให้บริษัทเข้าซื้อหนี้จากสถาบันการเงินได้มากขึ้น เนื่องจาก JMT เป็นพันธมิตรกับสถาบันการเงินในการรับซื้อหนี้ด้อยคุณภาพ เพื่อที่จะสร้างการเติบโตของธุรกิจของบริษัทในอนาคต ทั้งนี้ช่วงครึ่งปีแรกที่ผ่านมาใช้เงินไปกว่า 2 พันล้านบาทในการซื้อหนี้ด้อยคุณภาพเข้ามาบริหาร ซึ่งมากกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว
“งบไตรมาส 2/2563 ของบริษัทในกลุ่มเจมาร์ทคาดว่าจะเป็นไปตามเป้าหมาย โดยเฉพาะธุรกิจการเงินและธุรกิจบริหารหนี้ ที่โดดเด่น และบริษัทย่อยร่วมในกลุ่มยังคงมีผลประกอบการเติบโต เป็นที่น่าพอใจ แม้จะอยู่ท่ามกลางสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งจะไม่ทำให้นักลงทุนผิดหวัง” นายอดิศักดิ์ กล่าวทิ้งท้าย

www.mitihoon.com