ธุรกิจประกันชีวิตครึ่งแรกปี 63 เบี้ยประกันชีวิตรับรวมติดลบ 3.27%

604

นายสาระ ล่ำซำ นายกสมาคมประกันชีวิตไทย เปิดเผยว่า 6 เดือนแรกปี 2563 (มกราคม – มิถุนายน) ธุรกิจประกันชีวิตมีผลงานเบี้ยประกันภัยรับรวมทั้งสิ้น 285,942.47ล้านบาท คิดเป็นอัตราการเติบโตลดลงร้อยละ 3.27 เมื่อเทียบกับระยะเวลาเดียวกันในปีที่ผ่านมา จำแนกเป็นเบี้ยประกันภัยรับรายใหม่ จำนวน 76,196.28 ล้านบาท อัตราเติบโตลดลงร้อยละ 9.29 และเบี้ยประกันภัยรับปีต่อไปจำนวน 209,746.19 ล้านบาท อัตราเติบโตลดลงร้อยละ 0.88 และมีอัตราความคงอยู่ของกรมธรรม์ประกันชีวิตร้อยละ 81 สำหรับเบี้ยประกันภัยรับรายใหม่

ประกอบด้วย
(1) เบี้ยประกันภัยรับปีแรก จำนวน 49,559.58 ล้านบาท อัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.77
(2) เบี้ยประกันภัยรับชำระครั้งเดียว จำนวน 26,636.70 ล้านบาท อัตราการเติบโตลดลงร้อยละ 24.55

โดยจำแนกเป็นเบี้ยประกันภัยรับตามช่องทางการจำหน่าย ดังนี้ อันดับ 1 การขายผ่านตัวแทนประกันชีวิต จำนวน 142,246.06 ล้านบาท สัดส่วนร้อยละ 49.75 หรือเติบโตลดลงร้อยละ 1.10 เมื่อเทียบกับระยะเวลาเดียวกันในปีที่ผ่านมา ส่วนอันดับ 2 การขายผ่านธนาคาร จำนวน 116,580.46 ล้านบาท สัดส่วนร้อยละ 40.77
หรือเติบโตลดลงร้อยละ 7.35 เมื่อเทียบกับระยะเวลาเดียวกันในปีที่ผ่านมา

อันดับ 3 การขายผ่านช่องทางนายหน้า จำนวน 13,446.58 ล้านบาท สัดส่วนร้อยละ 4.70 หรือเติบโตเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.40 เมื่อเทียบกับระยะเวลาเดียวกันในปีที่ผ่านมา อันดับ 4 การขายผ่านช่องทางโทรศัพท์ จำนวน 6,942.73 ล้านบาท สัดส่วนร้อยละ 2.43 หรือเติบโตเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.92 เมื่อเทียบกับระยะเวลาเดียวกันในปีที่ผ่านมา อันดับ 5 การขายผ่านช่องทางดิจิทัล 328.57 ล้านบาท สัดส่วนร้อยละ 0.11 หรือเติบโตเพิ่มขึ้นร้อยละ 88.01 เมื่อเทียบกับระยะเวลาเดียวกันในปีที่ผ่านมา

อันดับ 6 การขายผ่านช่องทางไปรษณีย์ จำนวน 23.26 ล้านบาท สัดส่วนร้อยละ 0.01 หรือเติบโตลดลงร้อยละ 8.89 เมื่อเทียบกับระยะเวลาเดียวกันในปีที่ผ่านมา อันดับ 7 การขายผ่านช่องทางอื่น ๆ 6,374.79 ล้านบาท สัดส่วนร้อยละ 2.23 หรือเติบโตเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.53 เมื่อเทียบกับระยะเวลาเดียวกันในปีที่ผ่านมา

สำหรับธุรกิจประกันชีวิตไทยในครึ่งหลังของปี 2563 สมาคมประกันชีวิตไทยคาดการณ์ว่าเบี้ยประกันภัยรับรวมจะมีการปรับตัวลดลงมากกว่าปี 2562 ที่ผ่านมา โดยมีอัตราการเติบโตลดลงอยู่ระหว่างร้อยละ 2 ถึง ร้อยละ 5 คิดเป็นเบี้ยประกันภัยรับรวมประมาณ 580,000-600,000 ล้านบาท สอดคล้องกับการคาดการณ์ GDP ของประเทศที่มีการปรับลดลงประมาณ ร้อยละ 6 (ข้อมูล ณ เดือนพฤษภาคม 2563 ของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ) แต่หากภายหลังรัฐบาลมีการผ่อนคลายมาตรการกำกับในการควบคุมไวรัสโควิด -19 รวมถึงสถานการณ์ระบาด ในหลายประเทศมีอัตราผู้ติดเชื้อลดลงในระดับที่ควบคุมได้ ส่งผลให้สภาพเศรษฐกิจปรับตัวดีขึ้น ธุรกิจประกันชีวิตก็จะมีโอกาสเติบโตได้ เนื่องจากประชาชนเริ่มตระหนักและให้ความสำคัญเกี่ยวกับการทำประกันชีวิตและวางแผนประกันสุขภาพเพิ่มมากขึ้น

ส่วนทิศทางผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตนั้น ภาคธุรกิจเริ่มทยอยปรับลดผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตประเภทออมทรัพย์ที่มีการการันตีผลตอบแทนออกจากตลาด เหตุเพราะภาวะดอกเบี้ยต่ำ ทำให้ภาคธุรกิจหาผลตอบแทนให้ลูกค้าได้ยากขึ้น ซึ่งภาคธุรกิจมองว่าแนวโน้มผลิตภัณฑ์นับจากนี้จะเป็นผลิตภัณฑ์ควบการลงทุน Universal Life , Unit Linked , หรือ Participating Policy โดยเน้นการลงทุนตามความเสี่ยงที่ผู้เอาประกันภัยยอมรับได้ รวมถึงผลิตภัณฑ์ที่ให้ความคุ้มครองระยะยาวและประกันสุขภาพ

อย่างไรก็ตามในช่วงปี 2563 – 2564 ภาคธุรกิจยังคงเผชิญกับความท้าทายจากหลากหลายปัจจัย อาทิ สภาวะเศรษฐกิจทั่วโลกหลังไวรัสโควิด – 19 ระบาดยังคงมีความความเปราะบาง ภาวะอัตราดอกเบี้ยต่ำและมีแนวโน้มที่เกิดจุดต่ำสุดใหม่ได้อีก (New low-Yield) ส่งผลกระทบต่อธุรกิจประกันชีวิตในทุกมิติ ทำให้ธุรกิจประกันชีวิตต้องเร่งผนึกกำลังสร้างเกาะป้องกัน และจัดทำแนวทางที่จะบรรเทาผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต อีกทั้งยังมีเรื่องมาตรฐานรายงานทางการเงิน IFRS 17 ที่จะถูกนำมาใช้ในประเทศไทย ปี 2567

ส่งผลให้บริษัทต้องลงทุนเม็ดเงินจำนวนมากทั้งระบบการจัดเก็บข้อมูลการคำนวณทางคณิตศาสตร์ฯ กระบวนการทำงานและบุคลากรที่ปรึกษาในการจัดทำ IFRS 17 รวมถึงการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมและสังคม (Environment Change) ทั้งจากการปรับเปลี่ยนรูปแบบวิถีชีวิตใหม่ (New Normal) การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การเปลี่ยนโครงสร้างประชากร (Aging Society) และการเข้ามาของเทคโนโลยี 5G 6G ทั้งหมดนี้จะเป็นตัวผลักดันให้รูปแบบการดำเนินชีวิตและพฤติกรรมของคนเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ซึ่งธุรกิจประกันชีวิตจะต้องเตรียมพร้อมและจำเป็นต้องปรับตัวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้

นายกสมาคมประกันชีวิตไทย กล่าวเพิ่มเติม ถึงแม้จะได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ระบาด แต่ภาคธุรกิจประกันชีวิตยังคงมีความแข็งแกร่ง และสามารถแปลงวิกฤตให้เป็นโอกาส โดยมีสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 เป็นตัวเร่งให้ภาคธุรกิจเปิดรับการเปลี่ยนแปลง ทั้งระบบเทคโนโลยี แพลตฟอร์มที่ให้บริการ และโมเดลธุรกิจแบบใหม่ รวมถึงผลิตภัณฑ์ ถือเป็นผลกระทบในเชิงบวกกับธุรกิจประกันชีวิตที่ทำให้ได้พัฒนาตัวเอง เพื่อให้กลุ่มผู้บริโภคได้รับผลิตภัณฑ์และการบริการที่ตอบโจทย์ความต้องการของตนเองอย่างแท้จริง