‘ทรีนีตี้’ มองธีมการลงทุนเดือน ส.ค.-เจาะหุ้นเล็ก 6 กลุ่ม

522

 

มิติหุ้น-“ทรีนีตี้” มองหุ้นเดือน ส.ค.แกว่งตัว Sideways หลังดัชนีปรับลงมาอยู่ในระดับที่เหมาะสมในเชิง Valuation มากขึ้น รวมถึงทิศทางของสภาพคล่องภายในที่น่าจะกระเตื้องขึ้น ให้กรอบแนวรับ 1,270 จุด และแนวต้าน 1,360 จุด ประเมินหุ้นขนาดกลาง-เล็กจะ Outperform ตลาดต่อไป เหตุกำไรเติบโตดี แถมพี/อียังต่ำ พร้อมแนะจับตาความไม่แน่นอนจากปัจจัยภายนอก เช่นความเสี่ยงที่ไทยอาจถูกสหรัฐฯขึ้นบัญชีดำประเทศเข้าข่ายแทรกแซงค่าเงิน ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯที่อาจเริ่มอ่อนแรงลง พัฒนาการของขนาดงบดุลธนาคารกลางสหรัฐฯ และการระบาดของ COVID-19 ภายในประเทศ

นายณัฐชาต เมฆมาสิน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ ทรีนีตี้ จำกัด เปิดเผยทิศทางการลงทุนเดือนสิงหาคม 2563 ว่า ดัชนีหุ้นไทยเริ่มอยู่ในระดับที่สมดุลมากขึ้น หลังปรับตัวลงมาช่วงปลายเดือนก.ค. จนล่าสุดอยู่ในบริเวณกึ่งกลางของกรอบที่ให้ไว้ประจำเดือนนี้ กล่าวคือ มีกรอบแนวต้านที่ระดับ 1,360 จุด อิงพี/อี ล่วงหน้าที่ 16.8 เท่าและ EPS ของตลาดปีหน้าที่ 81 บาท ขณะที่มีแนวรับที่ 1,270 จุด อิงพี/อี ล่วงหน้าที่ 15.7 เท่า มองหากดัชนีหลุดระดับ 1,300 จุดลงมา ถือเป็นโอกาสที่ดีสำหรับการทยอยเพิ่มน้ำหนักหุ้นรอบใหม่ หลังแนะนำให้ชะลอการลงทุนมาตลอดช่วงที่ผ่านมา

 “ ตลาดหุ้นเดือน ส.ค.น่าจะได้รับปัจจัยหนุนส่วนหนึ่งจากสภาพคล่องที่จะไหลกลับมาจากตลาดพันธบัตรเข้าสู่ตลาดหุ้นได้ หลังจากวงเงินการประมูลพันธบัตรรัฐบาลในเดือนนี้จะลดลงจากเดือนก่อนอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งน่าจะช่วยลดแรงกดดันการดูดซับสภาพคล่องออกจากตลาดหุ้นที่เกิดขึ้นในรอบ 1 เดือนที่ผ่านมาได้บ้าง ประกอบกับช่วงที่ผ่านมาตลาดหุ้นได้ปรับตัวลดลง จนทำให้ Earning yield gap กระเตื้องขึ้นจากจุดต่ำสุด จึงทำให้ความน่าสนใจของ SET Index เริ่มกลับมาบ้าง ”

สำหรับหุ้นที่สามารถเข้าลงทุน ทรีนีตี้ ยังคงแนะนำหุ้นขนาดกลางและเล็ก เพราะเป็นหุ้นที่มีอัตราการเติบโตของกำไรดีกว่าหุ้นขนาดใหญ่ โดยในปีหน้านักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าหุ้นเหล่านี้จะมีอัตราการเติบโตของกำไรสูงถึง 50-60% เทียบกับอัตราการเติบโตของกำไรของหุ้นขนาดใหญ่ที่อยู่เพียง 20% เท่านั้น ขณะที่ พี/อี ล่วงหน้ายังคงอยู่ในระดับต่ำเพียง 14 เท่า เทียบกับหุ้นใหญ่ที่อยู่ที่ 17 เท่า สะท้อนให้เห็นว่าหุ้นขนาดกลาง-เล็กยังน่าลงทุน แม้ราคาหุ้นจะปรับตัวเพิ่มขึ้นมาแล้วก็ตาม

ส่วนธีมการลงทุนเดือน ส.ค.แนะนำลงทุนในขนาดกลาง-เล็ก 6 กลุ่ม ดังนี้ 1. กลุ่มบริหารหนี้ที่ไม่มีหลักประกัน ได้แก่ JMT และ CHAYO 2. กลุ่มเกษตรและอาหาร ได้แก่ TFG, ASIAN, APURE, SUN, XO 3. กลุ่มปั๊มน้ำมัน ได้แก่ PTG 4. กลุ่มแพคเกจจิ้ง ได้แก่ SFLEX, PTL 5. กลุ่มโรงไฟฟ้าขนาดเล็กที่มีการเติบโตดี ได้แก่ TPCH, SSP และ 6. กลุ่มหุ้นขนาดกลาง-เล็กอื่นที่ยังมี Valuation ถูก เมื่อเทียบกับการเติบโตที่รออยู่ ได้แก่  ILINK, PRM, SMPC

นายณัฐชาต เปิดเผยอีกว่า ปัจจัยเสี่ยงที่จะต้องติดตามในเดือน ส.ค.ซึ่งจะมีผลต่อการลงทุนได้ นั่นก็คือความเสี่ยงที่ประเทศไทยจะถูกประกาศขึ้นบัญชีดำจากสหรัฐอเมริกาเรื่องแทรกแซงค่าเงินหรือไม่ หลังจากที่ไทยได้เข้าข่ายทั้ง 3 เกณฑ์ที่สหรัฐฯตั้งไว้แล้ว โดยหากสหรัฐฯไม่นำไทยเข้าสู่รายชื่อดังกล่าวหรือยังให้เวลาไทยในการแก้ตัวเพื่อหลุดจากเกณฑ์ที่กำหนด ก็น่าจะทำให้นักลงทุนลดความกังวลไปได้ส่วนหนึ่ง แต่ในทางกลับกัน หากไทยเข้าสู่บัญชีดำและนำมาสู่มาตรการกีดกันการค้าของสหรัฐฯในช่วงถัดไป จะกระทบกับภาคการส่งออกของไทยได้ โดยเฉพาะกับสินค้าที่ไทยไม่ได้มีความได้เปรียบ หรือเป็นสินค้าที่สหรัฐฯมีทางเลือกในการนำเข้าจากประเทศอื่นทดแทนได้

นอกจากนี้ยังต้องจับตาตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯที่อาจรายงานออกมาอ่อนตัวในเดือนนี้ โดยเฉพาะตัวเลขการจ้างงาน หลังเริ่มได้รับผลกระทบจากการระบาด COVID-19 รอบสอง ซึ่งอาจทำให้นักลงทุนในตลาดมีความกังวลใจต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอยู่บ้าง อย่างไรก็ดี เชื่อว่าหากตัวเลขออกมาแย่ ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ก็น่าจะพร้อมที่จะอัดฉีดสภาพคล่องเพิ่มเติมได้ หลังจากช่วง 1 เดือนที่ผ่านมาเฟดได้มีการเก็บกระสุนผ่านการลดขนาดงบดุล (Balance sheet) มาโดยตลอด

ส่วนประเด็นสุดท้ายซึ่งถือเป็นปัจจัยเสี่ยงที่มีโอกาสเกิดขึ้นน้อย แต่หากเกิดขึ้นจะมีผลกระทบรุนแรงนั่นก็คือ การระบาดของ COVID-19 รอบสองภายในประเทศ ซึ่งหากเกิดขึ้นจริง คาดว่า SET Index จะถูกกดดันจากแรงขาย Panic sell ในช่วงแรก คล้ายๆกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับตลาดหุ้นเวียดนามในช่วงปลายเดือนก.ค.ที่ผ่านมา

www.mitihoon.com