จับตาอนาคต Health Data Scientist ดาวรุ่งยุคเทคโนโลยีดิสรัป

990

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาการถาโถมของเทคโนโลยีดิจิทัล ได้สร้างการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ในหลายอุตสาหกรรมมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการเปลี่ยนแปลงที่ลงลึกถึงระดับโครงสร้างอุตสาหกรรม ที่ถูกเรียกว่าเป็น ยุคเทคโนโลยีดิสรัปชั่น (Technology Disruption) นี้ เกิดขึ้นทั้งในวงการสื่อ การธนาคาร การค้าปลีก การขนส่งโลจิสติกส์ มาจนถึงช่วงวิกฤตการณ์โควิด-19 ที่เป็นเสมือนขุมพลังที่ทำให้การเปลี่ยนแปลงนี้ขยับขยายมาสู่โลกของการศึกษาและการทำงาน ที่ต้องหันมาใช้เทคโนโลยีกันอย่างไม่อาจเลี่ยงได้ หนึ่งในนั้นคือวงการแพทย์และการสาธารณสุข ตามที่เราได้เห็นข่าวคราวการใช้เทคโนโลยีในด้านนี้มาโดยตลอดนับตั้งแต่โควิด-19 ได้เริ่มระบาดไปทั่วโลก

แม้ว่าระบบการแพทย์และสาธารณสุขของไทยจะได้รับการยกย่องว่ามีมาตรฐานที่ดี แต่การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้จะจบลงที่ตรงไหน? และสาขาอาชีพต่างๆ ในวงการแพทย์และการสาธารณสุข ต้องเตรียมพร้อมในการสร้างบุคลากรผู้เชี่ยวชาญในการรับมือ เพื่อให้เดินหน้าต่อไปอย่างไร? ศ.นพ.นิธิ มหานนท์ อธิการบดีวิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ (ววจ.) ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ให้คำตอบสำหรับเรื่องนี้ไว้ได้อย่างน่าสนใจ

Data… AI… 5G… จุดเปลี่ยนสู่การแพทย์แห่งอนาคต

ศ.นพ.นิธิ มหานนท์ เริ่มต้นด้วยการชี้ชวนให้เห็นถึงเทคโนโลยีที่ถูกนำมาใช้ในช่วงโควิด-19 “เราจะเห็นได้ชัดเจนว่ามีการนำ Data Technology และ AI มาใช้ เพื่อประเมินและคาดการณ์สถานการณ์การระบาดของโรค โดยเฉพาะในต่างประเทศ ซึ่งหากมาพิจารณาให้ลึกลงไปแล้ว การแพร่ระบาดของโรคในแต่ละประเทศก็มีความแตกต่างกันไปตามสภาพแวดล้อม สังคม และวัฒนธรรมด้วย

ดังนั้น ข้อมูลจากประเทศหนึ่งอาจไม่สามารถนำมาวิเคราะห์กับอีกประเทศหนึ่งได้ ยกตัวอย่างเช่น ญี่ปุ่นประชากรนั่งรถไฟฟ้าหนาแน่น แต่การแพร่ระบาดน้อย ซึ่งอาจเป็นเพราะคนญี่ปุ่นใส่หน้ากากอนามัยกันเป็นปกติ ไม่พูดคุยกัน ก้มหน้าเล่นมือถือหรืออ่านหนังสือขณะที่ประเทศจีนมีตลาดสด ร้านภัตตาคาร ผู้คนเดินกันพลุกพล่าน มีการพูดคุยกัน อยู่กันอย่างแออัด อากาศไม่หมุนเวียน รูปแบบการระบาดจึงแตกต่างกัน

สำหรับในประเทศไทยเอง เรามีอาสาสมัครสาธารณสุขชุมชน ที่มีบทบาทสำคัญที่ช่วยควบคุมการระบาด ซึ่งต่างประเทศไม่มี แต่ที่ผ่านมาประเทศไทยยังขาดการรวบรวม Data ที่สำคัญเหล่านี้อย่างเป็นระบบ เป็นของประเทศเราเอง คาดว่าจากโควิด-19 หลายฝ่ายในประเทศเราจะหันมาให้ความสำคัญกับเรื่อง Data ในการแพทย์และสาธารณสุขมากขึ้น”

“เทคโนโลยีอย่าง AI ก็จะเข้ามามีบทบาทสำคัญในวงการแพทย์มากขึ้น ช่วยในการวิเคราะห์วินิจฉัยโรคให้มีความแม่นยำขึ้น โดยอิงจาก Big Data ที่มีอยู่ การมาถึงของ 5G ก็จะทำให้ Telemedicine เกิดขึ้นเร็วขึ้น ผมเชื่อว่าในอนาคตผู้ป่วยอาจไม่ต้องมาถึงที่โรงพยาบาล แต่อาจจะมีอุปกรณ์ที่เขาสามารถตรวจวัดร่างกายหรือเจาะเลือดเองได้ที่บ้าน แล้วส่งข้อมูลมาที่โรงพยาบาล และพูดคุยทางไกลกับหมอ เพื่อรับคำปรึกษา และเดินทางมาที่โรงพยาบาลเท่าที่จำเป็นจริงๆ ซึ่งหากเทคโนโลยีนี้เกิดขึ้นจริง ก็จะช่วยลดความแออัดในโรงพยาบาลได้มาก และช่วยให้หมอสามารถทำการรักษาได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น”

“ปัจจุบันนี้ข้อมูลของผู้ป่วย จะถูกเก็บในเวชระเบียนโดยโรงพยาบาล ซึ่งมีการเปลี่ยนไปอยู่ในรูปแบบดิจิทัลเกือบสมบูรณ์แล้ว ในอนาคตมีความเป็นไปได้ว่าข้อมูลเหล่านี้จะเปลี่ยนกลับไปอยู่ในมือของผู้ป่วยแทน และผู้ป่วยจะมีอำนาจในการตัดสินใจว่าใครจะสามารถเข้าถึงข้อมูลของตนเองได้บ้าง ผู้ป่วยจะมีสิทธิรู้ข้อมูลทุกอย่างของตนเอง ไม่ได้ขึ้นอยู่กับการบอกหรือไม่บอกของหมออีกต่อไป”

Health Data Scientist อาชีพดาวรุ่งดวงใหม่

วิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ (ววจ.) ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ก็ได้เล็งเห็นถึงความเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้นอย่างไม่สามารถเลี่ยงได้นี้ จึงจัดตั้ง หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิทยาศาสตร์ข้อมูลสุขภาพ หรือ Health Data Science ขึ้น เพื่อเตรียมรับมือกับโลกอนาคต ภายใต้ความร่วมมือระหว่างคณะแพทยศาสตร์และการสาธารณสุข วิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ และคณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี

“ในต่างประเทศ ใครที่จบวิทยาศาสตร์ข้อมูลสุขภาพ เป็นสาขาที่บรรดาบริษัทยารีบคว้าตัวไว้เลย เพราะเป็นสาขาที่สำคัญมากในการคิดนวัตกรรมใหม่ๆ แต่สำหรับในไทย ใครที่จบสาขานี้สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับวงการแพทย์และสาธารณสุขในระดับชาติได้เลย เพราะการที่เรามี Data เป็นจำนวนมาก เราต้องอาศัยการวิเคราะห์ เพื่อนำมาใช้ให้เป็นประโยชน์ต่อการรักษาผู้ป่วย ดังนั้น คนที่อยู่ในอาชีพต้องมีความรู้ที่ผสานกัน ทั้งในด้านการแพทย์และเทคโนโลยี ต้องมีวิธีคิดที่เป็นระบบแบบนักวิทยาศาสตร์ เพื่อที่จะวิเคราะห์หาคำตอบของปัญหาจากข้อมูลนับล้านๆที่อยู่ตรงหน้าได้ คนในอาชีพนี้สามารถทำงานได้ตั้งแต่ระดับปฏิบัติการ ทำงานร่วมกับหมอและพยาบาล ไปจนถึงในระดับนโยบาย สามารถช่วยในการวางแผนนโยบายการสาธารณสุขได้ตั้งแต่ระดับท้องถิ่นไปจนถึงระดับชาติ”

หมอ-พยาบาล แบบไหน?…ที่อนาคตต้องการ

อีกหนึ่งคำถามที่สำคัญ คือแพทย์และพยาบาล จะต้องปรับตัวอย่างไรท่ามกลางคลื่นของดิสรัปชั่นนี้ “ก่อนอื่นต้องมองว่าเทคโนโลยีต่างๆ ที่เข้ามา ไม่ได้มาเพื่อควบคุมการทำงานของหมอและพยาบาล แต่ความก้าวหน้าเหล่านี้เป็นเครื่องมือที่เขาต้องควบคุมมันและใช้ให้เกิดประโยชน์ ประการที่สองคือเทคโนโลยีเหล่านี้ไม่สามารถทดแทนมนุษย์ได้ เพราะท้ายที่สุดแล้วผู้ป่วยก็อยากได้รับการดูแลรักษาหรือได้คำปรึกษาจากมนุษย์ด้วยกัน มนุษย์ที่สามารถจะเข้าใจความรู้สึกกันและกันได้ ต่างจากหุ่นยนต์หรือปัญญาประดิษฐ์ ที่ไม่มีทางเข้าใจความรู้สึกของความเป็นมนุษย์ที่ละเอียดอ่อนได้เลย”

“เป้าหมายของ ววจ. ในวันนี้คือการสร้างบุคลากรการแพทย์และสาธารณสุข ที่มีความเป็นมนุษย์ มี Empathy ต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน สามารถมองลึกลงไปถึงความรู้สึก เข้าใจความเป็นทุกข์ของผู้ป่วยได้ และตระหนักว่าความรู้ความสามารถที่ใช้ในการรักษานั้น ลึกลงไปคือการช่วยให้คนได้พ้นทุกข์ สองคือต้องพร้อมรับในความเปลี่ยนแปลง รู้จักการใช้เทคโนโลยีใหม่ๆให้เกิดประโยชน์ สามคือรู้จักคิด วิเคราะห์อย่างเป็นระบบ มีกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งนี้เป็นเสมือนอาวุธที่ติดตัวไว้ ไม่ว่าจะมีโรคอุบัติใหม่อีกกี่ครั้งก็จะสามารถแก้ปัญหาได้ รวมทั้งเป็นพื้นฐานของการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆให้การรักษา และท้ายที่สุดคือต้องรู้จักสร้างความร่วมมือกับบุคลากรในสายงานอื่น ทำงานเป็นทีม เพื่อแก้ปัญหาร่วมกันและสร้างพัฒนาการใหม่ๆให้เกิดขึ้น” ศ.นพ.นิธิ กล่าวทิ้งท้าย