วิกฤตอุตสาหกรรมการบินโลกในยุคโควิด-19

407

มิติหุ้น-สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทั่วโลกในขณะนี้ยังมีความรุนแรง  และยังไม่มีแนวโน้มที่ดีขึ้น แต่อย่างใด สาเหตุหลักน่าจะมาจากในบางประเทศมีการควบคุมการแพร่ระบาดในช่วงต้นที่ไม่มีประสิทธิภาพหรือท่วงทันต่อเหตุการณ์ อาทิ เช่น การไม่บังคับหรือรณรงค์ให้ประชาชนใส่หน้ากากอนามัยในหลายๆประเทศ ซึ่งเมื่อการระบาดได้ลุกลามและแพร่ไปในวงกว้างแล้ว มาตรการต่างๆของรัฐในการป้องกันการแพร่ระบาด แม้ว่าจะเพิ่มขึ้นมากเพียงใด ก็ไม่สามารถที่จะควบคุมการแพร่ระบาดได้ หากอ้างอิงข้อมูลจากเว็บไซต์ World meters จำนวนผู้ติดเชื้อใหม่ทั่วโลกมีประมาณ 170,000 คนต่อวัน สำหรับวันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2563 ซึ่ง 1 เดือนก่อนหน้านั้น จำนวนผู้ติดเชื้อใหม่ทั่วโลกมีเพียงประมาณ 125,000 คนต่อวันเท่านั้น โดยประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นประเทศที่มีผู้ติดเชื้อใหม่ต่อวันสูงที่สุดในโลก นอกจากนี้การระบาดในประเทศสหรัฐอเมริกายังเป็นเพียงการระบาดระลอกที่ 1 เท่านั้น  ซึ่งหลายประเทศ การระบาดได้เข้าสู่ระลอกที่ 2 ไปแล้ว อาทิเช่น ประเทศญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สิงคโปร์ อิหร่าน ฯลฯ ดังนั้น ข้อมูลเหล่านี้ แสดงให้เห็นชัดเจนว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทั่วโลกยังเลวร้ายอย่างมาก

สำหรับอุตสาหกรรมการบิน คงเป็นความจริงที่ต้องยอมรับว่า ธุรกิจการบินในปีนี้หรือแม้แต่ในปีหน้า คงไม่สามารถมีรายได้ใกล้เคียงกับรายได้ในยุดก่อนเกิดการระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยสาเหตุหลักมาจาก ความต้องการเดินทางทั้งในและระหว่างประเทศที่ลดลงอย่างมหาศาล ในมุมมองของผู้โดยสาร การเดินทางโดยสายการบินมีความเสี่ยงสูงที่จะติดเชื้อไวรัสโควิด-19 เพราะผู้โดยสารต้องอยู่ในสภาพอากาศปิดเป็นเวลานาน นอกจากนี้ พิษจากวิกฤตโควิด-19 ที่ได้ลุกลามทำให้เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยอย่างรุนแรง ก็ทำให้ประชาชนและภาคธุรกิจต้องลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางลงเป็นอย่างมาก

ดังนั้นเราจึงเริ่มได้ยินข่าวว่า สายการบินจำนวนมากทยอยเข้าสู่กระบวนการล้มละลายตามกันไป ไม่ว่าจะเป็น สายการบิน Virgin Australia ที่ใหญ่เป็นอันดับที่สองของประเทศออสเตรเลีย สายการบิน Latam Airlines และ สายการบิน Avianca Airlines ซึ่งเป็นสายการบินอันดับหนึ่งและสองในลาตินอเมริกา สายการบิน Flybe ซึ่งเป็นสายการบิน Low Cost ชั้นนำของประเทศอังกฤษ และสำหรับประเทศไทยเอง แม้ว่าประเทศเราจะสามารถควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้เป็นอย่างดี แต่ การบินไทย ซึ่งถือได้ว่าเป็นสายการบินแห่งชาติ และ สายการบินนกสกู๊ต (Nok Scoot) ก็ทยอยปิดกิจการหรือเข้าสู่กระบวนการล้มละลาย (เข้ากระบวนการของ chapter11 หรือ chapter7) ตามกันไป

ในบทความนี้คณะผู้เขียนมีความตั้งใจที่จะฝากข้อคิด 3 ประการ หรือ 3 R สำหรับการฝ่าวิกฤตอุตสาหกรรมการบินโลกในยุคโควิด-19 ที่คณะผู้เขียนสังเคราะห์มาจากประสบการณ์ที่ได้จากการมีปฏิสัมพันธ์กับนักธรุกิจหรือนิสิตนักศึกษาในสาขาบริหารธุรกิจทั้งในและต่างประเทศ จากการฝึกอบรมและให้คำปรึกษามาเป็นเวลากว่า 15 ปี

ข้อคิดประการที่ 1: Recognize

R ที่ 1 คือ Recognize ผู้นำในธุรกิจที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักอย่างเช่น ธุรกิจการบินจะต้องยอมรับ “ปัญหา” อย่างจริงใจและโดยเร็วที่สุด เพราะปัญหาที่สำคัญประการหนึ่งในภาวะวิกฤตขององค์กร คือ ผู้นำจะพยายามไม่ยอมรับปัญหาหรือพยายามกลบเกลื่อน ทั้งการกลบเกลื่อนข้อมูลซึ่งเป็นเรื่องที่ผิดกฎหมาย หรือ การใช้วาทศิลป์ในการหว่านล้อมผู้มีส่วนได้ส่วนเสียว่า สถานการณ์นั้นมิได้เลวร้าย ซึ่งปรากฏการณ์นี้ มีชื่อเรียกว่า Disaster Neglect Bias หรือ ความพยายามไม่อยากยอมรับสถานการณ์วิกฤต ซึ่งการยอมรับปัญหาอย่างจริงใจและโดยเร็วที่สุด จะเป็นการช่วยเตรียมพร้อมในการเข้าสู่กระบวนการล้มละลายหรือการปรับองค์กรครั้งใหญ่ที่ผู้นำเองก็ “รู้อยู่แก้ใจ” ว่าหลีกเลี่ยงไม่ได้

ข้อคิดประการที่ 2: Revise

R ที่ 2 คือ Revise  ธุรกิจที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักอย่างเช่น ธุรกิจการบินจะต้องปรับตัวและใช้ทรัพยากรที่เป็นต้นทุนคงที่ หรือ Fixed Cost ในการเพิ่มรายได้หรือสร้างประโยชน์อื่นให้มากที่สุด อาทิเช่น การเน้นบริการขนส่งสินค้าทางอากาศมากขึ้น การปรับโรงครัวของสายการบิน มาให้บริการขายอาหารเดลิเวอรี่ เป็นการช่วยให้สายการบินมีรายได้เพิ่มขึ้นไม่มากก็น้อย อย่างไรก็ตาม การปรับตัวแบบนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะทั้งผู้บริหารและพนักงานอาจติดอยู่ใน Comfort Zone ของการทำงานในรูปแบบเก่าๆ ซึ่งจะเป็นโจทย์ที่ท้าทายสำหรับผู้นำในองค์กร ที่จะจูงใจให้ทั้งผู้บริหารและพนักงานออกจาก Comfort Zone และหันมาร่วมมือหาทางแก้ปัญหาเร่งด่วน หาวิธีการที่อาจจะต้องออกจากกรอบการทำงานแบบเดิมๆ เพื่อต่อลมหายใจธุรกิจการบินที่น่าจะได้รับผลกระทบจากวิกฤต โควิด-19 เป็นเวลาอีกนาน

ข้อคิดประการที่ 3: Rethink

R ที่ 3 คือ Rethink ธุรกิจที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักอย่างเช่น ธุรกิจการบินจะต้อง “คิดใหม่” ว่ารูปแบบธรุกิจขององค์กรนั้นมีความยืดหยุ่น (Resilience) ที่ดีพอแล้วหรือยัง และคุณค่าที่ธุรกิจมอบให้กับลูกค้า หรือ Value Proposition นั้นยังคงมีความสำคัญในยุควิถีชีวิตใหม่หรือไม่ อาทิเช่น การวางแผนธุรกิจเมื่อสถานการณ์การระบาดโควิด-19 คลี่คลายลงจะดำเนินการอย่างไรที่จะให้ผู้โดยสารมีความเชื่อมั่นและปลอดภัยจากโควิด-19

นอกจากนี้การที่ธรุกิจมีรายได้หลักอยู่เพียงไม่กี่ทางหรือกลุ่มลูกค้าไม่กี่กลุ่ม การที่องค์กรมีต้นทุนคงที่ หรือ Fixed Cost ที่มากเกินไป หรือ การที่โครงสร้างองค์กรทำให้กระบวนการตัดสินใจนั้นเชื่องช้าไม่สามารถปรับตัวได้ทันกับการเปลี่ยนแปลง ก็น่าจะเป็นสิ่งที่องค์กรต้องคิดใหม่

แม้ว่าสถานการณ์ของอุตสาหกรรมการบินจะน่ากังวลเป็นอย่างมาก แต่ถ้ามองอีกมุมหนึ่ง วิกฤตอุตสาหกรรมการบินโลกในครั้งนี้ ก็อาจจะถือเป็นการเตือน (ครั้งสุดท้าย) ให้ธุรกิจสายการบินได้ปรับตัวและคิดใหม่ ให้สอดคล้องกับ Disruptions ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น จากเทคโนโลยีดิจิทัล จากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางประชากร หรือ แม้แต่จากการเกิดวิถีชีวิตใหม่จากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ก็ตาม สุดท้ายนี้คำกล่าวของ ชาลส์ ดาวินส์ (Charles Darwin) นักธรรมชาติวิทยา ผู้ที่มีผลงานโดดเด่นในเรื่องทฤษฎีวิวัฒนาการ ที่กล่าวไว้ว่า สิ่งมีชีวิตที่สามารถอยู่รอด ไม่ใช่สิ่งมีชีวิตที่แข็งแรงที่สุด และไม่ใช่สิ่งมีชีวิตที่ฉลาดที่สุด แต่เป็นสิ่งมีชีวิตที่ “ปรับตัว” ได้ดีที่สุด น่าจะเป็นข้อคิดที่เหมาะสมกับสถานการณ์วิกฤตอุตสาหกรรมการบินโลกในยุคโควิด-19 เป็นอย่างดี

บทความนี้เขียนโดย

  1. ผศ.ดร. ปิยะชาติ ภิรมย์สวัสดิ์
  2. ศ.ดร. ศิริมล ตรีพงษ์กรุณา
  3. ศ.ดร. ภรสิษฐ์ จิราภรณ์
  4. รศ.ดร. พัฒนาพร ฉัตรจุฑามาส
  5. ผศ.ดร. ภัทเรก ศรโชติ

www.mitihoon.com