เปิดเวทีเสวนาออนไลน์ครั้งแรกประวัติศาสตร์ “The Rising of Chinese Tourist Forum” โดย DigiLink Thailand

118

มิติหุ้น –  เปิดเวทีเสวนาออนไลน์ “The Rising of Chinese Tourist Forum” ในหัวข้อ The Rebound of Chinese Travelers, The Reborn of Thai Economy  ภายใต้ความร่วมมือของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.), สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน)(ทีเส็บ) , ตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ, บริษัท เอวี โปรเจคท์ จำกัด , บริษัท ดิจิลิ้งก์  (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัท ฟูลริช พับบลิค จำกัด ผ่านพ้นไปแล้วโดยมีผู้ประกอบการธุรกิจด้านท่องเที่ยว โรงแรม ค้าปลีก สินค้าและบริการเข้าร่วมรับฟังกว่า 1 หมื่นราย

โดยนายพิพัฒน์  รัชกิจประการ  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ให้เกียรติเป็นประธานเปิดงาน พร้อมกล่าวถึงนโยบายของภาครัฐในการคลายล็อกเฟส 6 ว่า มาตรการคลายล็อกเฟส 6 ของรัฐ เปิดให้ชาวต่างชาติเดินทางเข้ามาเมืองไทยได้ใน 4 กลุ่ม ได้แก่ 1. กลุ่มที่เข้ามาจัดแสดงสินค้า ประชุม นิทรรศการ หรืออุตสาหกรรมไมซ์ในไทย  2. กลุ่มที่เดินทางเข้ามาถ่ายทำภาพยนตร์  3. กลุ่มที่เดินทางเข้ามารักษาพยาบาล หรือ เมดิคัล เวลเนส และ 4. กลุ่มไทยแลนด์ อีลิท การ์ด ซึ่งปัจจุบันมีสมาชิกราว 10,000 คน แบ่งเป็นคนไทย 3,000 คน และต่างชาติ 7,000 คน โดยชาวต่างชาติทุกกลุ่มที่จะเดินทางเข้ามาประเทศไทยจะต้องปฏิบัติตามมาตรการของภาครัฐ อาทิ การกักตัว 14 วัน  , การท่องเที่ยวตามเส้นทางที่กำหนด เป็นต้น

“ในปี 2562 นักท่องเที่ยวชาวจีนเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยราว 11 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 27 ของนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมดที่เดินทางมาท่องเที่ยวในประเทศไทย ถือเป็นกลุ่มที่มีความสำคัญต่อการท่องเที่ยวของประเทศไทย ซึ่งภาครัฐเองให้ความสำคัญและพร้อมสนับสนุนและส่งเสริมให้เดินทางกลับเข้ามาท่องเที่ยวในเมืองไทย ซึ่งวันนี้นักท่องเที่ยวชาวจีนมั่นใจด้านความปลอดภัยได้ เพราะไทยมีมาตรฐานความปลอดภัยด้านสุขอนามัย Amazing Thailand Safety & Healthy Administration (SHA)  ที่มีการตรวจสอบอย่างเข้มข้นทั้งในสินค้าและบริการต่างๆ”

นายสันติ  แสวงเจริญ  รองผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชียตะวันออก การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวภายใต้หัวข้อ  Wha : อะไร.. คือโอกาสที่กำลังกลับมาพร้อมนักท่องเที่ยวชาวจีน และอะไรคือมาตรการรับมือการท่องเที่ยวยุค New Normal ในประเทศไทยว่า วันนี้ททท. มีสำนักงานอยู่ในจีนรวม 5 แห่ง มากที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับจีน โดยทั้ง 5 แห่ง ได้แก่ ปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้  กวางโจว  เฉินตู  และคุณหมิง ครอบคลุมทุกภาคของประเทศจีน

อย่างไรก็ดี พฤติกรรมนักท่องเที่ยวชาวจีนหลังเกิดวิกฤติโควิด-19 หรือวิถี New Normal พบว่า 1. การใช้ชีวิต การท่องเที่ยวทุกอย่างจะไม่เหมือนเดิม 2. กลุ่มผู้สูงวัยและเด็ก จะลดการท่องเที่ยวลงเพราะมีความเสี่ยงในการติดเชื้อสูง 3. รูปแบบการท่องเที่ยวจะถูกควบคุมทุกอย่าง  4. รูปแบบการท่องเที่ยวจะเปลี่ยนไป กลุ่มเล็กลง จากเดิมที่เป็นกลุ่มทัวร์ จะเปลี่ยนเป็นกลุ่ม FIT  (Free Independent Traveler) ระยะเวลาในการเดินทางจะเน้นระยะสั้น  และเลือกท่องเที่ยวในรูปแบบของเฮลท์ ทัวริสต์ซึม เป็นต้น

ขณะที่แผนการดำเนินงานของททท. จะแบ่งออกเป็น 2 ส่วนคือ 1. Rebrand  สร้างความมั่นใจให้นักท่องเที่ยวกลับมาได้อย่างสบายใจ การสร้างให้เป็น Top of Mind  ขณะที่ประเทศญี่ปุ่นก็ส่งเสริมและกระตุ้นด้านการท่องเที่ยวมาอย่างต่อเนื่อง เช่นเดียวกับเกาหลี และเวียดนามที่หันมาจับกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวจีนมากขึ้นด้วย 2. Rebound  เน้นการทำกิจกรรมต่างๆ ในกลุ่ม Millennial ที่มีอายุ 24-39 ปี ทั้งกลุ่มคนทำงาน  ผู้หญิง  ครอบครัวรุ่นใหม่  กลุ่มแต่งงานใหม่ มีการกำลังซื้อแข็งแรง  ซึ่งมีจำนวนราว 400 ล้านคน อีกกลุ่มได้แก่ กลุ่มนิช  หรือกลุ่มเฉพาะได้แก่ 1. กลุ่ม เฮลท์ แอนด์ เวลเนส ที่เดินทางเข้ามาใช้บริการทางการแพทย์ และดูแลสุขภาพ อาทิ โรงพยาบาล , สปา ฯลฯ 2. กลุ่มสปอร์ต ทัวริสซึม เช่น กอล์ฟ มาราธอน มวยไทย 3. กลุ่มลักชัวรี ปัจจุบันชาวจีนมีเศรษฐีใหม่เกิดขึ้นจำนวนมากและเป็นกลุ่มที่เดินทางท่องเที่ยวไปทั่วโลก และ 4.  กลุ่มโรแมนซ์ ชาวจีนที่เดินทางมาท่องเที่ยวพร้อมฮันนีมูน  , พรีเวดดิ้ง ฯลฯ

ทั้งนี้ผู้ประกอบการไทยจำเป็นต้องเตรียมความพร้อมในการรองรับกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวจีน ไม่ว่าจะเป็นการจัดทำโมบาย แอพพลิเคชั่น , เว็บไซต์ เป็นภาษาจีน  , การประชาสัมพันธ์ผ่านโซเชียล มีเดีย อาทิ Wechat ,  Weibo  , TikTok  ฯลฯ ,  การทำ KOL Influence จีน  , การใช้ Mobile Payment  , การสื่อสารภาษา จีน และการพัฒนาสินค้าใหม่เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวชาวจีน เป็นต้น

ขณะที่นายจิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงาน ส่งเสริมการจัดการประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) (ทีเส็บ)  กล่าวในหัวข้อ What : อะไร…คือแนวทางในการปรับตัวของ MICE Tourism และ แนวโน้มของอุตสาหกรรมไมซ์ ที่น่าจับตามองหลังวิกฤติการณ์โควิด-19 ว่า อุตสาหกรรมไมซ์ จะเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่ขับเคลื่อนให้ธุรกิจท่องเที่ยวกลับมาหลังวิกฤติโควิด-19 คลี่คลาย โดยเฉพาะหลังจากที่ภาครัฐผ่อนปรนเฟส 6 ให้การจัดประชุม งานแสดงสินค้า อีเว้นท์กลับมาจัดได้อีกครั้ง

โดยที่ผ่านมากลุ่มนักท่องเที่ยวชาวจีนเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวทั้งในรูปแบบการประชุม (Meeting) , การท่องเที่ยวเพื่อเป็นรางวัล (Incentive Travel) , การประชุมนานาชาติ (Convention)  , การแสดงสินค้า/นิทรรศการ (Exhibition) , เทศกาลนานาชาติหรือเฟสติวัล (Mega Events and World Festivals)

“วันนี้ประเทศไทยถือเป็นประเทศแรกๆ ที่มีการจัดอีเว้นท์ เช่น งานมอเตอร์โชว์ ในรูปแบบ New Normal  นอกจากนี้ยังมีคอนเสิร์ต ซึ่งอนาคตหลังผ่อนปรนเฟส 6 และเปิดให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาได้ กลุ่มนักท่องเที่ยวชาวจีนจะเป็นกลุ่มแรกที่เข้ามา ทั้งการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม การผจญภัย การท่องเที่ยวอินเซนทีฟ  หรือการจัดคอนเสิร์ต ซึ่งที่ผ่านมามีนักท่องเที่ยวชาวจีนเข้ามาจัดคอนเสิร์ต EDM จำนวนกว่า 20,000 คนมาแล้ว โดยการจัดงานไมซ์ นอกจากจะสร้างเม็ดเงินให้กับประเทศแล้ว ยังช่วยกระจายรายได้สู่ชุมชนด้วย”

นอกจากนี้ทีเส็บ ยังสนับสนุนให้นำนวัตกรรมเข้ามาใช้ในการอุตสาหกรรมไมซ์ ไม่ว่าจะเป็น การประชุมสัมมนาเสมือนจริงผ่านระบบออนไลน์ (WEBINAR) , การจัดแสดงสินค้าผ่านระบบออนไลน์ (ONLINE TO OFFLINE : O2O) และการสนับสนุนคอร์สฝึกอปรมออนไลน์ E-LEARNING  ด้วย

ด้านนางสาวพรรณอวิกา ลิมปะพันธุ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ดิจิลิ้งก์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวในหัวข้อ Who: เจาะลึกพฤติกรรมหลากหลายของนักท่องเที่ยวชาวจีน ว่า จากข้อมูลของหม่า เฟิง หว่อ พบว่า กลุ่มนักท่องเที่ยวชาวจีนที่เดินทางมาท่องเที่ยวในเมืองไทยเป็นกลุ่มทัวร์คิดเป็นสัดส่วน 30% ส่วนอีก 70% เป็นกลุ่ม FIT  ซึ่งเป็นกลุ่มที่ความหยืดหยุ่นสูง และเป็นกลุ่มอันดับต้นๆ ที่จะเดินทางกลับเข้ามาท่องเที่ยวในเมืองไทยหลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายและประเทศไทยเปิดให้เดินทางท่องเที่ยวได้

ขณะที่พฤติกรรมนักท่องเที่ยวชาวจีนจะเปลี่ยน โดยกลุ่ม FIT จะเป็นกลุ่มเล็ก จึงต้องมีการแยกเซกเม้นท์ที่ชัดเจน ได้แก่ 1. กลุ่ม Super Luxury  เดิมมีสัดส่วน 30% ปัจจุบันเพิ่มขึ้นเท่าตัว            เป็นกลุ่มที่มีอัตลักษณ์ มีความเป็นมินิมอล จึงต้องการความพิเศษที่แตกต่างเฉพาะบุคคล การสร้างความประทับใจจะทำให้พิชิตใจได้ 2. กลุ่ม Adventurers  เป็นกลุ่มที่นิยมท่องเที่ยวในรูปแบบ Road Trip , one day trip ,  Self – driving  จึงนิยมท่องเที่ยวที่แตกต่าง มีความท้าทาย  3. กลุ่ม Value Seeker  การท่องเที่ยวแบบ Culture , Arts   หรือเฉพาะกลุ่ม เช่น ครอบครัว ฯลฯ และ 4. กลุ่ม Revitalizer  กลุ่มที่มาเที่ยวเพื่อบำบัดตัวเอง เน้นพักผ่อนระยะยาว อาทิ กลุ่มเบบี้บูมเมอร์ , กลุ่ม Medical travelers  , Medi-spa เป็นต้น

นายภากร  กัทชลี เจ้าของเพจ “อ้ายจง” กล่าวในหัวข้อ “Why : เจาะใจนักท่องเที่ยวจีน อะไรที่ทำให้ประเทศไทย เป็นสถานที่ท่องเที่ยวอันดับหนึ่งในใจคนจีน” ว่า จากจุดเริ่มต้นที่นักท่องเที่ยวจีนเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในไทยในรูปแบบทัวร์ศูนย์เหรียญ แต่หลังจากที่มีการส่งออกละครไทย ซีรี่ย์ไทย ชาวจีนจึงนิยมเดินทางมาท่องเที่ยวเมืองไทยมากขึ้น อีกทั้งการบอกต่อแบบปากต่อปาก ทำให้ประเทศไทยเป็นเดสติเนชั่นที่นักท่องเที่ยวชาวจีนนิยมเดินทางมาต่อเนื่อง

โดยปัจจัยที่ทำให้นักท่องเที่ยวชาวจีนนิยมมาเมืองไทย นอกจากความสัมพันธ์ที่ดีในฐานะไทย-จีนพี่น้องกันแล้ว อัธยาศัยที่ดี อาหารที่อร่อย  สินค้าที่มีคุณภาพ มีความสวยงาม ความสะดวก ความคุ้มค่ากับราคา และผลที่ได้รับที่เหนือความคาดหมาย ทำให้นักท่องเที่ยวชาวจีนนิยมและชื่นชอบประเทศไทย และไทยจะเป็นตัวเลือกอันดับ 1 เมื่อชาวจีน ต้องการเดินทางท่องเที่ยวในต่างประเทศ อย่างไรก็ดี การประชาสัมพันธ์ให้ข่าวสารข้อมูลต่างๆ โดยเฉพาะผ่านทางโซเชียล มีเดียถือว่ามีความสำคัญ เพราะชาวจีนเองเข้าถึงโซเชียล มีเดียในทุกรูปแบบ

รายละเอียดเพิ่มเติม www.digilinkthailand.com หรือ https://www.facebook.com/DigilinkThailand/

www.mitihoon.com