ราคาน้ำมันดิบทรงตัว หลังโอเปกพลัสลดกำลังการผลิตตามแผน ท่ามกลางความกังวลของการแพร่ระบาดระลอก 2

70

ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 38 – 43 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 40 – 45 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

 

แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ (20 – 24 ก.ค. 63)

ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มทรงตัว โดยตลาดได้รับแรงหนุนจากการลดกำลังการผลิตของกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมันและพันธมิตร(โอเปกพลัส) ตามเป้าหมาย ประกอบกับอุปทานจากสหรัฐฯ ที่ยังปรับลดลงต่อเนื่อง ขณะที่ความต้องการใช้น้ำมันในหลายประเทศทั่วโลกฟื้นตัวหลังผ่อนคลายมาตรการปิดเมือง อย่างไรก็ตาม ตลาดยังถูกกดดันจากความกังวลยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 ทั่วโลก ที่ยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และอาจส่งผลให้เกิดการแพร่ระบาดระลอก 2 ซึ่งอาจกระทบต่อความต้องการใช้น้ำมันโลกให้ปรับลดลงอีกครั้ง

ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้:

  • ตลาดคาดอุปทานน้ำมันดิบจะเข้ามาในตลาดเพิ่มขึ้น ในเดือน ส.ค. หลังจากที่ประชุมของกลุ่มโอเปกพลัส ในวันที่ 15 ก.ค.ที่ผ่านมา มีมติคงเป้าหมายการลดกำลังการผลิตของกลุ่มที่ระดับ7 ล้านบาร์เรลต่อวันในเดือน ส.ค. – ธ.ค. 63 ตามข้อตกลงเดิม ซึ่งเป็นตามที่ตลาดคาดการณ์ โดยการลดเป้าหมายการลดการผลิตลงนี้จะทำให้โดยภาพรวมมีอุปทานเข้ามาในตลาดมากขึ้น อย่างไรก็ตาม บางประเทศ ได้แก่ อิรัก, ไนจีเรีย, และคาซัคสถาน ตกลงที่จะลดกำลังการผลิตอีกราว 0.84 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในเดือนส.ค.และก.ย เพื่อชดเชยที่ผลิตเกินข้อตกลงในช่วงเดือน พ.ค.- มิ.ย. ที่ผ่านมา
  • กลุ่มโอเปกพลัส รายงานความร่วมมือในการปรับลดกำลังการผลิตในเดือนมิ.ย.63 อยู่ที่ระดับ 107% เมือเทียบกับข้อตกลง โดยประเทศที่มีการลดกำลังการผลิตมากกว่าข้อตกลงเช่นซาอุดิอาระเบีย แอลจีเรีย คูเวตและรัสเซีย โดยความร่วมมือการปรับลดกำลังการผลิตในเดือนมิ.ย.63 ปรับสูงขึ้นเมื่อเทียบกับความร่วมมือในเดือนพ.ค.63 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 87%
  • สำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ประจำสัปดาห์สิ้นสุด ณ วันที่ 10 ก.ค. 63 ปรับลดลง 5 ล้านบาร์เรล แตะระดับ 531.7 ล้านบาร์เรล ซึ่งมากกว่าที่ตลาดคาดว่าจะปรับลด 2.1 ล้านบาร์เรล โดยตัวเลขที่ลดลงนี้ถือว่าสอดคล้องกับรายงานจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติสหรัฐฯ ของ Baker Hughes ที่ ปรับลดลง 5 แท่นสู่ระดับ 258 แท่น ซึ่งเป็นการปรับลดลงเป็นสัปดาห์ที่ 10 ติดต่อกัน ประกอบกับอัตราการกลั่นของโรงกลั่นในสหรัฐฯ ที่ปรับสูงขึ้น 0.6% สู่ระดับ 78.1% ซึ่งเป็นสัญญาณการฟื้นตัวของความต้องการใช้น้ำมัน
  • สำนักงานพลังงานสากล (IEA) ปรับคาดการณ์ความต้องการใช้น้ำมันในปี 2563 ขึ้นจากเดิมที่ -8.1 ล้านบาร์เรลต่อวัน เป็น -7.9 ล้านบาร์เรลต่อวันเมื่อเทียบกับปี 2562 ทั้งนี้เพราะความต้องการใช้น้ำมันทั่วโลกมีแนวโน้มปรับสูงขึ้นมากกว่าที่คาด หลังคลายมาตรการปิดเมือง โดยเฉพาะในประเทศจีนและอินเดีย นอกจากนี้ IEA ยังประเมินความต้องการใช้น้ำมันในปี 2564 มีแนวโน้มปรับสูงขึ้น 3 ล้านบาร์เรลต่อวันเมื่อเทียบกับปี 2563 ซึ่งสอดคล้องกับกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน(กลุ่มโอเปก) ที่คาดว่าความต้องการใช้น้ำมันในปี 2564 จะปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 7 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวหลังการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 คลี่คลายลง
  • Morgan Stanley ปรับเพิ่มคาดการณ์ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสและเบรนท์ในไตรมาส 3/63 จากเดิมที่ 5 และ 35.0 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล เป็น 37.5 และ 40.0 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรลตามลำดับ และคาดว่าความต้องการใช้น้ำมันจะปรับตัวดีขึ้น แต่ยังคงผันผวนและทรงตัวอยู่ในระดับต่ำกว่าก่อนเกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 จนกระทั่งปลายปี 2564
  • ตัวเลขผู้ติดเชื้อจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทั่วโลกยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดย WHO รายงานยอดผู้ติดเชื้อทั่วโลกกว่า 2 ล้านคน และมีผู้ติดเชื้อใหม่ทั่วโลกในวันที่ 15 ก.ค. ปรับเพิ่มขึ้นมากกว่า 130,000 ราย โดยส่วนใหญ่เพิ่มขึ้นที่สหรัฐฯ บราซิล และแอฟริกา ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและความต้องการใช้น้ำมัน
  • เศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่ การตัดสินใจอัตราดอกเบี้ยของธนาคารจีน Markit PMI ภาคการผลิตกลุ่มยูโรโซนเดือนก.ค.63 รายงานจำนวนคนที่ยื่นขอรับสวัสดิการว่างงานเดือนก.ค.63

สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (13 – 17 ก.ค. 63)

ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับเพิ่มขึ้น 0.04 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 40.59 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล สำหรับราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับลดลง 0.10 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 43.14 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 42.95 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล โดยตลาดยังคงถูกกดดันท่ามกลางความกังวลต่อการแพร่ระบาดระลอก 2ของเชื้อไวรัสโควิด-19 หลังจำนวนผู้ติดเชื้อในสหรัฐฯ และหลายประเทศทั่วโลกเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อความต้องการใช้น้ำมันในประเทศ อย่างไรก็ตาม ตลาดได้รับแรงหนุนหลังกลุ่มโอเปกพลัสลดกำลังการผลิตตามข้อตกลงที่ระดับ 7.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน

www.mitihoon.com