หวั่นระบาดรอบ 2 ถึงเวลา 3 ธุรกิจ ห้างฯ-ร.พ.-คอนโด เร่งสร้างความปกติใหม่หลังปลดล็อกดาวน์ระยะ 4

59

 

 

มิติหุ้น-บลู พาร์คกิ้ง สตาร์ทอัพเจ้าของนวัตกรรมระบบบริหารที่จอดรถอัจฉริยะ บริษัทในกลุ่ม Bluebik Group (บลูบิค กรุ๊ป) ชี้การคลายล็อกดาวน์ระยะที่ 4 ทำให้ประชาชนเริ่มกลับมาใช้ชีวิตตามปกติในที่สาธารณะหลังสถานการณ์การแพร่เชื้อโควิด-19 เริ่มดีขึ้น แต่ยังคงต้องปรับสู่ความปกติรูปแบบใหม่ (New Normal) ที่การใช้ชีวิตไม่มีวันเหมือนเดิม เพราะยังต้องรักษาระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) และเพื่อให้รู้สึกถึงความปลอดภัยในการดำเนินชีวิตเมื่อต้องไปสถานที่ต่างๆ มากขึ้น พร้อมแนะ 3 ธุรกิจ ห้างสรรพสินค้า-โรงพยาบาล-คอนโดมิเนียม ต้องเริ่มและเร่งปรับตัวเพื่อเรียกความมั่นใจให้ผู้บริโภคและลูกค้ากลับมาใช้บริการอย่างไร้กังวลเรื่องความปลอดภัย โดยใช้เทคโนโลยีระบบบริหารที่จอดรถอัจฉริยะเข้ามาช่วยให้มีการสัมผัสกับสิ่งต่างๆ หรือบุคคลให้น้อยที่สุด (Contactless) ตั้งแต่ก้าวเข้ามาใช้บริการ

นายณัฐภัทร เตชะอธิก กรรรมการผู้จัดการ บริษัท บลู พาร์คกิ้ง จำกัด (Blue Parking) สตาร์ทอัพเจ้าของนวัตกรรมระบบบริหารที่จอดรถอัจฉริยะ โดยใช้เทคโนโลยี IoT (Internet of Things) ที่เปลี่ยนแปลงประสบการณ์การจอดรถให้ง่ายและไร้การสัมผัสมากขึ้น เปิดเผยว่า เมื่อมีการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์โดยเริ่มเปิดสถานที่สาธารณะต่างๆ ให้คนเริ่มออกมาใช้ชีวิตนอกบ้านมากขึ้น แต่โควิด-19 ก็ได้สร้างความปกติในรูปแบบการใช้ชีวิตใหม่ (New Normal) ให้กับทุกคน เพราะต่างรู้กันอยู่แล้วว่า จากนี้ไปวิถีชีวิตประจำวันจะไม่มีอะไรเหมือนเดิม

ดังนั้น จึงเป็นเหตุผลชัดเจนที่ภาคธุรกิจต่างๆ ต้องมีการปรับตัวเพื่อรองรับกับ New Normal ที่เกิดขึ้นเพื่อให้ลูกค้าหรือผู้บริโภครู้สึกมั่นใจในด้านความปลอดภัยว่า หากต้องมาใช้บริการจะไม่เกิดความเสี่ยงเมื่อต้องออกมาใช้ชิวิตนอกบ้าน และด้วยปัจจุบันที่เป็นยุคของดิจิทัล ดิสรัปชั่น จึงสามารถนำเทคโนโลยีไปพัฒนานวัตกรรมเพื่อช่วยลดข้อจำกัดหรืออุปสรรคต่างๆ ให้ตอบโจทย์และสอดคล้องกับพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปในปัจจุบัน

ทั้งนี้ บลู พาร์คกิ้ง มองว่า ปัจจุบันมี 3 ธุรกิจหลักที่ควรเริ่มและเร่งทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคหรือลูกค้าเพื่อให้มั่นใจว่าจะมีความปลอดภัยตั้งแต่ย่างก้าวแรกเมื่อเข้ามาใช้บริการ โดยลดการสัมผัสสิ่งต่างๆ หรือพบปะผู้คนเพื่อรักษาระยะห่างทางสังคมให้มากที่สุด

1.ห้างสรรพสินค้าต่างนำใช้นวัตกรรมมาใช้เพื่อลดการสัมผัสให้น้อยที่สุด (Touchless Innovation)

ห้างสรรพสินค้าเป็นหนึ่งในสถานที่ซึ่งต้องเร่งปรับตัวรองรับมาตรการผ่อนคลายให้ประชาชนมาใช้บริการพร้อมรับกับวิถี New Normal โดยนำเทคโนโลยีมาปรับใช้เพื่อลดการสัมผัสสิ่งต่างๆ ตั้งแต่พัฒนาแอปพลิเคชั่น ระบบสแกนคิวอาร์โค้ด การใช้เทคโนโลยีกล้องตรวจวัดอุณหภูมิ การนำหุ่นยนต์อัจฉริยะตรวจอุณหภูมิเพื่อวิเคราะห์สภาวะเสี่ยงหรือความผิดปกติที่ส่งข้อมูลประมวลผลแบบเรียลไทม์ที่ผ่านระบบ Cloud AI ทั้งหมดนี้เพื่อสร้างความมั่นใจว่าเมื่อมาใช้บริการแล้วจะมีมาตรการที่ปลอดภัยรองรับอยู่

“การไปห้างฯ ในปัจจุบันนอกจากจะต้องรับกับวิถีชีวิตแบบปกติใหม่ที่นำเทคโนโลยีมาช่วยแล้ว ขณะเดียวกันผู้ใช้บริการเองก็ยังต้องรู้จักป้องกันตนเองและหลีกเลี่ยงการสัมผัสสิ่งต่างๆ ให้น้อยที่สุด ตั้งแต่การกดลิฟท์ที่ปัจจุบันห้างฯ มีทั้งการพัฒนาระบบเซ็นเซอร์ หรือการเปลี่ยนปุ่มกดลิฟท์เป็นการใช้เท้าแทน และถ้าจะให้ดีควรหันมาใช้ดิจิทัลอีเพย์เมนท์แทนในการชำระเงินเพื่อลดความเสี่ยงจากการสัมผัสเงินสด รวมถึงการดูแลรักษาความสะอาดและฆ่าเชื้อโรคในบริบทของตัวเอง แม้ทางห้างฯ มีจุดบริการฉีดฆ่าเชื้อต่างๆ โดยรอบแล้ว แต่สิ่งหนึ่งที่ยังต้องเสี่ยงต่อการสัมผัสอยู่ นั่นคือ การรับบัตรจอดรถทั้งจากเครื่องรับบัตรอัตโนมัติหรือจากพนักงาน เนื่องจากไม่มีใครการันตีได้ว่าบัตรจอดรถมีการทำความสะอาดก่อนที่จะถูกนำมาใช้อีกรอบหนึ่ง ซึ่งถือเป็นจุดสำคัญที่ทางห้างฯ ต้องรีบหามาตรการการดูแลเรื่องนี้โดยนำเทคโนโลยีที่เข้ามาช่วยให้ผู้ที่มาใช้บริการห้างฯ รู้สึกสบายใจและปลอดภัยให้มากที่สุด” นายณัฐภัทรกล่าว

  1. โรงพยาบาลต้องบริหารจัดการเพื่อให้ใช้เวลาในสถานพยาบาลน้อยที่สุด

โรงพยาบาลถือเป็นสถานที่ต้องรักษาความสะอาดและสร้างความมั่นใจให้ผู้มาใช้บริการเป็นอันดับต้นๆ เพราะอีกด้านหนึ่งโรงพยาบาลคือแหล่งรวมเชื้อของผู้ป่วยที่เข้ามารักษาโรคต่างๆ ดังนั้นทางโรงพยาบาลก็ต้องเตรียมรับมือสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้มาใช้บริการเกิดความมั่นใจว่ามีความสะอาดและปลอดภัยเป็นอย่างดี และที่สำคัญต้องบริหารจัดการโดยให้ผู้ใช้บริการใช้เวลาในโรงพยาบาลให้น้อยที่สุด

ดังนั้น ในปัจจุบันจึงเริ่มเห็นการบริการทางการแพทย์ปรับวิธีการรับมือแบบปกติใหม่ด้วยการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วย เช่น หากเป็นผู้ป่วยที่ประวัติการรักษาหรือมีการนัดพบแพทย์อยู่เป็นประจำ สามารถรับการบริการทางแพทย์แบบใหม่ที่ไม่จำเป็นต้องเดินทางมาที่โรงพยาบาลเองเหมือนแต่ก่อน เพราะสามารถแจ้งอาการหรือปรึกษาแพทย์ผ่านช่องทางออนไลน์ของโรงพยาบาลได้ ทั้งรูปแบบวิดีโอคอล หรือช่องทางแชทผ่านเครื่องมือการสื่อสารออนไลน์โปรแกรมต่างๆ ซึ่งสามารถช่วยลดความแออัดภายในโรงพยาบาลและลดความเสี่ยงการติดเชื้อได้ นอกเหนือไปกว่านั้น เท่ากับว่าทางโรงพยาบาลได้เพิ่มประสิทธิภาพการบริการให้รวดเร็วขึ้นไปในตัว เพราะทุกอย่างจะผ่านกระบวนการคิดเพื่อบริหารจัดการการบริการให้เร็วขึ้นในแต่ละขั้นตอน ตั้งแต่ การพบเจ้าหน้าที่ พบแพทย์ การรักษา การสั่งยา ฯลฯ

  1. คอนโดมิเนียมต้องทำให้รู้สึกสะดวกและปลอดภัยเมื่ออยู่อาศัย

สำหรับผู้ที่อยู่อาศัยในคอนโดมิเนียม ปัจจุบันทางโครงการก็ต้องปรับแนวทางมาตรการการเข้า-ออก คอนโดฯ ให้มีความเข้มงวดมากขึ้น แต่สิ่งที่จะเป็น New Normal สำหรับอุตสาหกรรมนี้คือ ผู้พัฒนาโครงการคอนโดฯ ที่จะต้องทำอย่างไรผู้ที่จะเลือกซื้อจึงจะรู้สึกได้ว่าถ้าจะมาอยู่อาศัย จะไม่รู้สึกกังวลเรื่องความสะอาด ความปลอดภัย และต้องรู้สึกถึงความสะดวกสบายด้วย เนื่องจากคอนโดฯ เป็นสถานที่มีผู้คนอาศัยจำนวนมาก โดยเฉพาะบริเวณพื้นที่ส่วนกลางต่างๆ ที่ลูกบ้านจะออกมาทำกิจกรรมร่วมกัน ดังนั้นการออกแบบต้องดึงนวัตกรรมให้มีการลดการสัมผัสของส่วนกลาง (Touchless) มาใช้ให้มากที่สุด เช่น ระบบสแกนจากการจดจำใบหน้า (Face Recognition) ระบบสั่งการด้วยเสียง (Voice Control) ระบบเซ็นเซอร์ต่างๆ ที่ทำให้ลูกบ้านลดการสัมผัสจุดเดียวกันให้น้อยที่สุด รวมไปถึงการบริหารจัดการที่ต้องสร้างความตระหนักในการรับผิดชอบตัวเองหลังมีการใช้พื้นที่ส่วนกลาง เช่น ต้องทำความสะอาดอุปกรณ์การออกกำลังกายเมื่อใช้เสร็จ

อย่างไรก็ดี การออกแบบของคอนโดมิเนียมจะเปลี่ยนไปเพื่อรองรับการแบ่งโซนพื้นที่ทำงานที่บ้าน (Work from home) ให้มีความเป็นสัดส่วนมากขึ้น หรือแม้กระทั่งในแง่ของการขายคอนโดฯ อาจจะต้องมีการทำพรีเซ็นต์โครงการขายที่ออกมาในลักษณะของวิดีโอและภาพเสมือนแทนที่การเข้าไปดูโครงการจริงมากขึ้นเพื่อเป็นทางเลือกในการพิจารณาโครงการก่อนที่จะตัดสินใจเข้าไปเลือกดูโครงการจริง

ทั้งนี้ นายณัฐภัทร มองว่า ทั้ง 3 ธุรกิจนี้มีจุดร่วมและข้อจำกัดที่อาจเป็นความเสี่ยงที่เหมือนกันนั่นคือ การให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการที่จอดรถน้อยเกินไป ทั้งที่เป็นจุดแรกของการเข้ามาใช้บริการที่ต้องมีการสัมผัสรับบัตรจอดรถทั้งจากเครื่องอัตโนมัติหรือจากพนักงานก็ตาม อีกทั้งยังมีความเสี่ยงที่ต้องสัมผัสหากมีการชำระเงินค่าบริการด้วยเงินสด โดยน่าจะเป็นจุดที่สร้างความกังวลให้ผู้ใช้บริการอยู่เพราะบัตรจอดรถแบบสแกนที่รับมานั้นไม่สามารถแน่ใจได้ว่ามีการทำความสะอาดทุกใบก่อนที่จะนำมากลับมาใช้ซ้ำหรือไม่ หรือการสัมผัสที่ต้องรับบัตรจอดรถมาปั๊ม รวมทั้งการจ่ายเงินกับพนักงานเพื่อชำระค่าจอดรถ

“ถึงเวลาที่ผู้ประกอบการทั้ง 3 ธุรกิจควรต้องรับมือกับ New Normal เหล่านี้ให้ชัดเจน ด้วยการหันมาใช้เทคโนโลยีเพื่อลดข้อจำกัดดังกล่าวนี้ไป และทำให้เกิดการลดการสัมผัสใดๆ ในขั้นตอนของการจอดรถให้ได้มากที่สุดเพื่อให้ลูกค้าได้เชื่อมั่นและสะดวกใจที่จะเดินทางมาใช้บริการ เพราะที่จอดรถถือเป็นสถานที่แห่งแรกที่มีผลต่อความรู้สึกเมื่อเดินทางเข้ามาใช้บริการ โดยทั้ง 3 สถานที่สามารถใช้ไม้กั้นที่ใช้เทคโนโลยี ALPR (Automatic license plate recognition) ที่เมื่อขับรถเข้ามาก็จะสามารถอ่านป้ายทะเบียนรถยนต์ได้อย่างแม่นยำ ทำให้ไม่ต้องใช้บัตรจอดรถในการผ่านเข้าออก และไม่ต้องสัมผัสบัตรจอดรถซึ่งได้ผ่านมือคนจำนวนมาก อีกทั้งผู้ให้บริการที่จอดรถหรือเจ้าของสถานที่เองก็ยังสามารถบริหารระบบจอดรถได้อย่างครบวงจรมากขึ้น ตั้งแต่การกำหนดเวลาเปิด-ปิด การบริหารจัดการสมาชิกที่เข้ามาใช้บริการ ฯลฯ เนื่องจากสามารถบริหารข้อมูลผ่านระบบ Cloud ที่มีการทำงานแบบเรียลไทม์ อีกทั้งยังเป็นระบบที่รองรับการชำระค่าบริการบนดิจิทัลเพย์เม้นท์ผ่าน QR code ซึ่งในอนาคตจะมีการพัฒนาเพื่อให้รองรับการจัดการความปลอดภัยแบบ Single solution ด้วยระบบสั่งงานด้วยเสียง และการจดจำใบหน้าผู้ใช้บริการ ทั้งหมดนี้ถือเป็นการตอบโจทย์การดำเนินชีวิตแบบปกติใหม่ที่ต้องมีการเว้นระยะทางสังคม (Social Distancing) ได้เป็นอย่างดี รวมถึงทำให้เกิดการปรับตัวในกรณีที่ในอนาคตอาจเกิดการแพร่ระบาดของเชื้อต่างๆ ที่เกิดขึ้นได้อีกด้วย” นายณัฐภัทร กล่าวทิ้งท้าย

www.mitihoon.com