‘ซิลิคอน (SIC)’ เตรียมเปิดจอง IPO 100 ล้านหุ้น เข้า mai ปลายเดือน ก.ค.นี้

1554

มิติหุ้น – บริษัท ซิลิคอน คราฟท์ เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) หรือ ‘SIC’ บริษัทชั้นนำของโลกด้านวิจัย ออกแบบ และพัฒนาแบบวงจรรวม (Integrated Circuit Design) หรือไมโครชิพ (Microchip) สำหรับอุปกรณ์ระบุรหัสประจำตัวสัตว์ด้วยคลื่นวิทยุ (RFID Animal Identification) เผยแผนเสนอขายหุ้นสามัญต่อประชาชนครั้งแรก (IPO) จำนวน 100,000,000 หุ้น และเตรียมเปิดจองซื้อหุ้นช่วงปลายเดือนกรกฎาคมนี้ โดยมีบริษัทหลักทรัพย์ ไอร่า จำกัด เป็นผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่าย ตั้งเป้าระดมทุนเพื่อขยายธุรกิจไมโครชิพ ต่อยอดการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีหลักให้ล้ำสมัยยิ่งขึ้น พร้อมมุ่งสู่การเป็นผู้นำอันดับหนึ่งของโลกในตลาด RFID สำหรับปศุสัตว์ ในอีก 4 ปีข้างหน้า

นายมานพ ธรรมสิริอนันต์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซิลิคอน คราฟท์ เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) หรือ ‘SIC’ เปิดเผยว่า บริษัทฯ เตรียมเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวน 100 ล้านหุ้น ในปลายเดือนกรกฎาคมนี้ ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 25 ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและชำระแล้วทั้งหมดของบริษัทฯ ณ ขณะนี้ บริษัทฯ มีทุนชำระแล้ว 150 ล้านบาท โดยมีบริษัทฟินเน็กซ์ แอดไวเซอรี่ จำกัด เป็นที่ปรึกษาด้านการเงิน และบริษัทหลักทรัพย์ไอร่า จำกัด ผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่าย

SIC เป็นผู้ประกอบการไทยที่แข่งขันกับยักษ์ใหญ่ระดับโลก ดำเนินธุรกิจออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์วงจรรวมเต็มรูปแบบ หรือไมโครชิพ ซึ่งสินค้าของบริษัทสามารถแบ่งได้ 3 กลุ่มหลัก คือ 1) สำหรับระบบกุญแจสำรองอิเล็กทรอนิกส์ยานยนต์ (Immobilizer) 2) สำหรับลงทะเบียนสัตว์ (Animal Tag) 3) สำหรับระบบเข้า-ออกสถานที่ (Access Control) และระบบการอ่านข้อมูล (Interrogator) ซึ่งล้วนแต่มีแนวโน้มขยายตัวและเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดย SIC เป็นบริษัทไทยรายเดียวที่สามารถพัฒนาไมโครชิพสำหรับอุปกรณ์ระบุรหัสประจำตัวสัตว์ด้วยคลื่นวิทยุได้สำเร็จ (RFID Animal Identification) และในปัจจุบันเป็นผู้นำในตลาดไมโครชิพสำหรับอุปกรณ์ระบุรหัสประจำตัวสัตว์ด้วยคลื่นวิทยุในภูมิภาคเอเชีย แปซิฟิค

ในระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมา SIC เป็นบริษัทในธุรกิจไมโครชิพที่ยืนหยัดแข่งขันในเวทีโลกด้วยรายได้ไม่ต่ำกว่า 300 ล้านบาท โดยมีโมเดลธุรกิจแบบใหม่ที่จะเป็นผู้ออกแบบไมโครชิพ และเป็นเจ้าของเทคโนโลยี จากนั้นจะว่าจ้างผู้ผลิตรายอื่นให้ผลิตไมโครชิพ ซึ่งข้อดีของโมเดลแบบนี้ คือ บริษัทมีความคล่องตัวในการดำเนินงาน และไม่มีค่าใช้จ่ายในการลงทุนและบริหารโรงงาน ความเสี่ยงจึงต่ำกว่า โดย SIC จะเน้นถือครองทรัพย์สินทางปัญญา

ปัจจุบัน สัดส่วนรายได้ของ SIC มาจากการขายไมโครชิพสำหรับระบบกุญแจสำรองอิเลกทรอนิกส์ยานยนต์ ประมาณ 25-38% ไมโครชิพสำหรับระบบลงทะเบียนสัตว์ 33-42% และไมโครชิพสำหรับระบบเข้า-ออกสถานที่ และระบบการอ่านข้อมูล 27-32%

SIC มีวิสัยทัศน์ที่จะก้าวขึ้นเป็นบริษัทเทคโนโลยีแห่งอนาคต ที่มีแนวโน้มการเติบโตอย่างมากในอนาคตจากโอกาสทางธุรกิจในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-Curve – Smart electronics) โดยบริษัทฯ ออกแบบผลิตภัณฑ์ที่ดีที่สุดเพื่อแข่งขันในตลาดโลก และเป็นผู้นำเทรนด์ในการพัฒนาเทคโนโลยีสำหรับอนาคตในอีก 3 ปี ข้างหน้า ด้วยการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ตอบสนองกับเทรนด์ใหม่ๆ เหล่านั้น

สำหรับผลการดำเนินงานของบริษัท ระหว่างปี 2560-2562 มีรายได้รวม เท่ากับ 310.71 ล้านบาท 377.04 ล้านบาท และ 308.80 ล้านบาท ตามลำดับ โดยไตรมาสแรกของปี 2563 มีรายได้ที่ 95.21 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก 72.85 ล้านบาท ในงวดเดียวกันของปีก่อนหน้า หรือคิดเป็นร้อยละ 30.70% ในขณะที่กำไรสุทธิในปี 2560 ถึงปี 2562 กำไรสุทธิเท่ากับ 38.66 ล้านบาท 51.68 ล้านบาท และ 24.46 ล้านบาท ตามลำดับ โดยไตรมาสแรกของปี 2563 มี กำไรสุทธิ เท่ากับ 15.58 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก 2.39 ล้านบาท ของงวดเดียวกันของปีก่อนหน้า หรือคิดเป็น 552.3% ซึ่งการเพิ่มขึ้นของรายได้และกำไรสุทธิในไตรมาสล่าสุด มาจากรายได้ในกลุ่มระบบลงทะเบียนสัตว์ที่เติบโต และรายได้ในกลุ่มระบบกุญแจสำรองฯ ที่เริ่มกลับมาเนื่องจากคลายกังวลเรื่องสงครามการค้า

“SIC มีแผนที่ขยายธุรกิจไมโครชิพอย่างต่อเนื่อง และตั้งเป้าที่จะขึ้นเป็นเบอร์หนึ่งของโลกในตลาด RFID สำหรับปศุสัตว์ ในอีก 4 ปี ข้างหน้า พร้อมกันนี้ บริษัทฯ จะต่อยอดการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีหลักของตนเองและร่วมกับพันธมิตรธุรกิจพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ อีกด้วย โดย SIC คาดว่าจะมีการเติบโตของธุรกิจเฉลี่ยประมาณ 20% ต่อปี” นายมานพ กล่าว

นายนัยวุฒิ วงษ์โคเมท ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ กล่าวเสริมว่า SIC เล็งเห็นศักยภาพและการเติบโตของธุรกิจ จากการพัฒนาไมโครชิพและโซลูชั่นใหม่ๆ เพื่อรองรับธุรกิจที่มีโอกาสในการเติบโตอย่างมหาศาล อาทิ เช่น ธุรกิจด้านสุขภาพ เกษตรกรรม สิ่งแวดล้อม ผลิตภัณฑ์เซนเซอร์ และมือถือ อีกทั้งยังเป็นบริษัทเทคโนโลยีที่จะช่วยขับเคลื่อนอุตสาหกรรมแห่งอนาคตให้กับประเทศไทย

นางสาวอรุณี พูนทวี ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการเงิน กล่าวว่า SIC มีแผนที่จะนำเงินที่ได้จากการระดมทุน IPO ไปใช้ในการขยายธุรกิจไมโครชิพอย่างต่อเนื่อง ต่อยอดการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีหลักของบริษัท และลงทุนหรือมองหาโอกาสร่วมลงทุนในบริษัทอื่นที่ประกอบธุรกิจด้านการออกแบบและพัฒนาวงจรรวม หรือมีนวัตกรรมที่ส่งเสริมการประกอบธุรกิจของ SIC และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในกิจการทั่วไป

บริษัทฯ จะเปิดให้จองซื้อหุ้นสามัญให้แก่ประชาชนทั่วไป ในช่วงปลายเดือนกรกฎาคม นี้ โดยนักลงทุนที่สนใจจองซื้อหุ้นสามัญ SIC สามารถติดต่อบริษัทหลักทรัพย์ไอร่า จำกัด ที่เป็นผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่าย รวมถึงบริษัทหลักทรัพย์ที่ร่วมจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่าย อีก 4 แห่ง ผู้สนใจลงทุนสามารถติดตามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ https://investor.sic.co.th/th

www.mitihoon.com


www.mitihoon.com