SCB มองตลาดหุ้นโลกมีแนวโน้มเคลื่อนไหวผันผวน จากความกังวลผลกระทบการแพร่ระบาดของโควิด-19 รอบสอง ต่อภาวะเศรษฐกิจ วิเคราะห์เจาะลึกประเด็นการลงทุนประจำสัปดาห์ วันที่ 29 มิ.ย.- 3 ก.ค. 2563

97

มิิติหุ้น-ในสัปดาห์ที่ผ่านมา (22 – 26 มิ.ย.) ตลาดหุ้นโลกปิดผสมผสาน โดยตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปรับลดลง เนื่องจาก ความกังวลการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกที่สอง หลังจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่ในสหรัฐฯ ปรับเพิ่มขึ้นในหลายมลรัฐฯ และความกังวลเศรษฐกิจหดตัว หลังกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจโลก และเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในปีนี้ จะหดตัว -4.9% และ -8% ตามลำดับ สำหรับตลาดหุ้นจีน (A-Share) ปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อย เนื่องจาก ความคาดหวังที่ว่า ทางการจีนจะออกนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม และได้รับแรงหนุนจากการที่เจ้าหน้าที่กำหนดนโยบายของจีน ระบุว่า รัฐบาลจะรักษาสภาพคล่องในระบบการเงินอย่างเพียงพอในครึ่งหลังของปีนี้ ด้านตลาดหุ้นไทย ปรับลดลง โดยได้รับปัจจัยกดดันจาก แรงขายหุ้นกลุ่มธนาคาร หลังธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ขอความร่วมมือธนาคารให้งดจ่ายปันผลระหว่างกาล และงดซื้อหุ้นคืน เพื่อรักษาระดับเงินกองทุน และเป็นกันชนรองรับความไม่แน่นอนในอนาคต นอกจากนี้ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ได้ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจไทย ในปีนี้ โดยคาดว่าจะหดตัว -8.1% จากคาดการณ์ครั้งก่อนที่ -5.3% เนื่องจากผลกระทบของโควิด-19 ที่รุนแรงมากกว่าคาด สำหรับราคาน้ำมัน ปรับลดลง เนื่องจาก ความกังวลต่อการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกที่สอง และเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มหดตัวมากกว่าคาด จะส่งผลกระทบต่อความต้องการใช้น้ำมัน และได้รับแรงกดดันจากรายงานสต็อกน้ำมันดิบสหรัฐฯ ปรับเพิ่มขึ้น 1.4 ล้านบาร์เรล สวนทางกับที่ตลาดคาดว่าจะปรับลดลง 100,000 บาร์เรล

มุมมองของเราในสัปดาห์นี้

ในสัปดาห์นี้ ตลาดหุ้นโลกยังมีแนวโน้มเคลื่อนไหวผันผวน และได้รับแรงกดดันจากความกังวลการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกที่สอง หลังจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่ในสหรัฐฯ ปรับเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในรัฐเท็กซัส ฟลอริดา อริโซนา และแคลิฟลอเนีย ซึ่งทำให้หลายรัฐฯ จะต้องกลับมากำหนดข้อจำกัดในการดำเนินธุรกิจอีกครั้ง สำหรับรัฐเท็กซัส และฟลอริดา ได้มีการสั่งให้มีการปิดผับ/บาร์ และลดจำนวนผู้ใช้บริการที่จะเข้ามารับประทานอาหารในร้านอาหารลงจาก 70% เป็น 50% ขณะที่รัฐวอชิงตัน ได้ระงับแผนการผ่อนคลายมาตรการปิดเมือง (lockdown) ระยะที่ 4 ส่งผลให้นักลงทุนกังวลว่า เศรษฐกิจอาจฟื้นตัวช้า จากการกลับมากำหนดข้อจำกัดในการดำเนินธุรกิจ เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 อีกครั้ง อย่างไรก็ดี คาดว่า การปิดเมืองจะไม่รุนแรงเหมือนในช่วงที่ผ่านมา และน่าจะมีการปิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจเป็นส่วนๆ สอดคล้องกับถ้อยแถลงของนายแลรี่ คุดโลว์ ที่ระบุว่า จะไม่มีการปิดเศรษฐกิจทั่วประเทศ และจะไม่มีการ lockdown ประเทศรอบใหม่ ซึ่งน่าจะทำให้ เศรษฐกิจค่อยๆ ฟื้นตัวหลังจากนี้ นอกจากนี้ ตลาดอาจได้รับแรงกดดันจากความกังวลเกี่ยวกับความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ-จีน หลังโฆษกกระทรวงต่างประเทศจีนได้ประกาศว่า จีนเตรียมจำกัดการออกวีซ่าแก่พลเมืองสหรัฐฯที่มีพฤติกรรมเกี่ยวข้องกับประเด็นกฎหมายความมั่นคงแห่งชาติที่จีนพยายามบังคับใช้ในฮ่องกง   ขณะที่ตลาดฯ อาจได้รับแรงหนุนบางส่วนจากการที่ธนาคารกลาง และรัฐบาลของประเทศต่างๆ ยังส่งสัญญาณดำเนินนโยบายการเงินการคลังเชิงผ่อนคลาย และพร้อมออกมาตรการอื่นๆ เพิ่มเติม หากจำเป็น ด้านราคาน้ำมันดิบ WTI มีแนวโน้มปรับลดลง และเคลื่อนไหวผันผวน จากความกังวลการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกที่สองในสหรัฐฯ จะกดดันอุปสงค์น้ำมันให้ปรับลดลงอีกครั้ง สำหรับตลาดหุ้นไทย มีแนวโน้มถูกกดดัน และเคลื่อนไหวผันผวนตามทิศทางตลาดหุ้นต่างประเทศ และจากแรงขายหุ้นกลุ่มพลังงาน ตามราคาน้ำมันดิบที่ปรับลดลง ขณะที่ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) มีมติต่ออายุพ.ร.ก.ฉุกเฉินออกไปอีก 1 เดือน เพื่อรองรับช่วงเปิดภาคเรียน และรองรับการผ่อนคลายมาตรการระยะที่ 5

เหตุการณ์สำคัญ (KEY EVENTS)

  • สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยเฉพาะจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่ในสหรัฐฯ ที่ปรับเพิ่มขึ้น รวมถึงการกำหนดข้อจำกัดในการดำเนินธุรกิจ เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19
  • เส้นตายของอังกฤษในการขอขยายช่วงระยะเวลาเปลี่ยนผ่าน (Transition Period) กับสหภาพยุโรป (30 มิ.ย.) โดยถ้อยแถลงล่าสุดของนายบอริส จอห์นสัน นายกรัฐมาตรีอังกฤษ ระบุว่า ไม่ต้องการที่จะขยาย Transition Period ที่มีกำหนดสิ้นสุดในเดือนธ.ค. 2020 ออกไปจากเดิม ขณะที่อังกฤษ และสหภาพยุโรปจะมีการหารือประเด็น Brexit ในเดือนก.ค. หลังจากการประชุมทั้ง 4 รอบ ที่ผ่านมา ยังไม่มีความคืบหน้าใดๆ
  • รายงานการประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) (1 ก.ค.) คาดว่า อัตราดอกเบี้ยยังมีแนวโน้มอยู่ในระดับต่ำต่อไป สะท้อนจาก Fed Dot Plot ที่บ่งชี้ว่า Fed จะยังไม่มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจนถึงปี 2022

ปัจจัยจับตาสัปดาห์นี้

  • ตัวเลขเศรษฐกิจ ได้แก่ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตของสหรัฐฯ ยุโรป จีน และญี่ปุ่น, ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคบริการของจีน, GDP ใน 1Q2020 ของอังกฤษ, อัตราเงินเฟ้อของยุโรป, ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค การจ้างงานนอกภาคการเกษตร และอัตราการว่างงานของสหรัฐฯ
  • เหตุการณ์สำคัญ ได้แก่ สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอกที่สอง, เส้นตายของอังกฤษในการขอขยายช่วงระยะเวลาเปลี่ยนผ่าน (Transition Period) กับสหภาพยุโรป และรายงานการประชุม Fed

วิเคราะห์โดย: SCB Chief Investment Office

www.mitihoon.com