เงินบาทย่ำฐานท่ามกลางโควิดเวฟ 2

148

นับตั้งแต่กลางเดือนมิถุนายน นักลงทุนกลับมาวิตกเกี่ยวกับการระบาดระลอกใหม่ของ COVID-19 ในหลายประเทศซึ่งรวมถึง จีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น สหรัฐฯ และเยอรมัน ส่งผลให้สินทรัพย์เสี่ยง อาทิ ตลาดหุ้นทั่วโลกและสกุลเงินตลาดเกิดใหม่ส่วนใหญ่ ได้จังหวะปรับฐานลงมาบ้าง หลังจากที่ราคาวิ่งขึ้นตั้งแต่เดือนเมษายน ด้วยแรงหนุนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเต็มรูปแบบของผู้ดำเนินนโยบายการเงินและการคลัง โดยตลาดกังวลว่าการระบาดระลอก 2 ในหลายประเทศทั่วโลก อาจทำให้การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจ้างงานในภาคธุรกิจบริการต้องล่าช้าออกไปรวมถึงอาจจะปะทุให้ความไม่แน่นอนเพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ หากต้องใช้มาตรการปิดเมืองอีกครั้งเพื่อกด Curve ของการแพร่ระบาด ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลก (WTO) รายงานว่ายอดผู้ติดเชื้อรายใหม่ทั่วโลกอยู่ที่ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน ที่ผ่านมา

บทความล่าสุดของเราเกี่ยวกับความสัมพันธ์เชิงบวกระหว่างราคาทองคำและค่าเงินบาทสะท้อนความเชื่อมโยงกับการผ่อนคลายนโยบายการเงินชุดใหญ่ระดับบาซูกา  (Bazooka) ของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ซึ่งแม้จะมีสัญญาณชะลอตัวลง โดยช่วงกลางเดือนมิถุนายน สินทรัพย์ของเฟดหดตัวลงเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ บ่งชี้ว่าข้อตกลง Swap ค่าเงินกับธนาคารกลางต่างประเทศลดลงและความต้องการเงินกู้ฉุกเฉินอื่นๆ ชะลอตัวลง แต่ขนาดงบดุลของเฟดยังอยู่ในระดับสูงที่ 7.14 ล้านล้านดอลลาร์ อีกทั้งประธานเฟดยังคงให้คำมั่นเกี่ยวกับการตรึงดอกเบี้ยนโยบายใกล้ 0% ต่อไปอีกหลายปี รวมถึงแสดงความพร้อมที่จะใช้เครื่องมือต่างๆ เพิ่มเติมสำหรับเยียวยาเศรษฐกิจและตลาดแรงงาน การอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบในปริมาณที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนและความไม่แน่นอนของแนวโน้มเศรษฐกิจโลกได้หนุนราคาทองคำขึ้นอย่างต่อเนื่องใกล้ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ และปัจจัยแวดล้อมดังกล่าวนอกจากจะลดทอนความน่าสนใจของเงินดอลลาร์ในสถานะสกุลเงินปลอดภัยในช่วง COVID-19 ระลอก 2 แล้ว ยังมีส่วนเร่งให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นจากธุรกรรมส่งออกของผู้ค้าทองอีกด้วย

เราคาดว่าภาพรวมตลาดอัตราแลกเปลี่ยนจะย่ำฐานหรือแกว่งตัวในกรอบแคบๆ  (Sideways) ในช่วงนี้ ขณะที่เงินบาทและเงินรูเปียห์อินโดนีเซียนำสกุลเงินตลาดเกิดใหม่ในเอเชียแข็งค่าขึ้นในไตรมาสที่ 2 (กราฟด้านล่าง) หลังจากเมื่อช่วงต้นปีนี้สองสกุลเงินดังกล่าวเหวี่ยงตัวอ่อนค่าลงมากที่สุดในกลุ่ม โดยในไตรมาสแรกเงินรูเปียห์อ่อนค่าลงถึง 15.0% และเงินบาทอ่อนค่าลง 8.6% ภาพดังกล่าวสะท้อนการพลิกกลับ (Reversal) ของมุมมองของนักลงทุน โดยเราคาดว่าในระยะ 3-6 เดือนข้างหน้า เงินบาทจะแข็งค่าขึ้นจากระดับปัจจุบันจากการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์ตามนโยบายของเฟดและความผันผวนทางการเมืองในสหรัฐฯ อาจหนุนราคาทองคำอีกทางหนึ่ง ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าการแข็งค่าของเงินบาทเมื่อเทียบกับสกุลเงินคู่ค้าและคู่แข่งในช่วงหลายปีมานี้และในระยะถัดไปตอกย้ำว่าไทยสะสมความเปราะบางด้านการเติบโตซึ่งพึ่งพาอุปสงค์ภายนอก อันได้แก่ ภาคส่งออกและท่องเที่ยว

โดยรุ่ง สงวนเรือง ผู้อำนวยการ ผู้บริหารฝ่ายส่งเสริมธุรกิจโกลบอลมาร์เก็ตส์

ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)

www.mitihoon.com