ก.ล.ต. กล่าวโทษอดีตกรรมการและผู้บริหาร IFEC และพวกรวม 5 ราย ต่อ บก.ปอศ. กรณีทุจริตแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบด้วยกฎหมายและเปิดเผยข้อความเท็จ เป็นเหตุให้ IFEC ได้รับความเสียหาย

109

มิติหุ้น-ก.ล.ต. กล่าวโทษอดีตกรรมการและผู้บริหารบริษัท อินเตอร์ ฟาร์อีสท์ เอ็นเนอร์ยี่ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ IFEC กับพวกรวม 5 ราย ต่อกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก.ปอศ.) กรณีกระทำทุจริตแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบด้วยกฎหมาย จากกรณีที่ IFEC ซื้อหุ้นของบริษัท ซีอาร์ โซลาร์ จำกัด หรือ CRS ในช่วงปี 2557 – 2558 เป็นเหตุให้ IFEC ได้รับความเสียหาย

สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผย การกล่าวโทษอดีตกรรมการและผู้บริหาร IFEC กับพวกรวม 5 ราย ได้แก่ (1) นายวิชัย ถาวรวัฒนยงค์ ขณะเกิดเหตุ เป็นประธานกรรมการและประธานกรรมการบริหาร และ (2) นายสิทธิชัย พรทรัพย์อนันต์ ขณะเกิดเหตุ เป็นรองประธานกรรมการ รองประธานกรรมการบริหาร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการ (3) บริษัท ที แอนด์ เอส อินเตอร์ โปรดักส์ ไลฟ์ จำกัด หรือ T&S ซึ่งมีนายปัณณวิชญ์ จตุรพรสวัสดิ์ เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนบริษัท (4) นายปัณณวิชญ์ จตุรพรสวัสดิ์ และ (5) นายธนวัตน์ แก่นทอง กรณีร่วมกันดำเนินการให้ IFEC ซื้อหุ้น CRS จาก T&S  ซึ่งอ้างว่าเป็นตัวกลางในการซื้อขาย ในช่วงปี 2557 – 2558

จากการตรวจสอบพยานหลักฐานพบว่า ในช่วงปลายปี 2557 IFEC โดยกรรมการ คือ นายวิชัย และนายสิทธิชัย ได้ตกลงจะซื้อหุ้น CRS โดยตรงจากผู้ถือหุ้นเดิมของ CRS ที่ราคา 142 ล้านบาท จากการชักนำของ นายธนวัตน์ และได้จ่ายเงิน 20 ล้านบาทเพื่อวางมัดจำไว้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมรายดังกล่าวแล้ว แต่ในวันทำสัญญาซื้อขายหุ้น CRS เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2558 กลับมี T&S เข้ามาทำสัญญาซื้อขายแทน ที่ราคา 155 ล้านบาท โดยไม่มีเหตุสมควรทำให้ IFEC ต้องชำระเงินเพิ่มอีก 13 ล้านบาท ให้แก่ T&S โดยผู้ถือหุ้นเดิมของ CRS ได้รับเงินค่าขายหุ้น CRS จำนวน 142 ล้านบาทตามที่ตกลงกันไว้เท่านั้น การกระทำดังกล่าวเป็นการทุจริตแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบด้วยกฎหมายเพื่อตนเองหรือบุคคลอื่น รวมถึงได้ลงข้อความเท็จในเอกสารของ IFEC และเปิดเผยข้อมูลต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยอ้างว่า IFEC ได้ทำสัญญาซื้อขายหุ้น CRS ที่ราคา 155 ล้านบาท เพื่อลวงบุคคลใด ๆ อันทำให้ IFEC ได้รับความเสียหาย

การกระทำของอดีตกรรมการและผู้บริหาร IFEC และพวกรวม 5 รายข้างต้น เข้าข่ายเป็นความผิดตามมาตรา 311 มาตรา 312 มาตรา 313 มาตรา 315 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ประกอบมาตรา 83 และมาตรา 86 แห่งประมวลกฎหมายอาญา แล้วแต่กรณี  ก.ล.ต. จึงกล่าวโทษบุคคลทั้ง 5 ราย ต่อ บก.ปอศ. เพื่อพิจารณาดำเนินการตามกฎหมายต่อไป พร้อมกันนี้ ก.ล.ต. ยังได้แจ้งการดำเนินคดีตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ ข้างต้น ต่อสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ซึ่งเป็นความผิดมูลฐานตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม

อนึ่ง การกล่าวโทษของ ก.ล.ต. เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของกระบวนการบังคับใช้กฎหมายทางอาญาเท่านั้น ภายใต้กระบวนการนี้ การพิจารณาวินิจฉัยว่าบุคคลใดเป็นผู้กระทำผิดกฎหมายเป็นขั้นตอนในอำนาจการสอบสวนของพนักงานสอบสวน การสั่งฟ้องคดีของพนักงานอัยการ ตลอดจนดุลพินิจของศาลยุติธรรม ตามลำดับ

www.mitihoon.com