จุฬาฯ-กสิกรไทย ประกาศความสำเร็จ CU NEX แพลตฟอร์มตอบโจทย์ New Normal เดินหน้าสู่ ‘Digital Lifestyle University’ เต็มรูปแบบ

89

 

มิติหุ้น-แพลตฟอร์ม CU NEX จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พัฒนาร่วมกับธนาคารกสิกรไทย และ KBTG ครบ 3 ปี ประกาศความสำเร็จ ด้วยผลงานแอปเพื่อนิสิตและบุคลากรจัดฟังก์ชันการทำกิจกรรมในรั้วมหาวิทยาลัยทุกรูปแบบ ให้สะดวกคล่องตัว และตอบรับ New Normal ยอดดาวน์โหลดใช้งานกว่า 40,000 ราย จับมือกสิกรไทยเป็นพันธมิตรต่อเนื่อง พร้อมเปิดให้นิสิตมีส่วนร่วมในการพัฒนาแพลตฟอร์มต่อยอด มุ่งสู่การเป็น ‘Digital Lifestyle University’ สร้างบัณฑิตที่มีคุณภาพเป็นขุมกำลังในการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจของประเทศในอนาคต

 ผศ.ดร.ชัยพร ภู่ประเสริฐ ผู้รักษาการแทนรองอธิการบดี ด้านการพัฒนานิสิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า โครงการ CU NEX เป็นโครงการที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมมือกับธนาคารกสิกรไทย ดำเนินการตั้งแต่ปี 2561 เป็นต้นมา โดยใช้เทคโนโลยีจากกสิกร บิซิเนส-เทคโนโลยี กรุ๊ป หรือ KBTG สร้างนวัตกรรมเพื่อตอบโจทย์ทุกมิติการใช้ชีวิตของนิสิตและบุคลากรของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีทั้งการเรียน และการทำงาน เพื่อให้ทุกคนสามารถพัฒนาศักยภาพอย่างก้าวกระโดด มุ่งหน้าสู่เป้าหมายของการเป็น ‘Digital Lifestyle University’

จากการดำเนินโครงการ 3 ปีที่ผ่านมา ด้วยการประสานความร่วมมือระหว่างทีมงานของจุฬาฯ ที่มีความเข้าใจความต้องการของนิสิตและบุคลากร ผสานศักยภาพกับพันธมิตรหลัก คือ ธนาคารกสิกรไทย ผู้นำด้านดิจิทัลแบงก์กิ้ง และ KBTG ที่มีความชำนาญด้านเทคโนโลยี พร้อมนำจุดแข็งของวัฒนธรรมองค์กรที่มีมาปรับเข้าหากัน ทำงานด้วยความคล่องตัวสูง (Agile) ที่พร้อมปรับเปลี่ยน ทดลองทำ จึงสามารถพัฒนาศักยภาพแพลตฟอร์ม CU NEX เกิดเป็นฟังก์ชันการใช้งานต่างๆ  ที่ตอบสนองความต้องการของนิสิตและบุคลากรที่ตรงใจ  ช่วยให้การใช้ชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัยสะดวก สบาย ง่ายขึ้น

ความสำเร็จจากแอปพลิเคชัน CU NEX สำหรับนิสิต ซึ่งมีการปรับปรุงจากจุดเริ่มต้นมาอย่างต่อเนื่อง โดยมีความต้องการของผู้ใช้งาน คือ นิสิต เป็นหัวใจของการพัฒนา จึงเกิดเป็นฟังก์ชันที่ตรงใจ และปัจจุบันมีนิสิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทั้งระดับปริญญาตรี โท และเอก ดาวน์โหลดใช้งานแอป CU NEX ร่วม 40,000 คน ประโยชน์ของแอป คือ

  • ช่วยให้นิสิตทำกิจกรรมต่าง ๆ กับทางมหาวิทยาลัยได้สะดวกและง่ายผ่านแอปพลิเคชัน เช่น การ ใช้แอปแทนการใช้บัตรประจำตัวนิสิต การชำระค่าเทอมผ่านแอป ค้นหาหนังสือในห้องสมุด ค้นหาเบอร์ติดต่อหน่วยงานและอาจารย์ การขอทุนการศึกษา และ การเข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ผ่านแอป รวมทั้งเมนูสิทธิประโยชน์รับคูปองส่วนลดร้านค้าต่าง ๆ ที่เป็นพันธมิตรโครงการ เป็นต้น
  • เป็นเครื่องมือสำคัญที่มหาวิทยาลัยใช้ในการสื่อสารข้อมูลถึงนิสิตได้ทั่วถึงอย่างรวดเร็ว ผ่านฟังก์ชันแจ้งเตือน (Notification) เช่น เมื่อเกิดเหตุการณ์ไม่ปลอดภัยในพื้นที่ใกล้เคียง ทางสำนักกิจการนิสิต จุฬาฯ สามารถส่งข้อความแจ้งเตือนนิสิตให้หลีกเลี่ยงพื้นที่ดังกล่าว ได้อย่างทั่วถึงและรวดเร็ว
  • แอปพลิเคชันรองรับการพัฒนาต่อยอดการใช้งานได้ตามสถานการณ์ ตัวอย่างสำคัญคือ จากสถานการณ์การแพร่ระบาด COVID-19 แอป CU NEX ถูกเลือกใช้แทนการจัดการเลือกตั้งองค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาฯ และสภานิสิตฯ ในรูปแบบเดิมที่เป็นคูหาเลือกตั้ง เป็นการเลือกตั้งออนไลน์ผ่านแอปเป็นครั้งแรก โดยมีระบบยืนยันตัวตนผ่านแอปที่รัดกุม การลงคะแนนเป็นความลับ ซึ่งเป็นการเลือกตั้งที่มีนิสิตใช้สิทธิ์มากที่สุดในรอบ 5 ปี

ล่าสุดในเดือนพฤษภาคม 2563 เป็นต้นมา CU NEX ได้ขยายการใช้งานไปสู่กลุ่มบุคลากร ด้วยการเปิดบริการแอปพลิเคชัน CU NEX STAFF พร้อมรองรับการใช้งานของบุคลากรจุฬาฯ จำนวน 8,000 คน ช่วยให้บุคลากรใช้ชีวิตตอบโจทย์ New Normal เพิ่มประสิทธิภาพการสื่อสารถึงบุคลากร ด้วยฟังก์ชันการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของจุฬาฯ ข้อมูลส่วนตัวใน CU ERP  และข้อความแจ้งเตือนที่ส่งข้อมูลแบบเฉพาะเจาะจงตามคณะหรือสังกัดของแต่ละคนได้ (Customized and personalized notification)

ผศ.ดร.ชัยพร กล่าวว่า ก้าวต่อไปในอนาคตของโครงการ CU NEX  คือ การพัฒนาต่อยอดแพลตฟอร์มนี้ ให้เป็น Single Portal ด้วยการเชิญชวนให้นิสิตเข้ามามีส่วนร่วมในการสร้าง tools ใหม่ ๆ ตามความคิดสร้างสรรค์ของเขา มีการจัดกิจกรรมต่าง ๆ ในแอปให้มากขึ้น ทำให้เกิด Creative and Lively Content บนแอป CU NEX อย่างต่อเนื่อง และอัปเดตฟังก์ชันต่างๆ ให้ทันกับยุคสมัยและความเปลี่ยนแปลงเพื่อให้ CU NEX เป็นแพลตฟอร์มที่นำพาจุฬาฯ ไปสู่ Digital Lifestyle University สนับสนุนการเรียน การทำกิจกรรมของนิสิต และทำงานของบุคลากร เพื่อสร้างบัณฑิตที่มีคุณภาพ พร้อมร่วมเป็นขุมกำลังในการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจของประเทศในอนาคต

นอกจากนี้ ผศ.ดร.ชัยพร ยังกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเลือกพันธมิตรไม่ผิดจริงๆ ต้องขอบคุณธนาคารกสิกรไทย ที่มีความตั้งใจจริงที่จะนำพาความเชี่ยวชาญด้านต่างๆ เข้ามาสนับสนุนให้เกิดเครื่องมือ แอปพลิเคชัน และสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ มาให้นิสิตและบุคลากรใช้ ด้วยความเข้าใจลูกค้าอย่างแท้จริง

นายโภไคย ศรีรัตโนภาส ผู้รักษาการแทนผู้ช่วยอธิการบดี งานด้านกิจการพิเศษ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า หัวใจในการทำงานของ CU NEX คือ การยึดความต้องการของผู้ใช้งานเป็นศูนย์กลาง มีการศึกษาทำความเข้าใจความต้องการของนิสิตและบุคลากรอย่างต่อเนื่อง และพร้อมปรับเปลี่ยนอย่างทันท่วงทีตามสถานการณ์  มีการรับฟังเสียงสะท้อนจากผู้ใช้งาน ปรับปรุงพัฒนา จัดกิจกรรมเพื่อสร้างความมีส่วนร่วมผ่านแอป จนแอปมีการเติบโตเป็นที่นิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา และต่อยอดสู่ CU NEX STAFF ในปัจจุบัน เพื่อตอบโจทย์บุคลากรยุค 5G โดยมีฟังก์ชันที่จะมาช่วยเพิ่มความสะดวกในการทำงานของชาวบุคลากรจุฬาฯ ได้แก่

  • เป็นแหล่งรวมข้อมูลข่าวสาร ความรู้ และประกาศต่างๆ จากจุฬาฯ ที่เชื่อถือได้
  • มีการแจ้งเตือน เรื่องสำคัญของบุคลากร เป็นรายบุคคล หรือหน่วยงาน
  • สามารถค้นหารายชื่อและเบอร์ติดต่อหน่วยงานภายในจุฬาฯ
  • บุคลากรสามารถเข้าใช้งานระบบ CU ERP ได้จาก CU NEX STAFF
  • ใช้ QR ที่อยู่ในแอป เพื่อเข้าสถานที่ต่างๆ ในจุฬาฯ
  • มีบาร์โค้ดเพื่อใช้สแกนยืมหนังสือที่ห้องสมุด
  • สแกน QR Code จ่ายค่าอาหารในโรงอาหาร สะอาด ปลอดภัย ไม่ต้องจับธนบัตร ลดความเสี่ยงติดเชื้อ
  • สิทธิพิเศษจากพันธมิตรที่เหมาะสมกับบุคลากรจุฬาฯ
  • และอื่นๆ อีกมากมายที่จะพัฒนาออกมาอย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้ ได้ใช้แพลตฟอร์ม CU NEX สร้างโอกาสแห่งการเรียนรู้ให้แก่นิสิต โดยการจัดตั้ง CU NEX Club ซึ่งเป็นทีมบริหารจัดการ CU NEX เปิดรับสมัครจากนิสิตทุกระดับชั้นเรียน หลากหลายคณะ เข้ามาร่วมทำงานจริง กับทีมงานคุณภาพของธนาคารกสิกรไทย โดยมีคณะอาจารย์เป็นผู้ให้คำปรึกษา เพื่อเรียนรู้จากปัญหาจริง มีส่วนร่วมสร้างบริการให้เกิดขึ้นจริงด้วยตัวเอง  ปัจจุบันมีนิสิตอยู่ใน CU NEX Club จำนวน 60 คน จาก 17 คณะ

นายภูวดล ทรงวุฒิชโลธร Senior Project Manager กสิกร บิซิเนสเทคโนโลยี กรุ๊ป เปิดเผยว่า ธนาคารกสิกรไทย ร่วมเป็นพันธมิตรกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยกสิกร บิซิเนส-เทคโนโลยี กรุ๊ป หรือ KBTG เข้ามาเป็นผู้สร้างแพลตฟอร์ม CU NEX ตั้งแต่จุดเริ่มต้น  โดยมีแนวทางการทำงาน คือ เปิดมุมมองใหม่ ก้าวข้ามจากกรอบการทำงานในธุรกิจธนาคาร เข้ามาทำความรู้จักผู้ใช้งานในกลุ่มมหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นกระบวนการที่ใช้เวลา และทีมต้องพร้อมปรับเปลี่ยนไปด้วยกัน  กล้าลอง ผิดแล้วเปลี่ยนใหม่ ด้วยการทำงานแบบ Agile รับฟังความคิดเห็นจากผู้ใช้งานเพื่อนำมาปรับปรุงพัฒนา จัดสรรทีมคอลเซ็นเตอร์ที่มีมาตรฐานจากธนาคาร รู้ลึกรู้จริง เพื่อทำหน้าที่รับฟัง แก้ปัญหา และตอบคำถาม ได้ทันท่วงที อัปเดตเทคโนโลยี ติดตามเทรนด์อยู่เสมอ โดย KBTG ทำหน้าที่เป็นผู้ให้ข้อเสนอแนะ ที่ปรึกษา ช่วยแก้ไขปัญหาที่เปลี่ยนรูปแบบไป โดยคำนึงเรื่องความปลอดภัยเป็นพื้นฐานสำคัญ

ความสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมของ CU NEX ใน 3 ปีที่ผ่านมานี้ ตอกย้ำความร่วมมือระหว่างกสิกรไทยและจุฬาฯ ที่แข็งแกร่ง ทั้งนี้ ธนาคารกสิกรไทย และ KBTG จะเดินหน้าสนับสนุน CU NEX อย่างต่อเนื่อง ทั้งเรื่องประสบการณ์ องค์ความรู้ เทคโนโลยีและความเชี่ยวชาญ เพื่อยกระดับให้ CU NEX เป็นแพลตฟอร์มที่ปรับตัวให้ทันสมัยตลอดเวลา สร้างประสบการณ์ผ่านแอปที่ตรงใจผู้ใช้งานทุกกลุ่ม ร่วมผลักดัน จุฬาฯ สู่การเป็น ‘Digital Lifestyle University’ อย่างเป็นรูปธรรม

www.mitihoon.com