แกะรอยราคาทองคำกับโจทย์บาทแข็ง

155

พลวัตของตลาดทองคำซึ่งส่งผลกระทบต่ออัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทได้สร้างความกังวลให้กับธนาคารแห่งประเทศไทยมาระยะหนึ่งแล้ว หากพิจารณาการค้าระหว่างประเทศของไทยในช่วงที่ราคาทองคำกระชากตัวขึ้นหรือลงรุนแรง จะพบว่ารายการส่งออกหรือนำเข้าทองคำมักแสดงมูลค่าสูงอย่างมีนัยสำคัญ (กราฟด้านล่าง) ทั้งนี้ ข้อมูลจากกระทรวงพาณิชย์บ่งชี้ว่าในเดือน เมษายน 2563 ไทยส่งออกทองคำ 2,493 ล้านดอลลาร์ ขณะที่นำเข้าทองคำ 67 ล้านดอลลาร์ โดยยอดส่งออกทองคำรายเดือนสูงสุดเป็นประวัติการณ์และคิดเป็น 13% ของการส่งออกสินค้าทุกชนิด นอกจากนี้ ตัวเลขจากองค์การการค้าโลกและสหประชาชาติบ่งชี้ว่าในไตรมาสแรกของปี 2563 ไทยเป็นประเทศผู้ส่งออกทองคำเป็นอันดับที่ 4 ของโลก รองจาก สวิตเซอร์แลนด์ แคนาดา และสหรัฐอเมริกา ขณะที่ไทยมีขนาดเศรษฐกิจอยู่ที่อันดับ 22 ของโลก

ในเชิงพื้นฐาน ราคาทองคำจะมีความสัมพันธ์แบบผกผันกับอัตราผลตอบแทนพันธบัตรที่แท้จริงของสหรัฐฯ หรืออัตราผลตอบแทนซึ่งถูกปรับด้วยเงินเฟ้อ (Real Yields) และยังถูกขับเคลื่อนโดยแนวทางและการคาดการณ์ของตลาดเกี่ยวกับการดำเนินนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) นับตั้งแต่กลางเดือนมีนาคม 2563 เฟดให้คำมั่นที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจแบบไม่จำกัดผ่านการใช้นโยบายดอกเบี้ยใกล้ 0% การเข้าซื้อสินทรัพย์ทางการเงินรวมถึงโครงการช่วยเหลือธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมเพื่อเยียวยาผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้ราคาทองคำพุ่งขึ้นเรื่อยมาและซื้อขายใกล้ระดับสูงสุดในรอบกว่า 7 ปี ขณะเดียวกันมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจชุดใหญ่ของเฟดได้หนุนราคาสินทรัพย์เสี่ยง เช่น ตลาดหุ้นให้ปรับขึ้นด้วย ในบริบทนี้ เราจึงมองว่าทองคำไม่อาจถูกจัดอยู่ในกลุ่มสินทรัพย์ปลอดภัย หากแต่มีความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวในแง่ของการเก็บรักษามูลค่าโดยเฉพาะเมื่อเงินดอลลาร์เผชิญแรงกดดันจากกระแสฉีกตำราของธนาคารกลางหลักเพื่อต่อสู้กับวิกฤติและความไม่แน่นอนที่มีมิติหลากหลายมากขึ้น

สำหรับประเทศไทย ราคาทองคำและค่าเงินบาทย่อมเคลื่อนไหวได้ทั้งสองทาง การที่ผู้ค้าทองคำมักขายทองออกในช่วงที่ราคาปรับขึ้น อาจเร่งให้เงินบาทแข็งค่ากว่าสกุลเงินภูมิภาค ในทางกลับกัน เมื่อผู้ค้าทองเข้าซื้อในจังหวะที่ราคาปรับลดลง อาจทำให้เงินบาทอ่อนค่ามากกว่าค่าเฉลี่ยของกลุ่มตลาดเกิดใหม่ในระยะสั้นได้เช่นกัน อนึ่ง โจทย์ที่ท้าทายมากกว่าราคาทองคำสำหรับภาคส่งออกไทย คือ วัฎจักรการค้าโลกที่ซบเซาและความเปราะบางเชิงโครงสร้างจากค่าเงินแพงซึ่งเป็นผลมาจากอัตราการเติบโตในระดับต่ำของการลงทุนในภาคเศรษฐกิจจริงนำมาซึ่งการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดตลอดหลายปีมานี้ และลดทอนขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยในที่สุด ยิ่งไปกว่านั้น หากมองภาพใหญ่ค่าเงินดอลลาร์ยังคงมีแนวโน้มอ่อนลง จึงนับเป็นเรื่องยากที่ทางการจะพลิกกลับทิศทางค่าเงินบาท แต่ทำได้เพียงชะลอการแข็งค่าและลดความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนเท่านั้น ขณะที่เครื่องมืออื่นๆ ที่เข้มงวด อาทิ การควบคุมเงินทุนไหลเข้าอาจต้องพิจารณาต้นทุนของการดำเนินนโยบายอย่างถี่ถ้วน

www.mitihoon.com