ออมสิน ก้าวต่อไป GSB WAY : New Normal Solution เผย 5 เดือนแรก ปี 2563 สินเชื่อพุ่งกระฉูด

1033

มิติหุ้น – ดร.ชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า ในช่วงระยะเวลากว่า 5 เดือนที่ผ่านมา เกิดเหตุการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา (โควิด-19) ไปทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย ซึ่งสถานการณ์การแพร่เชื้อยังคงดำเนินอยู่แม้จะมีการควบคุมและป้องกัน ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตของประชาชนทุกคนทั้งทางตรงและทางอ้อม กิจกรรมทางเศรษฐกิจแทบหยุดนิ่ง เกิดการเปลี่ยนแปลงการปรับตัวเพื่อให้การดำเนินชีวิตและกิจกรรมต่างๆ ให้เป็นปกติ โดยธนาคารออมสินได้มีส่วนร่วมกับการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญนี้ ทั้งในส่วนของธนาคารฯ เอง การดูแลผู้เกี่ยวข้องกับธนาคาร และลูกค้า ซึ่งดำเนินการอย่างพร้อมเพรียงกันในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ด้วยความแข็งแกร่งของคณะกรรมการธนาคาร ผู้บริหาร พนักงาน ตลอดจนลูกจ้าง ที่ร่วมมือร่วมใจกัน

ทั้งนี้ ด้วยภารกิจหลักในการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบตามมาตรการของรัฐบาล ลงพื้นที่ตรวจสอบสิทธิ์ของผู้ลงทะเบียนเพื่อขอรับเงินเยียวยาในโครงการ “เราไม่ทิ้งกัน” การดูแลลูกค้าของธนาคารฯ ด้วยการพักชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยโดยอัตโนมัติเป็นระยะเวลา 6 เดือน จนถึงสิ้นเดือนตุลาคม 2563 มีผู้ที่ได้รับประโยชน์ ทั้งลูกค้ารายย่อยและลูกค้าผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่มีวงเงินไม่เกิน 100 ล้านบาท รวม 3.10 ล้านราย วงเงินรวม 1.14 ล้านล้านบาท การให้ความช่วยเหลือเพิ่มเติมแก่ลูกค้าและประชาชนทั่วไปที่ได้รับผลกระทบด้วย สินเชื่อเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับผู้มีอาชีพอิสระที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโคโรนา (COVID-19) วงเงินกู้สูงสุด 10,000 บาท และ สินเชื่อเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับผู้มีรายได้ประจำที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโคโรนา (COVID-19) วงเงินกู้สูงสุด 50,000 บาท ซึ่งมีผู้ยื่นกู้มากถึง 3,023,168 ราย ในช่วงเวลาเพียง 2 เดือน จากปกติที่จำนวนรวมยอดผู้ยื่นกู้นี้จะต้องใช้เวลานานถึง 2 ปี โดยธนาคารฯ ได้อนุมัติไปแล้วเกือบ 600,000 ราย

นอกจากนี้ ธนาคารออมสิน ยังจัดการให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ หรือซอฟท์โลน แก่สถาบันการเงิน น็อนแบงก์ ตลอดจนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีของธนาคารออมสิน วงเงิน 150,000 ล้านบาท ได้มีผู้ยื่นกู้แล้ว 13,093 ราย วงเงินรวม 161,628 ล้านบาท ปัจจุบันได้อนุมัติแล้ว 108,960 ล้านบาท คงเหลือวงเงินที่กำลังทยอยอนุมัติอีก 41,040 ล้านบาท คาดว่าภายในเดือนมิถุนายน 2563 จะสามารถอนุมัติได้ทั้งหมด

 

 

จากสถานการณ์ดังกล่าวที่ธนาคารออมสินมุ่งเน้นให้ความช่วยเหลือตามมาตรการของรัฐบาล ทำให้ผลการดำเนินงาน 5 เดือนแรก ปี 2563 (1 มกราคม – 31 พฤษภาคม 2563) นั้น มีเงินให้สินเชื่ออยู่ที่ 2,158,364 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 2562 จำนวน 5,646 ล้านบาท โดยมีกำไรสุทธิ 5,039 ล้านบาท สูงกว่าแผนปี 2563 ส่วนสำคัญมาจากรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ 19,552 ล้านบาท รายได้ค่าธรรมเนียมสุทธิ จำนวน 1,892 ล้านบาท และรายได้อื่นอีก 2,313 ล้านบาท ซึ่งเกิดจากการปรับเปลี่ยนแผนงานให้เข้ากับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 และสอดคล้องกับทิศทางอัตราดอกเบี้ยในตลาดและการบริหารสภาพคล่องที่มีประสิทธิภาพตามสถานการณ์

ทั้งนี้ ธนาคารฯ มีเงินรับฝากฯ 2,478,531 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 2562 จำนวน 65,597 ล้านบาท ขณะที่สินทรัพย์รวมอยู่ที่ 2,877,501 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 2562 จำนวน 80,433 ล้นบาท ส่วนหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) อยู่ที่ 62,077 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 2.88 ของสินเชื่อรวม

ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวต่อไปว่า ถึงแม้ผลการดำเนินงานจะมีการเติบโตอย่างแข็งแกร่ง และมีความโดดเด่นในทุกด้าน ประกอบกับความสำเร็จของผลิตภัณฑ์และนวัตกรรมทางการเงินที่ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากลูกค้า ประชาชน และการได้รับรางวัลยกย่องจากหน่วยงานต่างๆ มากมาย ทั้งระดับประเทศ และระดับสากล แต่ธนาคารยังคงมุ่งมั่นที่จะพัฒนาและยกระดับองค์กรในทุกมิติอยู่อย่างต่อเนื่อง ให้พร้อมปรับตัวเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในยุคดิจิทัลและสถานการณ์โควิด-19 ทั้งทางด้านพฤติกรรมลูกค้า เทคโนโลยี/นวัตกรรม กฎระเบียบ ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ได้ดำรงตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการธนาคารออมสินนั้น ได้เตรียมความพร้อมขององค์กรสำหรับความท้าทายดังกล่าว โดยปรับกระบวนการให้องค์กรมีประสิทธิภาพและเพิ่มศักยภาพในการให้บริการแก่ลูกค้าและประชาชนในทุกบทบาท ด้วยการวางกลยุทธ์ 3 Banking ในปี 2562 ที่ผ่านมา อันเป็นการเพิ่มความมั่นคงทางการเงิน และขีดความสามารถทางการแข่งขัน (Traditional Banking) พร้อมสร้างสมดุลกับการดำเนินงานเชิงสังคมและตอบสนองนโยบายรัฐอย่างมีธรรมภิบาลในการยกระดับเศรษฐกิจฐานรากและสร้างความเข้มแข็ง (Social Development Banking) ควบคู่กับการยกระดับองค์กรด้วยการนำเทคโนโลยีทางเงิน มาพัฒนาการออกแบบผลิตภัณฑ์ และบริการทางการเงิน ให้มีความทันสมัย สะดวกรวดเร็วมากยิ่งขึ้น  (Digital Banking) ภายใต้โครงสร้างพื้นฐานที่มีศักยภาพ (Fundamental Capabilities) รวมถึงกับการปรับเปลี่ยนค่านิยมองค์กรเป็น GSB WAY : วิถีออมสินยุคใหม่ พร้อมเติมเต็มสังคมไทย คิดกว้างไกลเหนือขีดจำกัด” ประกอบกับการลงพื้นที่เพื่อตรวจเยี่ยม ติดตามผลการดำเนินงาน รับฟังปัญหาและความต้องการของลูกค้าและผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่ม สื่อสารและส่งมอบภารกิจ รวมทั้งสร้างขวัญกำลังใจให้แก่พนักงานด้วยตัวเอง รวมทั้งสิ้นกว่า 400 กิจกรรมต่อปี หรือคิดเป็นระยะทางถึง 150,000 กิโลเมตรต่อปี  โดยหากรวมตลอดระยะเวลา 5 ปี ที่ผ่านมา รวมแล้วถึงกว่า 2,000 กิจกรรม หรือคิดเป็นระยะทางมากกว่า 750,000 กิโลเมตร ซึ่งทุกส่วนที่กล่าวมาข้างต้นล้วนเป็นกลไกสนับสนุนที่สำคัญ ในการผลักดันให้การดำเนินงานบรรลุเป้าหมายได้อย่างยั่งยืน

 

“ในโอกาสครบวาระการดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการธนาคารคนที่ 16 ในเดือนมิถุนายน 2563 นี้ ผมยังมุ่งหวังจะเห็นธนาคารออมสินเติบโตอย่างแข็งแกร่ง มั่นคงและยั่งยืน อยู่เคียงคู่กับประเทศไทยและประชาชนชาวไทยตลอดไปอย่างสง่างาม โดยกุญแจสำคัญในการขับเคลื่อนธนาคารออมสินที่จะส่งต่อให้ผู้อำนวยการธนาคารออมสินคนใหม่ที่จะมารับช่วงการบริหารธนาคารออมสินในช่วงต่อไปนั้น จำเป็นต้องผลักดันการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ 3 Banking ให้เห็นผลเป็นรูปธรรมโดยเร็ว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำธุรกิจ (Business Model) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ จากที่วันนี้มีลูกค้าไปใช้บริการสาขาน้อยลงและหันไปใช้ช่องทางดิจิทัลมากขึ้น ในขณะที่ธนาคารออมสินมีจำนวนสาขาและบุคลากรจำนวนมากส่งผลต่อต้นทุนในการบริหารจัดการสูง ทำให้ต้องเร่งหารายได้ใหม่ๆ จากช่องทางสาขาและบุคลากรที่มี ลดต้นทุนการให้บริการหน้าสาขา ผลักดันลูกค้าให้ใช้ช่องทางดิจิทัลให้มากขึ้น และการเร่งสร้างแหล่งรายได้และผลตอบแทนจากการขยายสินเชื่อที่มีผลตอบแทนสูง มีความเสี่ยงต่ำ เพื่อปรับโครงสร้าง portfolio ของธนาคารฯ” ดร.ชาติชาย กล่าว

อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ต้นปี 2563 ที่ผ่านมา มีเหตุการณ์การแพร่เชื้อของโควิด-19 ซึ่งนอกจากทุกคนจะต้องระมัดระวังการติดต่อของโรคแล้ว ยังต้องปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต การใช้ชีวิตประจำวัน ในทุกๆ กิจกรรม รวมถึงกิจกรรมด้านการเงินซึ่งมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งธนาคารออมสินได้ออกมาตรการช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบ ตลอดจนดำเนินภารกิจที่รัฐบาลได้มอบหมายตลอดหลายเดือนที่ผ่านมา และต้องติดตามสถานการณ์ต่อไป โดยมาตรการของธนาคารฯ จะส่งผลดีทั้งลูกค้าและธนาคารฯ ขณะเดียวกัน ในส่วนของการวางแผนงาน การกำหนดกลยุทธ์ ตลอดจนการดำเนินธุรกิจของธนาคารออมสินในระยะต่อไปนั้น โครงสร้างการดำเนินกิจการปัจจุบันที่ได้พัฒนาในช่วงหลายปีที่ผ่านมาอย่างต่อเนื่องนั้น เชื่อว่าจะเป็นส่วนสำคัญของการปรับปรุงการให้บริการมุ่งสู่ Next Normal ในระยะต่อไปได้ ด้วย GSB WAY : New Normal Solution ด้วยการปรับบทบาทการให้บริการของสาขาให้เป็น Sales Advisory ให้บริการผลิตภัณฑ์และบริการที่มีความซับซ้อนใช้เวลามากในการทำธุรกรรม แต่สำหรับธุรกรรมปกติลูกค้าไม่ต้องเดินทางมาสาขา แต่จะให้บริการแบบ Delivery Banking ที่เข้าถึงตัวลูกค้าผ่านบริการ/ช่องทางต่าง ๆ ทั้งรถยนต์บริการเคลื่อนที่ เรือออมสิน และการออกไปให้บริการด้วยเครื่องมือให้บริการในชื่อ SUMO  และบริการแบบ Digital Banking ผ่าน Mobile Application “ MyMo” ซึ่งสอดคล้องกับพฤติกรรมของลูกค้าที่จะเปลี่ยนไปใช้บริการต่างๆ ผ่านโทรศัพท์มือถือเป็นหลักมากยิ่งขึ้น รวมถึงสถานที่ให้บริการที่ใกล้ตัว เช่น Banking Agent ต่างๆ เพราะฉะนั้นธนาคารฯ ต้องปรับปรุงบริการด้านการเงินให้สะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย มากยิ่งขึ้น ซึ่งโครงสร้าง 3 ธนาคารของธนาคารออมสินในขณะนี้ จะช่วยทำให้ธนาคารออมสินมีบริการในยุค New Normal ที่มีความคล่องตัวเป็นอย่างมาก ซึ่งต้องฝากไว้กับผู้อำนวยการท่านต่อไป

นอกจากนี้ การปรับบทบาทการดำเนินงานภารกิจเชิงสังคมและการตอบสนองนโยบายรัฐบาล  ที่ต้องแยกการบริหารจัดการจากภารกิจเชิงพาณิชย์ให้ชัดเจน แยกโครงสร้างบัญชีเชิงสังคมให้ครอบคลุมทุกมิติที่ธนาคารต้องดำเนินการ เพื่อสะท้อนภารกิจที่แตกต่างกันและสามารถใช้เป็นแนวทางในการกำหนดรูปแบบ การเสนอโครงการและมาตรการต่างๆ ที่ทำเพื่อตอบสนองนโยบายรัฐบาลได้อย่างเหมาะสม ไม่เกิดความเสียหายต่อองค์กร และขยายการให้บริการสาขา Social Branch ที่จะเป็นศูนย์พัฒนาสู่ความยั่งยืน Sustainable Banking Center มิติใหม่ของสถาบันการเงินที่จะมีสาขาดูแลด้านสังคมโดยเฉพาะ รวมถึงการสร้างศูนย์กลางพัฒนาส่งเสริม SMEs (SMEs Development Center) ให้สามารถสนับสนุนธุรกิจ SMEs ได้อย่างครบวงจร เพื่อการยกระดับศักยภาพเศรษฐกิจของประเทศอย่างยั่งยืน

สำหรับ Digital Banking ที่จะเป็นส่วนขับเคลื่อนสำคัญในอนาคตอันใกล้นี้ จะต้องพัฒนา Digital Platforms เพื่อมุ่งหารายได้ใหม่จากผลิตภัณฑ์ใหม่ และหา New Business Model ใหม่ๆ เพื่อทดแทนช่องทางหารายได้จาก Traditional Banking ผ่านการสร้าง GSB Digital Ecosystem ที่จะสามารถตอบโจทย์การให้บริการในอนาคตในแบบ Digital is Life ผ่านความร่วมมือทั้งจากพันธมิตรด้านเทคโนโลยี การร่วมทุนกับ Venture Capital หรือ Startup ที่มีศักยภาพ และที่สำคัญที่สุดคือบุคลากรด้าน IT ของธนาคารเองที่เป็นกำลังหลักในการขับเคลื่อนโมเดลนี้ให้ประสบผลสำเร็จสู่การเป็น Lifestyle Banking ในอนาคต

ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวอีกว่า ที่สำคัญกับการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ 3 Banking คือ การบริหารจัดการภายในที่มีประสิทธิภาพ ความร่วมมือร่วมใจของผู้บริหารและพนักงานทุกคนองค์กร และระบบเทคโนโลยีที่ล้ำสมัย เป็นพื้นฐานสำคัญที่เป็นจุดเด่นของธนาคารออมสิน หากแต่ยังมีส่วนที่ยังสามารถพัฒนาได้เพิ่มเติมต่อเนื่องหลังจากนี้ เพื่อให้สามารถรองรับการเปลี่ยนแปลงจากทุกปัจจัย และบรรลุเป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์ที่กำหนดไว้ในทุกมิติ ผ่านการ ReShape องค์กร เพื่อการปรับเปลี่ยนให้ทันต่อการเปลี่นแปลงในทุกๆ ด้านต่อไป

www.mitihoon.com