TMB-TBANK ชวนคนไทยตั้งรับเชิงรุก ผนึกกำลังองค์กรใหญ่ ช่วยเหลือ SMEs ฝ่าวิกฤติ COVID-19 ร่วมกัน

109

 

มิติหุ้น-ทีเอ็มบีและธนชาต ชวนคนไทย “ตั้งรับเชิงรุก” ผนึกกำลังองค์กรใหญ่ รวมพลังสนับสนุนช่วยเหลือ SMEs และคนไทยให้ก้าวผ่านสถานการณ์ COVID-19 ไปด้วยกัน รุกช่วยพยุง 3 อุตสาหกรรมหลัก “ท่องเที่ยว-ยานยนต์-โรงพยาบาล” พร้อมเปิดตัวอีกหลายโครงการช่วยเหลือลูกค้าทุกกลุ่มให้อยู่รอดไปด้วยกันในยุค New Normal มุ่งสานต่อเป้าหมายการสร้าง Financial Well-being ให้คนไทยทั้งประเทศ

นายปิติ  ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ทีเอ็มบี เปิดเผยว่า การแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ส่งผลกระทบในวงกว้างทั้งต่อภาคอุตสาหกรรมและภาคครัวเรือนไปทั่วโลก ซึ่งทีเอ็มบีและธนชาตในฐานะผู้นำแนวคิด Make REAL Change ที่ต้องการสร้างนิยามใหม่ของวงการธนาคาร เชื่อมั่นว่าท่ามกลางสถานการณ์เช่นนี้การรวมพลังช่วยเหลือและร่วมมือกันจากทุกภาคส่วนจะทำให้ทุกคนชนะวิกฤติในครั้งนี้ได้ เพราะไม่ว่าจะเป็นองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ ธุรกิจขนาดเล็ก (SMEs) รวมถึงผู้บริโภคตลอดทั้งซัพพลายเชนล้วนเกี่ยวข้องและต้องพึ่งพากันทั้งทางด้านสังคมและระบบเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ประกอบการ SMEs ที่จดทะเบียนทั้งประเทศกว่า 3 ล้านราย ก่อให้เกิดการจ้างงานราว 12 ล้านคน การอยู่รอดของ SMEs มีผลกระทบโดยตรงต่อการมีงานทำและรายได้ครัวเรือนของประเทศ ดังนั้นการช่วยเหลือแบบส่งต่อกันตลอดทั้งห่วงโซ่จะเป็นการช่วยทั้งระบบที่ได้ผลอย่างรวดเร็วและยั่งยืน สร้างความแข็งแกร่งให้ทั้งอุตสาหกรรม ส่งผลต่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศไทยได้ในเร็ววัน โดยธนาคารพร้อมสนับสนุนบริษัทคู่ค้าและพันธมิตรทางการค้าผ่านโครงการต่างๆ มากมายเพื่อช่วยเหลือลูกค้าทุกกลุ่ม ได้แก่

  1. มาตรการช่วยเหลือภายใต้โปรแกรมซัพพลายเชนผ่านองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ ซึ่งธนาคารพร้อมสนับสนุนเงินทุนช่วยเหลือโดยตรงแก่พันธมิตรองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ที่มีความแข็งแกร่งกว่าให้ไปช่วยเหลือซัพพลายเออร์และคู่ค้า SMEs รายเล็ก ไม่ว่าจะเป็นการจ่ายเงินให้แก่ซัพพลายเออร์ได้เร็วขึ้นหรือการยืดเวลาการรับเงินจากคู่ค้า เช่น ตัวแทนจำหน่ายสินค้า เพิ่มขึ้นอีก 30 วัน ซึ่งจะช่วยเพิ่มสภาพคล่องให้แก่ซัพพลายเออร์และคู่ค้า เพื่อให้ผู้ประกอบการ SMEs สามารถนำเงินทุนที่มีอยู่ไปใช้ในกิจกรรมจำเป็นด้านอื่นๆ และรักษาการจ้างงาน นอกจากนี้ธนาคารยังมีการให้เงินทุนหมุนเวียน (Soft Loan) แก่คู่ค้า SMEs ของพันธมิตรองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ของธนาคารผ่านโปรแกรมซัพพลายเชน

“โดยทีเอ็มบีและธนชาต ได้เริ่มจ่ายเงินให้กับซัพพลายเออร์ของธนาคารเร็วขึ้นจาก 30-60 วัน เป็น 15 วัน และได้ร่วมมือกับพันธมิตรองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ ได้แก่ กลุ่มบริษัทบุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด กลุ่มมิตรผล กลุ่มปตท. และเอสซีจี เพื่อให้ความช่วยเหลือคู่ค้า SMEs ในรูปแบบที่ต่างกันไปตามความเหมาะสม ซึ่งที่ผ่านมา ธนาคารได้ช่วยคู่ค้า SMEs ขององค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ในการพักชำระหนี้ กว่า 1,000 ราย พร้อมเตรียมให้เงินทุนหมุนเวียนกับพันธมิตรของเราและให้คู่ค้า SMEs อีกกว่า 100 ราย คิดเป็นมูลค่า 500 ล้านบาท เพื่อเพิ่มสภาพคล่องทางการเงินให้แก่คู่ค้า SMEs ต่อไป ทีเอ็มบีและธนชาตจึงอยากขอเชิญชวนองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ รวมถึงพันธมิตรของธนาคาร มาร่วมกันให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs เพื่อให้เดินหน้าต่อไปได้”

  1. มาตรการช่วยเหลือลูกค้า SMEs โดยตรง ได้แก่ โปรแกรมการพักชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ย เป็นเวลา 6 เดือน การให้เงินทุนหมุนเวียน (Soft Loan) เพื่อเพิ่มสภาพคล่องและรักษาการจ้างงาน การมอบโปรโมชันพิเศษ ฟรี! ประกันโควิดให้แก่พนักงานเมื่อผู้ประกอบการ SMEs สมัครบริการ Payroll จ่ายเงินเดือนพนักงานออนไลน์ และการจัด SME Knowledge Sharing Webcast ช่วยแนะนำให้คำปรึกษาลูกค้า SMEs ของธนาคาร แบบไม่มีค่าใช้จ่าย เพื่อให้ผู้ประกอบการ SMEs ตั้งรับเชิงรุก ปรับกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจภายใต้ทิศทางเศรษฐกิจใหม

 

3.มาตรการช่วยเหลือลูกค้าบุคคล ธนาคารมีการออกมาตรการช่วยเหลือลูกค้าบุคคลอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เกิดวิกฤติ เช่น มาตรการตั้งหลักช่วยเหลือลูกค้าพักชำระหนี้ การปรับปรุงสิทธิประโยชน์ของผลิตภัณฑ์และบริการต่างๆ เพื่อสอดรับกับวิกฤติ COVID-19 ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มสิทธิประโยชน์ค่ารักษาพยาบาลจากอุบัติเหตุให้กับลูกค้าบัญชี All Free ที่มีกว่า 3 ล้านราย โปรโมชันบัตรเครดิตที่มุ่งเน้นโปรโมชันให้ลูกค้าประหยัดได้มากกว่ากับการใช้จ่ายออนไลน์ในช่วงที่ต้องอยู่บ้าน การยกเว้นค่าธรรมเนียมแรกเข้าสำหรับกองทุนที่ได้คัดสรรมาแล้วของ บลจ.ทหารไทย อีสต์สปริง และบลจ.ธนชาต เพื่อช่วยลูกค้าธนาคารกว่า 150,000 ราย ที่ต้องการลงทุนเฉลี่ยต้นทุนหรือมองหาผลตอบแทนระยะยาว

นอกจากนี้ ธนาคารยังมุ่งให้ความช่วยเหลือ 3 อุตสาหกรรมหลักที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากสถานการณ์ COVID-19 ได้แก่ อุตสาหกรรมท่องเที่ยว อุตสาหกรรมยานยนต์ และโรงพยาบาล รวมไปถึงบุคลากรทางการแพทย์ทั้งหลาย โดยอุตสาหกรรมท่องเที่ยวถือว่าเป็นอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบสูงสุด เพราะมีผู้ประกอบการโรงแรมได้รับความเดือดร้อนถึง 7,500 ราย คิดเป็นการสูญเสียรายได้ 2.8 หมื่นล้านบาท ธนาคารได้เข้าไปมีส่วนร่วมสนับสนุน โดยมีการปรับเปลี่ยนงบการตลาดกว่า 100 ล้านบาท เพื่อจัดทำโปรโมชันและสิทธิพิเศษในกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยว เช่น กลุ่มโรงแรม ร้านอาหาร หวังช่วยกระตุ้นรายได้และฟื้นฟูเศรษฐกิจในกลุ่มนี้  ส่วนกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ ธนาคารได้ช่วยพักชำระหนี้ให้กับตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ กว่า 500 ราย เป็นมูลค่ารวม 4,200 ล้านบาท และได้ดูแลช่วยเหลือเรื่องสินเชื่อดอกเบี้ยพิเศษ (Soft Loan) ให้กับตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ ทั้งมือหนึ่งและมือสองของธนาคาร ประมาณ 100 ราย เป็นวงเงินรวมประมาณ 500 ล้านบาท และในกลุ่มโรงพยาบาลซึ่งประกอบด้วยบุคลากรทางการแพทย์ที่เป็นกำลังสำคัญในการตั้งรับกับวิกฤติ COVID-19 ได้ทำงานอย่างหนักและเสี่ยงอันตรายช่วยเหลือคนไข้มาตลอด จนอาจไม่ได้มีเวลาดูแลและวางแผนเรื่องการเงินของตัวเอง ธนาคารจึงได้ออกโปรแกรมสินเชื่อดอกเบี้ยพิเศษเพื่อช่วยเหลือบุคคลากรทางการแพทย์จากกว่า 30 โรงพยาบาลทั่วประเทศ

ทั้งนี้ ธนาคารยังได้จัดกิจกรรมที่ช่วยกระตุ้นให้คนในสังคมที่ยังพอมีกำลังร่วมส่งต่อความช่วยเหลือด้วยการบริจาคผ่านแพลตฟอร์มระดมทุน punboon.org ให้กลุ่มโรงพยาบาลที่ต้องการทุนทรัพย์เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วย COVID-19 และยังมีกิจกรรม CSR จากโครงการไฟ-ฟ้า ทีเอ็มบีและธนชาตที่ได้อาสาสมัครจากเด็กๆ ในชุมชน และบุคคลทั่วไป กว่า 200 คน ร่วมผลิตหน้ากากป้องกันใบหน้า (Face Shield) จำนวน 8,000 ชิ้น ส่งมอบให้โรงพยาบาลที่ขาดแคลน ตอกย้ำความเชื่อมั่นเรื่องการช่วยเหลือกันทั้งระบบเพื่อความยั่งยืนของชุมชนและสังคม

“ทีเอ็มบีและธนชาตจึงขอเชิญชวนคนไทยตั้งรับเชิงรุก ปรับมุมมอง เปลี่ยนพฤติกรรมในยุค New Normal เพื่อจัดการชีวิตและธุรกิจแบบเชิงรุก โดยเฉพาะองค์กรที่ยังพอมีกำลัง เช่น องค์กรธุรกิจขนาดใหญ่มาร่วมกันช่วยเหลือกลุ่ม SMEs เพราะการช่วยเหลือส่งต่อให้กันทั้งซัพพลายเชนจะเกิดผลรวดเร็วและยั่งยืน ช่วยพลิกวิกฤติเศรษฐกิจของประเทศให้ฟื้นกลับมาได้ในเร็ววัน ด้วยความมุ่งมั่นที่จะช่วยสร้างชีวิตทางการเงินที่ดีและยั่งยืนให้กับธุรกิจไทยและคนไทยทั้งประเทศ เพราะธนาคารเชื่อว่านั่นคือรากฐานที่ช่วยให้คนไทยทุกคนสามารถบรรลุเป้าหมายในชีวิตได้อย่างแท้จริง” นายปิติ กล่าวสรุป

www.mitihoon.com