เมื่อ บจ. เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ

214

ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจของหลายอุตสาหกรรม ซึ่งอาจทำให้มีบริษัทจดทะเบียนบางบริษัทจำเป็นต้องตัดสินใจเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ โดยยื่นคำร้องต่อศาลล้มละลายกลางเพื่อขอฟื้นฟูกิจการ

หลายท่านเกิดคำถามว่า เมื่อบริษัทเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการแล้ว ต้องมีหน้าที่อย่างไรในฐานะบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ

ก่อนอื่น ต้องเข้าใจว่าบริษัทจดทะเบียนมีหน้าที่ต่อผู้ถือหุ้น โดยจะต้องเปิดเผยข้อมูลสำคัญให้ทราบโดยทั่วถึงกัน ไม่ว่าจะเป็น ข้อมูลงบการเงิน ข้อมูลสำคัญที่มีผลต่อราคาหุ้น มติที่ประชุมกรรมการบริษัท มติที่ประชุมผู้ถือหุ้น รวมทั้งข้อมูลอื่นๆ ที่มีนัยสำคัญต่อการตัดสินใจของผู้ลงทุน ซึ่งตลาดหลักทรัพย์ฯ ยึดเป็นหลักการสำคัญในการดูแลผู้ลงทุน เพื่อให้มีข้อมูลที่เพียงพอในการพิจารณาตัดสินใจลงทุน

ดังนั้น เมื่อบริษัทเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ ก็ยังคงมีหน้าที่และแนวทางการปฏิบัติเหมือนบริษัทจดทะเบียนอื่นๆ คือต้องเปิดเผยข้อมูลต่าง ๆ และที่เพิ่มเติมขึ้นมาคือการรายงานข้อมูลเกี่ยวกับการเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ อาทิ การยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลาง เมื่อศาลพิจารณารับคำร้อง สาระสำคัญของแผนฟื้นฟูกิจการ และเมื่อศาลอนุมัติแผนฟื้นฟูกิจการ เป็นต้น

แล้วจะมีการเตือนผู้ลงทุนหรือไม่? เมื่อใด?

การขึ้นเครื่องหมายบนหลักทรัพย์ เป็นอีกหนึ่งมาตรการในการกำกับดูแลบริษัทจดทะเบียนและคุ้มครองผู้ลงทุน โดยการขึ้นเครื่องหมายแต่ละประเภทนั้นมีวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกัน เช่น เครื่องหมาย “C” (Caution) ใช้เพื่อเตือนผู้ลงทุนให้เพิ่มความระมัดระวัง และศึกษาข้อมูลก่อนตัดสินใจลงทุนในหลักทรัพย์ โดยเมื่อศาลรับพิจารณาคำร้องฟื้นฟูกิจการ หรืองบการเงินมีส่วนของทุนต่ำกว่า 50% ของทุนเรียกชำระแล้ว กรณีใดกรณีหนึ่งหรือทั้งสองกรณี ตลาดหลักทรัพย์ฯ จะขึ้นเครื่องหมาย “C”  โดยผู้ลงทุนยังคงซื้อขายได้ด้วยบัญชี cash balance (ผู้ลงทุนวางเงินสดล่วงหน้าเต็มจำนวนก่อนซื้อขาย) และบริษัทเองก็มีหน้าที่รายงานความคืบหน้าของการดำเนินงานตามแผนฟื้นฟูกิจการต่อผู้ลงทุนทุก ๆ ไตรมาส ส่วนการส่งงบการเงินจะต้องส่งตามกำหนดเวลาปกติเหมือนบริษัทจดทะเบียนทั่วไป

ส่วนเครื่องหมาย “SP” จะเกิดขึ้นเมื่อมีเหตุต่าง ๆ อาทิ บริษัทไม่ส่งงบการเงินตามกำหนดเวลา โดยจะขึ้นเครื่องหมาย “NC” ควบคู่ไปด้วยหากบริษัทเข้าสู่เหตุเพิกถอนจากการที่ส่วนของทุนมีค่าติดลบ ซึ่งจะพิจารณาจากงบการเงินงวดปีเท่านั้น ไม่ได้พิจารณาจากงบการเงินงวดไตรมาส ซึ่งเครื่องหมาย “SP” ดังกล่าวจะมีผลทำให้หุ้นของบริษัทถูกพักการซื้อขาย และจะกลับมาซื้อขายใหม่ก็ต่อเมื่อบริษัทแก้เหตุเพิกถอนตามเกณฑ์และระยะเวลาที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ กำหนด

จะเห็นได้ว่า ตลาดหลักทรัพย์ฯ มีกลไกและแนวทางเพื่อดูแลผู้ถือหุ้น ครอบคลุมทั้งกรณีปกติและกรณีบริษัทจดทะเบียนที่เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ขณะเดียวกัน บริษัทจดทะเบียนเองก็มีหน้าที่ในการแก้ไขปัญหาของบริษัท ควบคู่ไปกับการเปิดเผยข้อมูลให้ผู้ถือหุ้นและผู้ลงทุนรับทราบอย่างเท่าเทียม ที่สำคัญผู้ลงทุนควรติดตามข้อมูลข่าวสารของบริษัทที่ท่านลงทุนอย่างสม่ำเสมอจากเว็บไซต์ www.set.or.th และแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้ ทั้งนี้ เพื่อเป็นประโยชน์ของท่านในการตัดสินใจซื้อขายหลักทรัพย์ได้มั่นใจและทันเหตุการณ์

โดยแมนพงศ์ เสนาณรงค์

รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานผู้ออกหลักทรัพย์

ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

www.mitihoon.com