เมื่อเศรษฐกิจไทยต้องเวทมนตร์

65

 

 

ดร.อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่  สำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย (CIMBT)

 

เศรษฐกิจไตรมาสแรกหดตัว

สภาพัฒน์รายงานตัวเลขการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในไตรมาสแรกไว้ที่ -1.8% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันปีก่อน หรือหดตัว 2.2% เมื่อเทียบไตรมาสก่อนหน้าหลังปรับฤดูกาล ภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจเช่นนี้มีปัจจัยสำคัญมาจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ทำให้คนระมัดระวังการเดินทางและการเข้าไปในพื้นที่สาธารณะต่างๆ รัฐบาลในหลายประเทศได้ออกมาตรการจำกัดการใช้พื้นที่ต่างๆ รวมทั้งการปิดกิจการห้างร้านเพื่อลดการแพร่ระบาด ซึ่งแม้นับว่าเป็นเรื่องที่ดีทางสาธารณสุข แต่ในทางเศรษฐกิจก็ทำให้คนว่างงานและขาดรายได้ โดยในช่วงไตรมาสแรกนั้น จำนวนนักท่องเที่ยวหดตัวถึง 38% ซึ่งกระทบธุรกิจโรงแรม ร้านอาหาร และกิจกรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับนักท่องเที่ยว นอกจากการท่องเที่ยวที่อ่อนแอแล้ว อุปสงค์ภาคต่างประเทศก็ชะลอตัวและกระทบภาคการส่งออกของไทย โดยการระบาดของไวรัสจากจีนไปทั่วโลกได้มีผลให้มีคนว่างงานในหลายประเทศและคนก็ระมัดระวังในการจับจ่ายซื้อของ เมื่อส่งออกไม่ได้ ภาคการผลิตก็มีปัญหาเพราะผลิตไปก็ขายลำบาก กำลังการผลิตก็เหลือ สต๊อกสินค้าก็ล้น บริษัทและโรงงานต่างพากันลดคนงานหรือให้ลาพักโดยไม่รับเงินเดือนในช่วงนี้ และยิ่งทำให้การบริโภคในประเทศอ่อนแอลงเพราะขาดกำลังซื้อ ไม่เพียงกำลังซื้อของนักท่องเที่ยวที่หายไป แต่กำลังซื้อคนในประเทศก็อ่อนแอจากรายได้ที่หดหาย คนในภาคเกษตรก็ยากลำบากจากปัญหาภัยแล้งที่รุนแรงกระทบผลผลิตให้น้อยลง ในส่วนภาครัฐเองก็มีความล่าช้าในการออกงบประมาณรายจ่ายทำให้การบริโภคและการลงทุนของรัฐบาลหดตัว อย่างไรก็ดี ภาครัฐได้ออกมาตรการทางการคลังในการประคองเศรษฐกิจขนานใหญ่ ซึ่งเราหวังว่าภาครัฐจะเป็นพระเอกในรอบนี้

เศรษฐกิจไทยกำลังดำดิ่งในไตรมาสที่ 2

แม้รัฐบาลได้อัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู้ระบบด้วยการออกมาตรการชดเชยรายได้ให้แก่ผู้ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจจากไวรัสโควิด-19 อีกทั้งทางธนาคารแห่งประเทศไทยได้ออกมาตรการลดภาระผู้กู้ในการชะลอการชำระหนี้ชั่วคราว และได้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายพร้อมอัดฉีดเงินเพื่อรักษาเสถียรภาพตลาดตราสารหนี้ แต่ปัจจัยความเสี่ยงทางเศรษฐกิจมีแนวโน้มสูงขึ้น โดยเฉพาะจากภาคต่างประเทศ ที่การส่งออกสินค้ามีโอกาสหดตัวได้ถึง 20% และจำนวนนักท่องเที่ยวมีโอกาสหดตัวได้ถึง 90%  ในช่วงที่เหลือของปีนี้ ทางสำนักวิจัยจึงได้คาดว่า GDP ไตรมาสที่สองนี้มีโอกาสหดตัวได้ถึง 14% และน่าจะลดการหดตัวลงในช่วงที่เหลือของปี โดยเราคาดว่าเศรษฐกิจไทยช่วงครึ่งปีหลังอาจหดตัวราว 10% และเนื่องจากการหดตัวที่ลึกและลากยาวของเศรษฐกิจที่มากกว่าที่ประเมินไว้ก่อนหน้า โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวที่จะฟื้นตัวช้า ทางเราจึงได้ปรับลดมุมมองการเติบโตทางเศรษฐกิจปีนี้ลงจาก -6.4% เป็น -8.9% และที่เราต้องเตือนคือ วิกฤติเศรษฐกิจรอบนี้อาจเลวร้ายที่สุดที่ประเทศไทยเคยเผชิญ ซึ่งจะรุนแรงกว่าวิกฤติต้มยำกุ้งที่เศรษฐกิจไทยในปี 2541 หดตัว 7.63% โดยเฉพาะไตรมาสที่สองปีนั้นหดตัวลึกถึง 12.53% แต่รอบนี้อาจได้เห็นเศรษฐกิจหดตัวเลขสองหลักอีกครั้งและลากยาวกว่าเดิม

เรากำลังโดนเวทมนตร์อะไรระหว่างตัว J กลับข้าง หรือ Avada Kedavra

เศรษฐกิจไทยเหมือนกำลังต้องเวทมนตร์จากไวรัสโควิด-19 ซึ่งอาจจะมีเวทมนตร์มากกว่าหนึ่งคาถาที่เศรษฐกิจไทยได้รับ เวทมนต์แรกคือตัวเจกลับข้าง หรือ Reversed J คือเศรษฐกิจไทยอาจลงลึก ลากยาว ฟื้นต่ำ คล้ายๆ กับตัวยู U แต่ด้วยกระแสต่อต้านโลกาภิวัตน์ de-globalization ที่แต่ละประเทศหวังดึงเงินให้หมุนในประเทศ ไม่อยากให้ออกไปข้างนอก ไม่ว่าจะเป็นการท่องเที่ยวที่เมื่อปัญหาโควิดคลี่คลายลง แต่ละประเทศโดยเฉพาะจีนจะอยากให้เน้นการท่องเที่ยวในประเทศเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจภายใน ส่วนผู้ประกอบการก็อยากให้มีการตั้งกำแพงภาษีสินค้านำเข้าหรือรัฐบาลจะมีการสร้างแรงจูงใจให้ใช้สินค้าและวัตถุดิบในประเทศเพื่อส่งเสริมการสร้างงานและฟื้นฟูภาคอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากโควิดที่ทำให้กำลังการผลิตตกต่ำ ซึ่งการจำกัดการเคลื่อนย้ายของทุนและแรงงาน ตลอดจนการท่องเที่ยวจะมีผลให้การใช้ทรัพยากรในประเทศขาดประสิทธิภาพและทำให้เศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลกอาจกลับไปโตได้ต่ำกว่าช่วงก่อนเกิดวิกฤติโควิด เวทมนตร์ที่สองคือ Avada Kedavra ซึ่งสำหรับคนที่ชื่นชอบเรื่อง Harry Potter จะรู้ดีว่ามันคือรูปแผลเป็นบนหน้าผากของแฮรี่ เป็นรูปคล้ายๆ สายฟ้าฟาด จะเอียงๆ อยู่ระหว่างตัว N และตัว Z เวทมนตร์นี้ใช้หลอกนักเศรษฐศาสตร์ที่มักมองโลกในแง่ลบ มองเศรษฐกิจกำลังเลวร้าย แต่สำหรับนักลงทุน เขากลับมองโลกในด้านบวก มองว่าเศรษฐกิจกำลังจะถึงจุดต่ำสุดในช่วงนี้ สถานการณ์กำลังคลี่คลายไปด้วยดี ไม่ว่าจะเปิดการเปิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ การลดลงของจำนวนผู้ติดเชื้อ และมองสภาพคล่องที่มีล้นประกอบกับราคาสินทรัพย์ที่ย่อลงอยู่ในระดับที่น่าสนใจในการลงทุน เราจึงเห็นราคาหุ้น และราคาสินทรัพย์ต่างๆ ทะยานกลับขึ้นไปได้อย่างรวดเร็วหลังดิ่งลงมาในช่วงเดือนมีนาคมถึงต้นเดือนเมษายน เป็นภาพคล้ายๆกับสายฟ้าฟาด นั่นเพราะนักลงทุนมองอนาคตขณะที่นักเศรษฐศาสตร์มองปัจจัยพื้นฐานในปัจจุบัน เราจึงเห็นภาพผลกระทบจากโควิดในภาพที่แตกต่างกัน แต่สิ่งหนึ่งที่เราเห็นร่วมกันคือ อนาคตจะสดใสกว่าปัจจุบันและเราจะสามารถฝ่าฟันให้พ้นวิกฤตินี้ไปให้ได้ในไม่ช้า