บล.ทิสโก้ชี้หุ้นไทยปรับขึ้นได้จำกัด หลังกำไร บจ. ต่ำกว่าคาด – ติดลบ 58% เมื่อเทียบปีก่อน 

72

มิติหุ้น – บล.ทิสโก้เปิดตัวเลขกำไรไตรมาส 1/2563 รวม 1.09 แสนล้านบาท ลดลง 58% เมื่อเทียบกับปีก่อน ชี้ราคาหุ้นปัจจุบันใกล้เคียงค่าเฉลี่ยในอดีตแล้ว ทำให้โอกาสปรับขึ้นต่อเหลือน้อย พร้อมเปิดชื่อหุ้นเก็งเข้า SET 50 และ SET 100 แนะ 4 ธีมหุ้นน่าสนใจระยะสั้น ได้แก่ หุ้นได้ประโยชน์ผ่อนปรนล็อกดาวน์- หุ้นงบดีกว่าคาด – หุ้นที่แนวโน้มกำไรไตรมาส 2 น่าจะดีขึ้น และหุ้นเข้า MSCI

นายอภิชาติ ผู้บรรเจิดกุล ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานวิเคราะห์เชิงกลยุทธ์ บริษัทหลักทรัพย์ ทิสโก้ จำกัด เปิดเผยว่า จากการรวบรวมผลกำไรสุทธิบริษัทจดทะเบียนไตรมาสที่ 1/2563 จำนวน 113 บริษัทพบว่า มีกำไรสุทธิรวมอยู่ที่ 7.87 หมื่นล้านบาท ต่ำกว่าคาดการณ์ของตลาดโดยรวม (Bloomberg Consensus) ที่มองไว้ที่ 1.11 แสนล้านบาท โดยจำนวนนี้มี 45 บริษัทที่มีผลประกอบการดีกว่าคาด, 41 บริษัทที่มีผลประกอบการแย่กว่าคาด และ 27 บริษัทที่มีผลประกอบการตามคาด ทำให้ตั้งแต่ต้นเดือนพฤษภาคมถึงปัจจุบัน นักวิเคราะห์ในตลาดเริ่มปรับลดประมาณการกำไรบริษัทจดทะเบียนไทยทั้งปี 2563 ลงประมาณ 5.2% เหลือ 69.7 บาทต่อหุ้น และปรับลดประมาณการกำไรบริษัทจดทะเบียนไทยปี 2564 ลง 3.3% เหลือ 85.6 บาทต่อหุ้น

ส่งผลให้ระดับการประเมินมูลค่าที่เหมาะสมของดัชนีหุ้นไทย (SET Index) ในแต่ละไตรมาสถูกปรับลงเช่นกัน ทำให้ในระยะสั้นตลาดหุ้นไทยมีโอกาสการปรับขึ้นของดัชนี (Upside) ที่จำกัด และถึงแม้ปัจจุบันดัชนีหุ้นไทยจะอ่อนตัวลงเล็กน้อยจากสิ้นเดือนเมษายน แต่ระดับการประเมินมูลค่าหุ้นไทยกลับตึงตัวมากขึ้นจากประมาณการกำไรของตลาดที่ถูกปรับลง ส่งผลให้อัตราราคาต่อกำไรล่วงหน้า 12 เดือน (12m Fwd. PER) ของหุ้นไทยเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 16.5 เท่า ใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยระยะยาวที่ 16.6 เท่า ซึ่งระดับราคาที่สูงเช่นนี้อาจดูไม่สมเหตุสมผลท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่หดตัวรุนแรงและสถานการณ์ไม่แน่นอนในต่างประเทศ ดังนั้น บล.ทิสโก้จึงยังคงมุมมองการลงทุนช่วงนี้แค่เลือกเทรดดิ้งสั้นๆ ในกรอบ 1,270-1,330 จุด โดยใช้กลยุทธ์ลงซื้อ-ขึ้นขาย

อย่างไรก็ตาม บล.ทิสโก้ได้รวบรวมผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนไตรมาสที่ 1/2563 (ไม่นับรวมตลาด mai) จำนวน 552 บริษัท หรือคิดเป็น 89% ของจำนวนบริษัทจดทะเบียนทั้งหมดที่ 621 บริษัท (ข้อมูล ณ วันที่ 15 พฤษภาคม 2563) พบว่า มีกำไรสุทธิรวม 1.09 แสนล้านบาท ทรุดตัวแรง 58% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน (YoY) และลดลง 50% เมื่อเทียบกับไตรมาส 4/2562 (QoQ) เนื่องจากถูกกดดันจากผลประกอบการของกลุ่มพลังงาน (ENERG) ที่พลิกขาดทุนสุทธิ 2.05 หมื่นล้านบาท และกลุ่มปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ (PETRO) ที่ขาดทุนสุทธิ 6.84 พันล้านบาท เนื่องจากมีผลขาดทุนสต็อกน้ำมันเป็นจำนวนมาก และมีผลขาดทุนอัตราแลกเปลี่ยนจากเงินบาท

ขณะที่กลุ่มเหล็ก (STEEL) และกลุ่มสื่อและสิ่งพิมพ์ (MEDIA) มีผลขาดทุนต่อเนื่องเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ส่วนกลุ่มอื่นๆ ส่วนใหญ่ก็มีกำไรลดลงมากเช่นกันทั้ง YoY และ QoQ หลักๆ จากการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นผลจากการเริ่มแพร่ระบาดของ COVID-19 และบางส่วนจากการเปลี่ยนแปลงมาตรฐานบัญชีใหม่ ทั้งนี้ กลุ่มที่มีสัดส่วนกำไรมากที่สุด 5 อันดับแรก คือ กลุ่มธนาคาร (BANK) มีกำไรสุทธิรวม 5.03 หมื่นล้านบาท, กลุ่มเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT)  มีกำไรสุทธิรวม 1.60 หมื่นล้านบาท, กลุ่มพาณิชย์ (COMM) มีกำไรสุทธิรวม 1.36 หมื่นล้านบาท, กลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม (FOOD) มีกำไรสุทธิรวม 1.13 หมื่นล้านบาท และกลุ่มพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ (PROP) มีกำไรสุทธิรวม 1.11 หมื่นล้านบาท

นายอภิชาติ กล่าวอีกว่า ในช่วงกลางเดือนมิถุนายน 2563 นี้ ตลาดหลักทรัพย์ฯ จะประกาศรายชื่อหุ้น SET50 / SET100 Index ชุดใหม่อย่างเป็นทางการ เพื่อให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม – 30 ธันวาคม 2563 ซึ่งจากการศึกษาความเคลื่อนไหวราคาหุ้นในอดีตนับตั้งแต่ปี 2552 หุ้นที่เข้าดัชนี SET50 ราคาหุ้นมักจะปรับตัวขึ้นดีกว่าตลาด ในช่วง 1-2 เดือนล่วงหน้าก่อนมีผลบังคับใช้จริง โดยมีผลตอบแทนคาดหวังเฉลี่ย 6.8% และมีโอกาสทำกำไรสูงประมาณ 70% ดังนั้น เพื่อให้นักลงทุนของเราสามารถวางแผนการลงทุนได้ล่วงหน้า จึงคาดการณ์รายชื่อหุ้นเข้า-ออกดัชนี SET50 / SET100 ในเบื้องต้น (รายชื่ออาจเปลี่ยนแปลงได้ โดยจะออกบทวิเคราะห์อีกครั้งในช่วงต้นเดือนมิถุนายน) ดังนี้ หุ้นที่คาดว่าจะเข้า SET50 คือ TTW และ M  ซึ่งจะเข้ามาแทนหุ้น BANPU และ WHA ที่คาดว่าจะตกชั้นไปอยู่ใน SET100  หุ้นที่คาดว่าจะเข้า SET100 คือ M, ACE, BLA, TPIPL, TVO, BFIT, BLAND, EASTW, WHAUP, SPCG และ DOHOME ซึ่งจะแทนหุ้น PSL, BGC, STPI, ERW, BEC, TKN, RS, ORI, THAI, EPG และ SUPER 

ส่วนการประกาศการทบทวนดัชนีของ MSCI รอบนี้ที่จะมีผลบังคับใช้ ณ ราคาปิดวันที่ 29 พ.ค. นี้ มีหุ้นไทย 3 บริษัทได้รับคัดเลือกเข้าดัชนี MSCI Global Standard คือ AWC, BAM และ KTC และออก 1 บริษัท คือ BANPU ขณะที่ดัชนี MSCI Small Cap มีหุ้นเข้า 1 บริษัท คือ BANPU และออก 16 บริษัท คือ ANAN, BEAUTY, BEC, ERW, GGC, ITD, LPN, PLAT, PSL, GLOBAL, SVI, TTA, U, UNIQ, UV และ WORK 

โดยสรุปในรอบนี้จึงมีธีมหุ้นที่น่าสนใจระยะสั้น ดังนี้ 1. หุ้นที่ได้ประโยชน์จากการทยอยผ่อนปรนมาตรการล็อกดาวน์และราคายังมีโอกาสปรับขึ้น คือ CPALL, HMPRO, BEM และ BTS 2. หุ้นที่งบดีกว่าคาด ตลาดมีโอกาสปรับประมาณการกำไรและเป้าหมายราคาหุ้นขึ้น คือ CBG, COTTO, CPF, GLOBAL, LPH, PYLON, SMPC และ SYNEX 3. หุ้นที่แนวโน้มกำไรไตรมาส 2 น่าจะดีขึ้น จากไตรมาส 1 คือ  AP, PRM, PTTEP, TASCO, และ TWPC 4. หุ้นเข้า MSCI แนะนำ BAM และหุ้นเก็งเข้า SET50 / SET100 คือ TTW / ACE, TVO และ WHAUP ตามลำดับ

www.mitihoon.com