บทความ “โลกหลังวิกฤติ Covid-19 (ตอนที่ 4)”

281

HIGHLIGHT :

  • โลกหลังวิกฤติ Covid-19 (ตอนที่ 4) สรุปคำแนะนำในการปรับตัวของธุรกิจบริการ “Hospitality Industry” 9 ประการ ซึ่งครอบคลุมธุรกิจโรงแรม ภัตตาคารและธุรกิจท่องเที่ยว จากบทความของ Graham Harriman FIH เรื่อง “ How will hospitality service change post Covid-19?”

ในบทความตอนที่ 4 นี้ เราจะมาดูการพยากรณ์การปรับตัวของอุตสาหกรรมบริการ (Hospitality Industry) ซึ่งมีความสัมพันธ์กับในตอนที่ 3 ที่กล่าวถึงแนวทางการปรับตัวของธุรกิจอาหารซึ่งเป็นธุรกิจบริการชนิดหนึ่งในอุตสาหกรรมนี้ ตามความหมาย “Hospitality” หมายถึง การต้อนรับ การรับรองผู้มาเยือน “Hospitality Industry” จึงหมายถึง อุตสาหกรรมบริการซึ่งครอบคลุม ธุรกิจโรงแรม ธุรกิจภัตตาคารและธุรกิจท่องเที่ยว ซึ่งอุตสาหกรรมบริการเหล่านี้ เป็นส่วนสำคัญอย่างมากในระบบเศรษฐกิจของไทย และกำลังได้รับผลกระทบจากวิกฤติ Covid-19 ในขณะนี้

บทความเรื่อง “How will hospitality service change post Covid-19?” โดยGraham Harriman, FIH ที่ลงใน Institute of Hospitality สรุปคำแนะนำสำคัญในการปรับตัวหลังวิกฤติ Covid-19 ไว้ 9 ประการดังนี้

1) นโยบายเกี่ยวกับการยกเลิกการจอง (Cancellation policies)

นโยบายเกี่ยวกับการจองที่พักหรือการใช้บริการอาจต้องปรับเปลี่ยนให้ยืดหยุ่นกว่าเดิม เนื่องจากในช่วงที่มีการระบาดอาจมีทั้งลักษณะรุนแรงหรือไม่รุนแรง ลูกค้าจะชอบหากสามารถยกเลิกหรือเปลี่ยนไปมาได้หลายครั้ง ผู้ประกอบการต้องมาคิดว่าจะทำได้อย่างไรบ้าง และต้องปรับระบบการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องอย่างไร

 

2) การลงทะเบียนเข้าใช้ล่วงหน้า (Pre-arrival registration)

ปกติเวลาเราไปถึงโรงแรมหรือสถานที่ให้บริการต้องมีการติดต่อลงทะเบียน ซึ่งจะต้องมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างลูกค้าและพนักงาน ในช่วงมีการระบาดของไวรัส สถานประกอบการจึงอาจต้องคิดระบบการลงทะเบียนที่ลูกค้าทำเองได้จากที่บ้านเลย และเมื่อมาถึงสถานที่ให้บริการก็ต้องคิดกระบวนการให้สามารถลดการสัมผัสกันให้มากที่สุด โดยปัจจุบันเริ่มมีการพูดถึงเทคโนโลยีที่ต้องนำมาใช้ เช่น Electronic locks โดยใช้ Bluetooth หรือ RFID เป็นต้น

 

3) การแสดงหลักฐานยืนยันของผู้ใช้บริการว่าปลอดเชื้อ (Covid-19 testing and tracing)

ในขณะที่โรคระบาดยังมีอยู่ ผู้ใช้บริการเองถ้าถูกตรวจสอบและบันทึกไว้เรียบร้อยในประวัติว่าตนเองปลอดเชื้อ อาจถูกหน่วยงานทางการขอความร่วมมือในการแสดงหลักฐานยืนยันตัวตนในเรื่องนี้ ซึ่งจะเป็นมาตรการเพิ่มเติมที่ดีที่ช่วยให้ควบคุมโรคได้ดีขึ้นทั้งในช่วงเข้าพักและหลังเข้าพัก หากมีการติดเชื้อการติดตามตัวจะทำได้ดีขึ้น

 

4) การทำเครื่องหมายและเส้นทางในสถานที่ใช้บริการ (Social distance circles)

เนื่องจากสถานที่ให้บริการ เป็นสถานที่มีคนเข้ามาใช้บริการมีการเคลื่อนไหวเข้าออกซึ่งเดิมอาจไม่มีการกำหนดเส้นทางเดิน โอกาสการสัมผัสหรือปะทะจึงอาจไม่ได้ถูกคิดไว้ ในสถานการณ์โรคระบาดนี้ ผู้ประกอบการอาจต้องปรับปรุงโดยการกำหนดเครื่องหมายและเส้นทางการเดินเพื่อสร้างให้เกิดระเบียบในการใช้บริการ

 

5) การทำความสะอาดและฆ่าเชื้ออย่างสม่ำเสมอ (Public area sanitizing and disposable wipes availability)

สถานประกอบการจะต้องทำความสะอาดและฆ่าเชื้อในพื้นที่ต่างๆ อย่างเข้มงวด และในความถี่ที่มากกว่าเดิม โดยเฉพาะในบริเวณที่ถูกใช้บริการมากๆ เช่น ประตู โต๊ะ เก้าอี้ ลูกค้าจะมีความคาดหวังเรื่องความสะอาดมากขึ้นกว่าเดิมมาก และจะเลือกใช้บริการในสถานที่ที่แน่ใจว่าปลอดภัย และลดความเสี่ยงจากการติดเชื้อ

 

6) การเปลี่ยนรูปแบบในการทักทายผู้ใช้บริการ (Greetings and acknowledgements)

แต่เดิมในหลายๆ ประเทศวิธีทักทายที่ใช้การสัมผัสมือ (Handshake) อาจต้องปรับเปลี่ยนไป มาตรฐานและวิธีการที่ใช้แบบเอเชีย เช่น การไหว้ของไทยและอินเดีย การโค้งคำนับแบบญี่ปุ่น การประสานมือแบบจีน อาจได้รับความนิยมและนำมาปฏิบัติมากขึ้น

 

7) การเปลี่ยนแปลงมาตรฐานการให้บริการบนโต๊ะอาหาร (Restaurant areas table spacing styles of service)

การใช้บริการในขณะที่โรคยังระบาดอยู่ ลูกค้าจะต้องการพื้นที่โต๊ะอาหารที่ห่างกันหรืออาจมีที่กั้น นอกจากนี้ แต่เดิมการเดินไปมาของบริกรเพื่อคอยให้บริการถือว่าเป็นเรื่องดีและปกติ เช่นการนำขวดพริกไทย ซอสไปบริการ ในอนาคตอาจมีการวางไห้บริการบนโต๊ะไปเลย แบบนี้เรียกว่า One-stop delivery เพื่อลดการสัมผัสหรือการใกล้ชิดกัน

8) การเปลี่ยนมาตรฐานการบริการเกี่ยวกับบุฟเฟต์และเมนูอาหาร (Buffets and single use buffet utensils, and disposable menus)

หากยังต้องมีไลน์อาหารแบบบุฟเฟต์ ลูกค้าจะต้องการอุปกรณ์ตักอาหารของตนเอง และอาจต้องกำหนดให้มีคิวตักอาหารเพื่อไม่ให้เกิดการแออัดที่ไลน์อาหาร สำหรับเมนูอาหารที่ใช้ซ้ำๆ เวลามีลูกค้าใหม่เข้ามาในร้าน ก็อาจเริ่มคิดให้มีเมนูอาหารที่ใช้ครั้งเดียวทิ้ง หรือถ้าหากจะลดขยะก็อาจใช้เป็น Digital menu ที่ลูกค้ายิง QR code หน้าร้าน และเมื่อนั่งที่โต๊ะก็สามารถสั่งได้เช่นกัน

 

9) การหันมาใช้บริการจากในห้องพักมากขึ้น (Room service)

เนื่องจากความกลัวเรื่องการติดเชื้อไวรัส เมื่อคนเข้าพักความต้องการบริการจากในห้องพักจะมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น เช่น การรับประทานอาหารในห้อง การต้องการให้ทำความสะอาดเป็นระยะ การคาดหวังให้มีเจลแอลกอฮอล์ในห้อง ซึ่งผู้ประกอบการต้องปรับระบบการดำเนินงานเพิ่มเติม บางกรณีก็อาจต้องพัฒนาโดยใช้เทคโนโลยีเข้าช่วย

 

ก็หวังว่าบทความตอนที่ 4 จะเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการที่ทำธุรกิจด้านนี้ของไทยที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก สุดท้ายอยากจะฝากว่า หลังวิกฤติ Covid-19 เวลาจะฟื้นฟูธุรกิจในอุตสาหกรรมบริการนี้ คาดว่าผู้ประกอบการก็อาจจะมีต้นทุนเพิ่มขึ้นในการปรับสภาพธุรกิจไปตาม New Normal ด้วย ซึ่งเงินทุนที่ต้องใช้จะไม่ได้ใช้เพื่อหมุนเวียนแบบเดิมอย่างเดียว แต่จะต้องการเพื่อปรับปรุงระบบการดำเนินงานตามวิถีชีวิตใหม่ด้วย ดังนั้น จึงอยากให้สถาบันการเงินที่ปล่อยสินเชื่อหรือให้เงินทุนพิจารณาในส่วนนี้ด้วยเช่นกัน

Credit : Institute of Hospitality

ที่มา : https://www.set.or.th/set/enterprise/knowledgedetail.do?contentId=6958

โดย : ดร.กฤษฎา เสกตระกูล

รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานพัฒนาความยั่งยืนตลาดทุน

ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

www.mitihoon.com