“เครดิต สวิส เผยแนวโน้มการลงทุนระยะยาวล่าสุด ท่ามกลางสถานการณ์โควิด-19 ระบาดทั่วโลกที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน”

211

มิติหุ้น- สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 (โควิด-19) กลายเป็นภัยคุกคามระดับโลกที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน และมีแนวโน้มจะสร้างความเปลี่ยนแปลงต่อวิธีคิด การทำงาน และการใช้ชีวิตของเราทุกคนในระยะยาว โดยเฉพาะบรรดานักลงทุน ท่ามกลางสถานการณ์ดังกล่าว เครดิต สวิส ได้จัดทำรายงานประจำปีเกี่ยวกับเทรนด์การลงทุนสำคัญ (Supertrends) ครอบคลุมกรอบแนวคิดสำหรับธีมการลงทุนหุ้นระยะยาวในลักษณะ High Conviction ที่เน้นลงทุนในหุ้นที่ดีที่สุด เพื่อโอกาสในการสร้างผลตอบแทนสูงสุด แม้สถานการณ์โควิด-19 จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกอย่างมหาศาล รายงานแนวโน้มการลงทุนล่าสุดก็ได้เน้นย้ำมุมมองสำคัญของธีมการลงทุนทั้ง 5 ธีม รวมถึงธีมการลงทุนที่ 6 ที่เพิ่มเติมเข้ามาใหม่ เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศด้วย

ธีมการลงทุนสำคัญ (Supertrends) ของเครดิต สวิส ที่เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อปี 2560 เน้นไปที่แนวโน้มสังคมด้านต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นยาวนานหลายปี และคาดว่าจะสร้างโอกาสทางธุรกิจที่เติบโตอย่างรวดเร็วได้ แต่ละธีมการลงทุนเหล่านี้นำเสนอโอกาสการลงทุนที่คาดว่าจะมีผลตอบแทนโดดเด่นมากกว่าซึ่งเป็นผลจากแนวโน้มสังคมดังกล่าว ยิ่งไปกว่านั้น ประเด็นด้านสังคม การเมือง เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้องกับธีมการลงทุนเหล่านี้ยังเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา และรายงานธีมการลงทุน Supertrends ล่าสุดของเครดิต สวิส ได้นำแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้มาพิจารณาควบคู่ไปกับสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ในปัจจุบัน

“วิถีชีวิตของเราต้องหยุดชะงักลงเพราะการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่ วิกฤติครั้งนี้กำลังท้าทายระบบและโครงสร้างที่มีอยู่เดิม จำกัดวิธีการเรียนรู้ ทำงาน และใช้ชีวิตประจำวันที่เราคุ้นชิน พร้อมสร้างความเปลี่ยนแปลงที่จะตามมาในอนาคต  เครดิต สวิส จึงได้นำสถานการณ์ที่เกิดขึ้นมาวิเคราะห์และปรับเปลี่ยนธีมการลงทุนสำคัญให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นรอบตัวเรา และเราเชื่อว่าธีมการลงทุนเหล่านี้จะยังคงเป็นธีมการลงทุนที่มีความสำคัญทั้งในปัจจุบันและอนาคตต่อไป” นายไมเคิล สโตรแบค ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการลงทุนระดับโลกของเครดิต สวิส กล่าว

ธีมการลงทุนระยะยาว เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อปี 2560 และฉบับล่าสุดได้มีการปรับเปลี่ยนเพิ่มเติม ดังนี้

  • การเปลี่ยนแปลงทางสภาพอากาศ (Climate change) – ขจัดมลพิษทางเศรษฐกิจ (Decarbonizing the economy)

จะเน้นการลงทุนในบริษัทที่มีส่วนร่วมและให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจโลกไปสู่การใช้ก๊าซคาร์บอนมอนนอกไซด์ให้น้อยที่สุด การล็อคดาวน์ระบบเศรษฐกิจที่เพิ่งเกิดขึ้นเนื่องจากการระบาดของโควิด-19 ได้ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยมนุษย์ลงไปมากในหลายภูมิภาค ซึ่งเป็นสัญญาณบ่งชี้ภาพโลกในอนาคตว่าจะเป็นอย่างไรหากเราสร้างเศรษฐกิจโลกที่ยั่งยืนและปราศจากก๊าซคาร์บอนมอนนอกไซด์ อุตสาหกรรมหลักของธีมการลงทุนนี้ก็คือ กลุ่มบริษัทผลิตไฟฟ้าที่ไม่มีก๊าซคาร์บอนมอนนอกไซด์ รวมถึงธุรกิจคมนาคมขนส่ง ธุรกิจที่บุกเบิกด้านการเปลี่ยนแปลงการใช้ก๊าซและน้ำมัน และธุรกิจผู้ผลิตสินค้าเกษตรกรรมและอาหาร

  • ภาวะสังคมพิโรธ (Angry Societies) – ทุนนิยมแบบมีส่วนร่วม (Inclusive capitalism)”

ซึ่งสะท้อนข้อเท็จจริงว่าความไม่พอใจที่เกิดขึ้นตอนนี้ มุ่งเน้นไปที่ประเด็นในสังคมเป็นหลัก โดยเฉพาะเรื่องความไม่เท่าเทียมกันในด้านต่าง ๆ และไม่ใช่เรื่องปัญหาภัยคุกคามจากภายนอกหรือความต้องการนโยบายกีดกันทางการค้า (Protectionism) ความโกรธเคืองกลายมาเป็นความตึงเครียด เครดิต สวิส ได้ใช้ดัชนีการประเมินที่ออกแบบมาใหม่ในการเก็บข้อมูลเพื่อประเมินว่าความตึงเครียดในสังคมลดลงหรือเพิ่มขึ้น สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้แสดงให้เห็นว่าภัยคุกคามที่แท้จริงคือปัญหาระดับโลกที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายภาคส่วน รวมทั้งขอความร่วมมือให้แต่ละคนดูแลป้องกันตัวเองด้วย

  • “การปฏิรูปเศรษฐกิจสูงวัย (Silver Economy) – การลงทุนสำหรับประชากรผู้สูงวัย”

คาดการณ์ว่าประชากรผู้สูงอายุจะยังคงขับเคลื่อนโอกาสทางธุรกิจและสร้างผลตอบแทนด้านการลงทุนต่อไปในอีกหลายปีข้างหน้า โดยเฉพาะผู้สูงอายุในตลาดเกิดใหม่ที่จะเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็วโดยที่คนส่วนใหญ่อาจยังไม่ได้ตระหนักถึง

  • “โครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) – การสร้างความเท่าเทียม (Closing the gap)”

การลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานจะยังเติบโตได้ดี ยังมีปัญหาทางเศรษฐกิจและสังคมเกิดขึ้นในหลายพื้นที่ เพราะกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเดิมยังไม่สามารถดูแลจัดการปัญหาความต้องการในสังคมทั้งเก่าและใหม่ได้ รวมถึงความต้องการที่จะขับเคลื่อนสู่ความยั่งยืนให้มากขึ้น ในขณะเดียวกัน กลุ่มประเทศเศรษฐกิจใหม่ก็เดินหน้าปฏิรูปสู่ความเป็นเมืองอย่างรวดเร็ว นโยบายอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำลงหรือติดลบ ที่มีการขยายระยะเวลาออกไปอาจเป็นปัจจัยกระตุ้นการลงทุนที่เหมาะสม แม้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงทางสภาพอากาศจะสร้างความกังวลให้กับประชาชนส่วนใหญ่ กฎเกณฑ์สำคัญและแรงกระตุ้นด้านการเมืองจะเป็นปัจจัยสำคัญต่อธีมการลงทุนนี้

  • “เทคโนโลยีที่สร้างความสะดวกสบายแก่มนุษย์”

นวัตกรรมเทคโนโลยีที่ยังมีการคิดค้นต่อเนื่อง รวมถึงปัญหาความท้าทายจากวิกฤติโควิด-19 จะส่งผลให้อุตสาหกรรมเทคโนโลยีเป็นอุตสาหกรรมสำคัญและน่าสนใจสำหรับนักลงทุน โดยมีปัจจัยกระตุ้นการลงทุนนี้ ทั้งในแง่ความต้องการใช้งานและความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยี จะทวีความสำคัญและธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับธีมการลงทุนนี้จะได้รับผลตอบแทนที่ดีในหลายปีข้างหน้า

  • ระเด็นเรื่องความยั่งยืนยังคงเป็นสิ่งที่ กลุ่มคนยุคมิลเลนเนียล ให้ความสำคัญ รวมถึงเรื่องการบริโภคแบบยั่งยืน (responsible consumption) เครดิต สวิส ได้นำเรื่องการเปิดเผยข้อมูลผลการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล (Environmental, Social and Governance : ESG) มาเป็นปัจจัยประกอบการเลือกหุ้นที่เหมาะสม สุขภาพก็เป็นอีกหนึ่งประเด็นสำคัญที่กลุ่มคนรุ่นใหม่ให้ความสนใจ คนรุ่นนี้มีความต้องการอาหารเพื่อสุขภาพและมีกรรมวิธีการผลิตและบริโภคแบบยั่งยืน หรือเรียกว่าการกินอาหารแบบรักษ์โลก “Planetary Health Diet” ดังนั้น เราจึงนำปัจจัยเกี่ยวกับการกินอาหารแบบยั่งยืนเข้ามาประกอบการตัดสินใจในธีมการลงทุนนี้ ควบคู่ไปกับการเปลี่ยนผ่านสู่หลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ด้วย

www.mitihoon.com