2 เรื่องต้องรู้ก่อนลงทุน Crowdfunding ไม่เป็นเหยื่อกลโกง

53

หลังจากบทความเรื่อง “น้ำใจคนไทยในยุคดิจิทัล ใช้ Crowdfunding ร่วมบริจาคสู้ COVID-19” เผยแพร่ไปเมื่อวันที่ 6 เมษายน ที่ผ่านมา มีผู้สนใจสอบถามเข้ามาอย่างต่อเนื่องว่า การระดมทุนแบบ Crowdfunding มีความเสี่ยงหรือข้อควรระวังอะไรบ้าง เพราะท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ยังมีโครงการรับบริจาคและระดมทุนด้วย Crowdfunding เกิดขึ้นอีกเป็นจำนวนมาก

ยิ่งเป็นการเน้นย้ำว่าพลังเงินเล็ก ๆ จากคนจำนวนมาก ได้ช่วยเปิดโอกาสให้สามารถระดมทุนเพื่อตอบสนองความต้องการในการใช้เงินของกิจการหรือโครงการใหม่ ๆ ได้อย่างสะดวก ภายในเวลาอันรวดเร็ว และด้วยค่าใช้จ่ายในการจัดหาเงินทุนที่น้อยกว่า

แต่ในขณะเดียวกันทุกท่านควรระวัง เพราะยังมีผู้ไม่ประสงค์ดีที่ฉวยโอกาสหาประโยชน์จากความใจดีมีน้ำใจของคนไทยตั้งโครงการหลอก ๆ ขึ้นมาขายฝัน โดยอ้างว่าเป็นการระดมทุนแบบ Crowdfunding โดยเฉพาะในรูปแบบบริจาค (Donation) และในรูปแบบสิ่งของ (Reward) ผ่านแพลตฟอร์มที่ทำขึ้นเอง ไม่ใช้บริการแพลตฟอร์ม หรือ “คนกลาง” ที่น่าเชื่อถือ ซึ่งการหลอกลวงเช่นนี้น่าจะส่งผลกระทบต่อการระดมทุนของผู้ที่ตั้งใจทำดีเพื่อช่วยเหลือสังคมอย่างแท้จริงอยู่ไม่น้อย เพราะฉะนั้นนอกจากจะเตือนให้ทุกท่านระวังกลุ่มที่หลอกลวงแล้ว ขอให้กำลังใจผู้ที่ตั้งใจทำดีโดยใช้ crowdfunding เป็นช่องทางในการระดมทุนในทางที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมด้วย

จากรูปแบบของ Crowdfunding ซึ่งมีอยู่ทั้งหมด 4 ประเภท* (บริจาค / สิ่งของ / การกู้ยืม / หลักทรัพย์) มีเพียง Crowdfunding รูปแบบหลักทรัพย์เท่านั้น ที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ ก.ล.ต. โดย คนกลาง หรือ Funding Portal ที่ทำหน้าที่คัดกรองบริษัทที่จะระดมทุนต้องได้รับความเห็นชอบจาก ก.ล.ต. ซึ่งปัจจุบันมีผู้ได้รับความเห็นชอบ 3 ราย ได้แก่ ไลฟ์ฟินคอร์ป (เฉพาะหุ้น) สินวัฒนา (เฉพาะหุ้น) และ เพียร์พาวเวอร์แพลตฟอร์ม (หุ้นและหุ้นกู้)

ขณะที่ คนกลาง หรือ แพลตฟอร์ม Crowdfunding รูปแบบของการกู้ยืม (Peer-to-Peer lending) ต้องได้รับอนุญาตจากกระทรวงการคลัง และมีธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ทำหน้าที่กำกับดูแลตัวกลางในการจับคู่ผู้กู้ที่เป็นบุคคลธรรมดา ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีแพลตฟอร์มใดได้รับอนุญาต

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นการระดมทุนด้วย Crowdfunding รูปแบบใด ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลและเงื่อนไขให้ละเอียดรอบคอบก่อนตัดสินใจโอนเงิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งใน 2 ประเด็นหลัก ดังต่อไปนี้

  1. 1.ผู้ระดมทุนหรือ กลุ่มคนที่ขอระดมทุน เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบว่าบุคคลเหล่านั้นมีตัวตนหรือการประกอบกิจการจริงหรือไม่ เนื่องจากอาจมีมิจฉาชีพหรือผู้ไม่หวังดี ตั้งใจใช้ Crowdfunding มาเป็นเครื่องมือในการหลอกลวง มีการแอบอ้างบุคคลที่มีชื่อเสียงมาประชาสัมพันธ์ หรือชักชวนคนรู้จักมาลงทุน เพื่อเพิ่มโอกาสในการรับรู้ในวงกว้าง
  2. 2.ความน่าเชื่อถือของแพลตฟอร์มหรือ คนกลาง ที่จะมาทำหน้าที่คัดเลือกโครงการ หรือ คัดกรองบริษัทที่จะระดมทุน ก่อนที่จะนำมาเสนอให้กับผู้สนใจ การเลือกระดมทุนผ่านแพลตฟอร์มที่น่าเชื่อถือ หรือ แพลตฟอร์มที่ได้รับความเห็นชอบจากหน่วยงานกำกับดูแลจะช่วยให้สบายใจได้ระดับหนึ่งว่า เงินที่ให้ไปจะถูกนำไปใช้ตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้

นอกจากจะต้องทราบความเสี่ยงและใช้ความระมัดระวังในการลงทุนแล้ว ภายหลังจากที่ลงทุนก็ควรจะต้องติดตามความคืบหน้าของโครงการอย่างใกล้ชิดด้วย ว่าการระดมทุนมีโอกาสที่จะไม่ประสบความสำเร็จหรือไม่ จะติดต่อขอเงินคืนหรือร้องเรียนกับหน่วยงานกำกับดูแลได้อย่างไร หรือหากระดมทุนสำเร็จแล้วมีการนำเงินไปใช้ตามวัตถุประสงค์ที่ได้ระบุไว้หรือไม่

สำหรับ Crowdfunding รูปแบบหลักทรัพย์นั้น ผู้ลงทุนสามารถตรวจสอบรายชื่อผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับอนุญาตหรืออยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ ก.ล.ต. ได้ที่ www.sec.or.th/TH/Pages/MarketData/ListOperator.aspx หรือแอปพลิเคชัน “SEC Check First”

สุดท้ายนี้ หากผู้ลงทุนมีข้อสอบถามหรือมีเบาะแสเกี่ยวกับการดำเนินการที่น่าสงสัยของ Crowdfunding ในรูปแบบหลักทรัพย์ โปรดแจ้ง SEC Help Center ที่สายด่วน ก.ล.ต. โทร. 1207 ได้ 24 ชั่วโมง เพื่อการตรวจสอบในเชิงลึกต่อไป

โดย นางสาวจอมขวัญ คงสกุล, CFA CAIA

ผู้ช่วยเลขาธิการ

สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)

ทีมโฆษก และฝ่ายฟินเทค

www.mitihoon.com