SCBS จับทิศทางไตรมาส 2 หลังตลาดฟื้นตัวกลับมาเร็ว ทำให้ผลตอบแทนเริ่มจำกัด เน้นโฟกัสการกลับมาดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจ โดยยังคงแนะซื้อหุ้น Defensive 

56

 

มิติหุ้น-บล.ไทยพาณิชย์โฟกัสการฟื้นตัวและการกลับมาดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจจากภาวะชะงักงันอันมีสาเหตุมาจากไวรัสโควิด-19 เนื่องจากถือว่าเป็นปัจจัยสำคัญที่จะผลักดันตลาดให้ปรับตัวขึ้นต่อไป หลังจากตลาดมีการฟื้นตัวมาพอสมควรแล้ว ส่งผลให้ผลตอบแทนในไตรมาสที่ 2/20 เริ่มจำกัด ทังนี้ เชื่อว่าตลาดทำจุดต่ำสุดไปแล้วในเดือนมี.ค. โดยมาตรการเยียวยาเศรษฐกิจของภาครัฐมีส่วนช่วยลดความเสี่ยงลงมาก สำหรับกลยุทธ์การลงทุนในไตรมาสที่ 2/20 แนะนำให้เข้าซื้อหุ้น defensive และ คุณภาพสูง Top picks ยังคงเป็น BDMS, BEM, BTS, CPF, MINT

นายสุกิจ อุดมศิริกุล กรรมการผู้จัดการ สายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์ จำกัด (SCBS) กล่าวว่า ตลาดหุ้นไทยได้ผ่านจุดต่ำสุดแล้วในวันที่ 23 มี.ค. 2020 ที่ผ่านมา (SET index ที่ระดับ 1024.46 จุด) ทั้งนี้เฉพาะในเดือน เม.ย. 20 SET index เริ่มฟื้นตัวขึ้นมาแล้ว 13% และ ฟื้นตัวสูงถึง 24% จากจุดต่ำสุด (ถือว่าเป็นอัตราการฟื้นตัวที่เร็วกว่าค่าเฉลี่ยในอดีตในช่วงที่ตลาดหุ้นเกิดวิกฤติ) หลังจากที่เคยปรับตัวลดลงแรงถึง 33% จากจุดสูงสุดช่วงกลางเดือน ม.ค.20  เนื่องจาก ระดับความเสี่ยงโดยภาพรวมทั่วโลกลดลง โดยเฉพาะ ต้นเหตุของวิกฤติครั้งนี้ คือ ความรุนแรงของการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยการเพิ่มขึ้นของผู้ป่วยมีอัตราชะลอตัวลง ในขณะที่จำนวนผู้หายป่วยเพิ่มขึ้นตามลำดับ ในหลายๆประเทศรวมถึงไทย รวมถึง ความเสี่ยงด้านสภาพคล่องในตลาดการเงิน และ ความเสี่ยงด้านเครดิต ที่ล้วนปรับตัวลดลงจากระดับสูงสุดในช่วงเดือน มี.ค.

ทั้งนี้ เป็นผลจากการที่ธนาคารกลางรวมถึงรัฐบาลของประเทศต่างๆทั่วโลก โดยเฉพาะสหรัฐฯ ได้เร่งออกมาตรการเพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้กับตลาดการเงิน และ ภาคธุรกิจ รวมถึง มาตรการเยียวยาเศรษฐกิจและประชาชนที่รวดเร็วและมีขนาดของเม็ดเงินที่สูง (มากกว่า 10% ของ GDP) เช่นเดียวกับประเทศไทยที่ได้มีการออกมาตรการเยียวยาเศรษฐกิจมาแล้ว 3 ชุด ดังนั้น จึงส่งผลทำให้นักลงทุนเริ่มมีความเชื่อมั่นและกลับเข้าลงทุนเพิ่มในสินทรัพย์เพื่อการลงทุนทุกกลุ่ม ทั้งนี้ แม้ว่าการระบาดของโควิด-19 จะยังไม่จบ รวมถึงความเสี่ยงต่อเนื่องที่อาจจะตามมาได้อีก เช่น ล่าสุดเกิดขึ้นในตลาดน้ำมันดิบยังคงมีโอกาสกระทบบรรยากาศการลงทุนต่อไป แต่เชื่อว่าด้วยความพร้อมของมาตรการด้านต่างๆ จะทำให้โอกาสที่ตลาดหุ้นจะปรับตัวลดลงอย่างรุนแรงเหมือนที่เคยเกิดขึ้นในเดือน มี.ค. นั้น มีโอกาสน้อยลงจึงเชื่อว่าสถานการณ์เลวร้ายที่สุดผ่านพ้นไปแล้ว

อย่างไรก็ตาม การฟื้นตัวของตลาดหุ้นไทยดูเหมือนจะเกิดขึ้น เร็วและแรงเกินไป ทําให้มีโอกาสสูงที่จะเกิดความผิดหวังถ้าการกลับมาดําเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจต้องเลื่อนออกไป เพราะเกิดการระบาดระลอกที่สอง ดังนั้นเรามองว่ายังเร็วเกินไปที่ SET จะฟื้นตัวกลับคืนสู่ระดับก่อนเกิดโควิด-19 ใน 2Q-3Q20 เนื่องจากคาดว่ากําไรในปี 2021 จะตํ่ากว่าปี 2019 นอกจากนี้กลุ่มอุตสาหกรรมหลายกลุ่มก็เผชิญกับความท้าทายที่จะกลับมาเติบโตในระดับก่อนเกิด  โควิด-19 ด้วย เนื่องจากภาพใหญ่ของประเทศไทยอยู่ในภาวะอัตราดอกเบี้ยตํ่าและการเติบโตต่ำ และหากพิจารณาจากมูลค่าหุ้นปัจจุบันมีระดับ PER ปี 2020 เท่ากับ 16.8 เท่า หรือเท่ากับระดับ +1SD ของค่า PE เฉลี่ย 7 ปี ก็ถือได้ว่าสะท้อนผลการดำเนินงานของปี 2020 ไปมากแล้ว จึงทำให้เราประเมินว่า ผลตอบแทนของตลาดหุ้นไทยในช่วงไตรมาสที่ 2/20 เริ่มจำกัด แต่สำหรับนักลงทุนระยะยาว เราประเมินเป้าหมายของ SET Index ในปี 2021 ที่ระดับ 1400-1450 จุด

เน้นลงทุนในหุ้นคุณภาพ ; กลยุทธ์การลงทุนในปัจจุบันยังคงแนะนำให้เลือกซื้อหุ้น defensive และ คุณภาพสูง   โดยเรายังคงมุมมองระมัดระวังต่อแนวโน้มการเติบโตในระยะยาวและอัตราการฟื้นตัวในระยะสั้นยังไม่แน่นอนในสถานการณ์เช่นนี้ แนะนำให้ลงทุนในหุ้น defensive ที่มีปัจจัยพื้นฐานแข็งแกร่งจึงยังคงหุ้น top picks ที่เคยแนะนำไว้ในช่วงต้น ไตรมาสที่ 2/20 คือ  BDMS BEM BTS CPF และ MINT แม้ราคาหุ้นฟื้นตัวขึ้นมาแล้ว แต่เชื่อว่าราคาหุ้นยังมีโอกาสปรับตัวขึ้นได้อีก เนื่องจากการดำเนินงานมีแนวโน้มที่จะกลับคืนสู่ภาวะปกติได้ในอนาคตอันใกล้นี้ SCBS มีมุมมองระมัดระวังต่อหุ้นที่เกี่ยวข้องกับน้ำมัน และมีความกังวลต่อกลุ่มธนาคารเนื่องจากมีความเสี่ยงด้านกำไรในอนาคตสูง

คาดผลประกอบการฟื้นตัวในรูปแบบตัว U ส่วนตลาดหุ้นเหมือนกำลังฟื้นตัวในรูปแบบตัว V แนะนำเลือกลงทุนกลุ่มที่กำไรสุทธิมีโอกาสฟื้นตัวรูปแบบ V เมื่อประเทศต่างๆ รวมถึงประเทศไทยกำลังจะกลับมาดําเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจตามปกติ อย่างน้อยคงทำให้ภาพรวมของเศรษฐกิจค่อยๆ ฟื้นตัวขึ้น หากมีการเริ่มเปิดตั้งแต่เดือน พ.ค.20 ได้ตามที่คาด อย่างไรก็ดี โดยปกติแล้ว GDP มักจะใช้เวลา 5-7 ไตรมาส ก่อนที่จะกลับคืนมาเติบโตตามปกติ นอกจากนี้การฟื้นตัวอย่างเต็มที่ของ EBITDA ก็จะใช้เวลามากกว่า 3 ไตรมาส ในขณะที่ตลาดหุ้นกำลังสะท้อนภาพถึงการฟื้นตัวคล้ายในรูปแบบตัว V มากกว่ารูปแบบตัว U ซึ่งเราประเมินว่าการฟื้นตัวในปัจจุบันนั้นยังมีความไม่แน่นอนสูง ซึ่งอาจจะสร้างแรงกดดันต่อ upside ของตลาดหุ้นไทยในภาพรวม  ดังนั้น ด้วยระดับราคาในปัจจุบัน SCBS แนะนำให้นักลงทุนเลือกลงทุนในหุ้นที่เราคาดว่ามีโอกาสฟื้นตัวในรูปแบบตัว V เช่น การขนส่งทางบกและราง ภาคการผลิต และ ธุรกิจห้างสรรพสินค้า ในขณะที่ใช้ความระมัดระวังในธุรกิจที่คาดว่าจะเห็นการฟื้นตัวรูปแบบตัว U เช่น ธุรกิจสายการบิน ท่าอากาศยาน โรงแรม และ ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับ การท่องเที่ยว เพราะต้องใช้ความเชื่อมั่นค่อนข้างสูงในการเดินทาง นอกจากนี้ ผลกระทบต่อจิตวิทยาผู้บริโภคก็สะท้อนถึงปัจจัยกดดันระยะกลางต่ออุตสาหกรรมบางกลุ่ม เช่น พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ และ ยานยนต์ ซึ่งจําเป็นต้องใช้เงินลงทุนจํานวนมากท่ามกลางกําลังซื้อที่ลดลง

ความเสี่ยงเรื่องการปรับลดประมาณการกำไรได้มีการสะท้อนผ่านมุมมองของนักวิเคราะห์ไปบ้างแล้ว สำหรับปัจจัยที่นักลงทุนส่วนใหญ่กำลังติดตามอย่างใกล้ชิด คือ การปรับลดประมาณการการเติบโตของเศรษฐกิจและกำไรสุทธิของบริษัทจดทะเบียนในปี 2020 โดยพบว่า นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ในตลาดได้มีการปรับลดประมาณการไปบ้างแล้วแต่อาจยังไม่ต่ำสุด ทั้งนี้ คงต้องรอดูข้อมูลและสถานการณ์ของโควิด-19 ประกอบอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ล่าสุด ตลาดมีการคาดว่า      โควิด-19 จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจมากที่สุดใน 2Q20 และ 3Q20 ก่อนที่ผลกระทบจะลดลงในช่วง 4Q20   สำหรับ มุมมองล่าสุด เราคาดว่า กำไรสุทธิต่อหุ้น (SET EPS) ปี 2020 จะปรับตัวลดลง 22% YoY โดยหลักๆ เกิดจากยอดขายที่หดตัวลง 16% ทั้งนี้ ตัวเลข SET EPS ปี 2020 ของเรายังตํ่ากว่า consensus อยู่ 17% สะท้อนภาพว่าตลาดอาจมีการปรับลดประมาณการได้อีก ทั้งนี้ ตั้งแต่ต้นปี 2020 ประมาณการ SET EPS ปี 2020/2021 ถูกปรับลดลงมาแล้ว 26% และ 18% ซึ่งเป็นการปรับลดลงมากที่สุดเมื่อเทียบกับตลาดหุ้นภูมิภาคที่ 13% ในปี 2020 และ 8% ในปี 2021    SCBS คาดว่า SET EPS ปี 2021 จะเติบโต 25% จากฐานตํ่าในปี 2020 ซึ่งสอดคล้องกับ EPS ของตลาดหุ้นภูมิภาคที่คาดว่าจะเติบโตเฉลี่ย 30% อย่างไรก็ตาม ในแง่มูลค่าของกําไรสุทธิของ SET อาจจะยังไม่ฟื้นตัวกลับคืนสู่ระดับปี 2019 จนกว่าจะถึงปี 2022 สะท้อนภาพการฟื้นตัวที่ยังคงเป็นไปอย่างช้าๆ ของบางธุรกิจ เช่น ธนาคาร อาหาร อสังหาริมทรัพย์ และ ท่องเที่ยว เป็นต้น ส่วนธุรกิจพลังงานและปิโตรเคมี ยังคงต้องประเมินทิศทางของราคาน้ำมันดิบต่อไป

ความเสี่ยงต่อไป คือ ความผิดหวังหากการเปิดกิจกรรมเศรษฐกิจช้ากว่าคาด แม้เราเชื่อว่าการกลับมาดําเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจเป็นปัจจัยบวกต่อตลาดหุ้น แต่ระดับการฟื้นตัวของตลาดหุ้นในปัจจุบัน ถือว่าได้มองข้ามผลกระทบของ  โควิด-19 ในปี 2020 ไปพอสมควรแล้ว  ดังนั้น เราจึงประเมินว่า ตลาดอาจพบกับความผิดหวังในอนาคตบ้าง หากการกลับมาดำเนินธุรกิจไม่ได้เร็วตามที่ตลาดคาดหวังไว้ ทั้งนี้ รวมถึง ความเสี่ยงของการระบาดของโควิด-19 รอบใหม่ที่ตลาดยังไม่ได้รับรู้เท่าที่ควร อย่างไรก็ตาม หากมองในแง่บวก ถ้าประเทศไทย และ ประเทศหลักๆ เช่น สหรัฐฯ จีน และ ยุโรป ไม่ประสบกับการระบาดระลอกที่สองหลังจากกลับมาดําเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจ จะทำให้มุมมองของ SCBS ที่คาดว่า SET Index ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้วมีน้ำหนักมากขึ้น ดังนั้น เป้าหมายการปรับตัวลดลงในระยะสั้นที่มองไว้ก่อนหน้านี้ที่ 950 จุดไม่น่าจะ ใช้ได้อีกต่อไป

www.mitihoon.com