สกสว. ขับเคลื่อนความรู้ใหม่ ช่วยประเทศยามวิกฤติ COVID – 19

35

มิตืหุ้น-สืบเนื่องจากการเผยแพร่ผลงานวิจัยใหม่ๆ ที่ สำนักงานส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัติกรรมให้การสนับสนุนนักวิจัยทั่วประเทศ และความรู้และผลงานจากนักวิจัยเหล่านั้น สามารถนำมาช่วยเหลือประเทศในยามวิกฤติได้มากมาย เช่น งานวิจัยเรื่อง Behavioral Insights ครัวเรือนไทยในสถานการณ์ COVID-19 ของ ผศ.ดร. ธานี ชัยวัฒน์ ผู้อำนวยการศูนย์เศรษฐศาสตร์พฤติกรรมและการทดลอง แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และคณะ ซึ่งมุ่งหาคำตอบเกี่ยวกับการรับรู้ ความเข้าใจและความร่วมมือปฏิบัติตามข้อเสนอของฝ่ายสาธารณสุข ต่อมาตรการป้องกันการระบาดของโรคอุบัติใหม่ COVID-19 นี้ โดยศึกษาจากพฤติกรรมประจำวันของครัวเรือนคนไทยและนำไปประเมินผลสำเร็จของความร่วมมือปฏิบัติตาม ในมาตรการต่างๆ และการปรับทิศทาง วิธีการ การสื่อสารใหม่ๆ เพื่อให้การรณรงค์ป้องกันการระบาดของ COVID-19 นี้ได้ผลและมีประสิทธิภาพสูงสุด
ผลงานวิจัยของ รศ.ดร.วีรชัย พุทธวงศ์ อาจารย์คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน ซึ่งศึกษาพัฒนาหน้ากากป้องกันสารเคมี-ชีวะสำหรับพลประจำรถถัง ร่วมกับกองทัพบก ซึ่งได้รับการรับรองมาตรฐานระดับโลกสำเร็จมาแล้ว มาประยุกต์พัฒนาและผลิตเป็นหน้ากากป้องกัน Virus Corona ให้แก่บุคลากรทางการแพทย์ ในโครงการ “ราชวิถีโมเดล” งานวิจัยเรื่อง “การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยวมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองเพื่อการส่งออกตลาดประเทศญี่ปุ่นโดยการขนส่งทางเรือเชิงพาณิชย์” ของ ผศ.ดร.พีระศักดิ์ ฉายประสาท คณบดีคณะเกษตรศาสตร์ ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยนเรศวร ซึ่งช่วยทำให้เกษตรกรสวนมะม่วงที่กำลังประสบปัญหาในช่วง วิกฤติการณ์จากการระบาดของ COVID-19 นี้ สามารถส่งมะม่วงออกไปจำหน่ายแล้ว 20 ตันยังญี่ปุ่นได้สำเร็จด้วยต้นทุนที่ถูกลงครี่งหนึ่ง และเก็บความสด และรสชาติของมะม่วงได้มากขึ้นเป็น 2 เท่า และเรือขนส่งจะเทียบท่าในช่วงวันที่ 16-17 เมษายน 2563 นี้
ตัวอย่างงานวิจัยทั้งสาม ถือเป็นแบบอย่างของการนำความรู้ที่มีหลักคิด หลักวิชาการ และนวัตกรรมที่ได้ค้นพบจากงานวิจัย มาปรับใช้อย่างเหมาะสม เกิดคุณค่ามหาศาลในช่วงวิกฤตการณ์การระบาดของโรค COVID-19 ซึ่งมีผลกระทบต่อภาวะ เศรษฐกิจ สังคม และสาธารณสุขของประเทศไทยในวงกว้าง ให้สมกับแนวคิดของรัฐบาลที่จะขับเคลื่อนสังคมไทย ด้วยฐานความรู้และนวัตกรรม
สกสว. ให้การสนับสนุนเชิงยุทธศาสตร์ และทิศทางการค้นคว้า วิจัยใหม่ๆ แก่นักวิจัยและหน่วยงานต่างๆ ภาคีเครือข่ายและประชาคมวิจัย โดยมีหน่วยงานในภาคี เช่น เครือข่ายมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ หน่วยราชการต่างๆเป็นผู้จัดสรรทุนแก่นักวิจัยตรงอีกส่วนหนึ่ง

www.mitihoon.com