ก.ล.ต. เกาะติด “ตราสารหนี้กลุ่มเสี่ยง” บรรเทาผลกระทบ COVID-19

233

มิติหุ้น – ตลาดตราสารหนี้ถือเป็นแหล่งระดมทุนที่สำคัญสำหรับภาคเอกชน และเป็นแหล่งการออมและการลงทุนที่สำคัญของประชาชน โดยมีการเติบโตอย่างรวดเร็วมาตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา จากมูลค่ารวม 1.3 ล้านล้านบาทในปี 2553 เพิ่มเป็นมูลค่าสูงถึง 3.96 ล้านล้านบาทในปี 2563 คิดเป็นอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีถึง 14% เมื่อเทียบกับสินเชื่อธนาคารพาณิชย์ซึ่งมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปี 5% โดยปัจจุบันตราสารหนี้ภาคเอกชนมีมูลค่ากว่า 20% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ (GDP)

มากกว่า 95% ของตราสารหนี้ภาคเอกชนเป็นตราสารที่มีอันดับความน่าเชื่อถือในระดับที่ลงทุนได้ (investment grade) ซึ่งผู้ลงทุนส่วนใหญ่ 59% เป็นผู้ลงทุนสถาบัน ได้แก่ สถาบันการเงิน ธนาคารพาณิชย์ บริษัทประกันชีวิต และกองทุนต่าง ๆ เป็นต้น ส่วนที่เหลืออีก 5% เป็นตราสารที่ได้รับการจัดอันดับ ความน่าเชื่อถือต่ำกว่าระดับที่ลงทุนได้ และตราสารที่ไม่ได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ (non-investment grade และ unrated) ซึ่งถือเป็นตราสารหนี้กลุ่มเสี่ยงและมักจูงใจผู้ลงทุนด้วยการให้ผลตอบแทนที่สูงกว่าตราสารหนี้ investment grade โดยผู้ลงทุนที่ลงทุนในตราสารกลุ่มเสี่ยงส่วนใหญ่ 60% เป็นผู้ลงทุนรายใหญ่ ซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาและนิติบุคคลที่มีศักยภาพด้านการเงินที่สามารถรับความเสี่ยงสูงจากการลงทุนได้ อีก 40% ประกอบด้วยผู้ลงทุนรายย่อยที่มีความสัมพันธ์กับกิจการและซื้อตราสารผ่านช่องทางการเสนอขายแบบวงจำกัด ไม่เกิน 10 ราย ประมาณ 20% และที่เหลืออีก 20% เป็นผู้ลงทุนสถาบัน

หมายเหตุ :

1. รวมการเสนอขายทุกช่องทางในตลาดแรก ได้แก่ การเสนอขายต่อประชาชนทั่วไป ผู้ลงทุนสถาบัน ผุ้ลงทุนรายใหญ่ และบุคคลในวงจำกัดไม่เกิน 10 ราย

2. ข้อมูลจำนวนผู้ลงทุน เป็นการเสนอขายในตลาดแรกและนับซ้ำกรณีผู้ลงทุนมีการลงทุนในหลายตราสาร

3. ผู้ลงทุนรายย่อยที่ลงทุนในตราสารหนี้กลุ่มเสี่ยงเป็นผู้ลงทุนที่มีความสัมพันธ์กับกิจการซื้อตราสารผ่านช่องทางการเสนอขายแบบวงจำกัด ไม่เกิน 10 ราย

สถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID-19) ส่งผลกระทบต่อการชะลอตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจและภาคธุรกิจหลายแห่งทั่วโลกรวมถึงภายในประเทศ ทำให้ธุรกิจบางรายประสบปัญหาสภาพคล่องอย่างกะทันหัน และอาจส่งผลต่อการระดมทุนหรือการต่ออายุตราสารหนี้ (rollover) จนทำให้กลไกตลาดตราสารหนี้อาจไม่สามารถทำหน้าที่จัดหาเงินทุนแก่ภาคธุรกิจได้อย่างเป็นปกติ

ก.ล.ต. และหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องเล็งเห็นถึงปัญหาดังกล่าวและเร่งประสานงานเพื่อแก้ไขปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้น โดยในส่วนที่เกี่ยวข้องกับเสถียรภาพของระบบการเงินของประเทศ (financial stability) ธนาคารแห่งประเทศไทยและกระทรวงการคลังได้จัดตั้งกองทุนเสริมสภาพคล่องตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชน (Corporate Bond Stabilization Fund: BSF) เพื่อสนับสนุนสภาพคล่องส่วนเพิ่ม (top up) ให้กับกิจการไทย โดยกิจการไทยหรือตราสารต้องมีอันดับความน่าเชื่อถือในระดับลงทุนได้ (investment grade) รวมทั้งมีตราสารหนี้ที่มียอดคงค้างที่จะครบกำหนดในปี 2563 ทั้งนี้ การให้ความช่วยเหลือของกองทุน BSF จะขึ้นกับการพิจารณาของคณะกรรมการลงทุนของกองทุนตามพระราชกำหนดการรักษาเสถียรภาพของระบบการเงินและความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ พ.ศ. 2563

สำหรับตราสารหนี้กลุ่มเสี่ยง ซึ่งมีผู้ลงทุนส่วนใหญ่ (60% เป็นผู้ลงทุนรายใหญ่) ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ก.ล.ต. ได้ติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง โดยได้ประสานงานกับบริษัทผู้ออกตราสาร บริษัทหลักทรัพย์ และธนาคารพาณิชย์ รวมทั้งผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้อย่างใกล้ชิด รวมทั้งพิจารณาแนวทางเพื่อลดและจำกัดผลกระทบในวงกว้างเท่าที่จะเป็นไปได้ โดยมาตรการที่ ก.ล.ต. ให้ความสำคัญและได้ดำเนินการในช่วงที่ผ่านมา มีดังนี้

การติดตามสถานะทางการเงิน ความสามารถในการชำระหนี้ และการ rollover ของผู้ออก

การสอบถามแผนการชำระหนี้ตามอายุตราสารของผู้ออก โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีที่คาดว่าจะไม่สามารถ rollover ได้

การพิจารณาหาแนวทางแก้ไขปัญหาเป็นรายกรณี เช่น การให้ผู้ออกจัดหาเงินมาชำระหนี้บางส่วน หรือวางหลักประกันเพิ่มเติม การขอมติผู้ถือหุ้นกู้เพื่อเลื่อนวันครบกำหนดอายุหุ้นกู้
ซึ่งเป็นแนวทางที่ใช้ในต่างประเทศภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 เป็นต้น

การซักซ้อมกับผู้ออกและให้คำแนะนำผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้เกี่ยวกับแนวทางการจัดประชุมผู้ถือหุ้นกู้ รวมถึงการมอบฉันทะ และการจัดประชุมแบบ e-meeting เพื่อรองรับกรณีผู้ออกต้องการจัดประชุมผู้ถือหุ้นกู้เพื่อแก้ไขข้อกำหนดสิทธิในเรื่องต่าง ๆ เช่น การขอผ่อนผันเงื่อนไขทางการเงินและระยะเวลาชำระหนี้ เป็นต้น

การกำชับผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ให้ทำหน้าที่รักษาผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้นกู้ โดยทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางในการติดต่อ ติดตามและรายงานสถานะทางการเงิน ผลการดำเนินงาน และข้อมูลอันดับความน่าเชื่อถือของผู้ออก ติดตามให้ผู้ออกปฏิบัติตามข้อกำหนดสิทธิ ดำเนินการจัดประชุมผู้ถือหุ้นกู้ ตลอดจนเรียกร้องค่าเสียหายให้แก่ผู้ถือหุ้นกู้

ก่อนหน้าที่จะเกิดสถานการณ์ COVID-19 ก.ล.ต. ได้มีการติดตามตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชน โดยเฉพาะตราสารหนี้กลุ่มเสี่ยงดังกล่าวอย่างใกล้ชิด รวมถึงดำเนินมาตรการยกระดับ eco-system ของตลาดตราสารหนี้ทั้งระบบ ซึ่งได้เปิดรับฟังความคิดเห็นต่อแนวทางดังกล่าวไปแล้วในช่วงต้นปี 2563 ได้แก่

1. การจำกัดประเภทผู้ลงทุนในช่องทางการเสนอขายแบบวงจำกัดไม่เกิน 10 ราย ซึ่งเป็นช่องทางที่อำนวยความสะดวกในการระดมให้แก่ผู้ออกตราสารหนี้ โดยไม่กำหนดให้มีการเปิดเผยข้อมูล

ให้เสนอขายได้เฉพาะกับผู้ลงทุนสถาบัน และผู้ลงทุนที่มีความสัมพันธ์กับกิจการ (กรรมการ ผู้บริหาร ผู้ถือหุ้นรายใหญ่และบริษัทในเครือ) เท่านั้น

2. การกำหนดให้ผู้ออกตราสารหนี้ที่เป็นบริษัท non-listed นำส่งงบการเงินถี่ขึ้นจากรอบปีเป็นรอบ 6 เดือน และให้ผู้ออกตราสารหนี้ทุกรายเปิดเผยข้อมูลโดยเฉพาะความเสี่ยงสำคัญและอัตราส่วนทางการเงินสำคัญที่จะช่วยสะท้อนความสามารถในการชำระหนี้ของผู้ออก

3. การห้ามไม่ให้ผู้ออกตราสารที่อยู่ระหว่างผิดนัดชำระหนี้ออกตราสารหนี้เพิ่มเติม

4. การติดตามและเพิ่มความเข้มงวดให้ธนาคารพาณิชย์และบริษัทหลักทรัพย์ซึ่งเป็นคนขายตราสาร มีความรับผิดชอบในการวิเคราะห์และคัดเลือกตราสาร (product screening) รวมถึงปฏิบัติตามมาตรฐานการขายผลิตภัณฑ์ในตลาดทุน (sales conduct) อย่างเคร่งครัด เพื่อให้มั่นใจว่าคนขายมีการกลั่นกรองตราสารก่อนนำมาเสนอขายและมีการให้คำแนะนำการลงทุนที่เหมาะสม รวมถึงให้ข้อมูลที่จำเป็นเพื่อประกอบการตัดสินใจของผู้ลงทุน

5. การสื่อสารและเน้นย้ำให้ผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ต้องทำหน้าที่ดูแลรักษาผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้นกู้อย่างเพียงพอและเหมาะสม เป็นต้น

หน้าที่หลักของ ก.ล.ต. คือ การสร้างความเชื่อมั่นต่อตลาดตราสารหนี้ และการคุ้มครองสิทธิผู้ลงทุน ซึ่ง ก.ล.ต. ได้ติดตามสถานการณ์ตลาดตราสารหนี้เอกชนอย่างใกล้ชิด และออกมาตรการเพิ่มความคุ้มครองสิทธิผู้ลงทุนให้ได้รับการเปิดเผยข้อมูลที่เพียงพอและครบถ้วน โดยคำนึงถึงผลกระทบต่อภาวะการระดมทุนในภาพรวม และมีการหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อพิจารณามาตรการอื่น ๆ เพิ่มเติมอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ก.ล.ต. ยังได้อำนวยความสะดวกในการเข้าถึงข้อมูลให้กับผู้ลงทุน โดยนอกจากจะเปิดให้ผู้ลงทุนสามารถค้นหาข้อมูลสถิติการระดมทุนโดยการออกตราสารหนี้ และรายงานยอดคงค้างการออกเสนอขายตราสารหนี้ของผู้ออกแต่ละราย พร้อมรายละเอียดที่เกี่ยวข้องผ่านเว็บไซต์ของ ก.ล.ต. รวมถึงเผยแพร่ข้อมูลมูลค่าเสนอขายตราสารหนี้ในรูปแบบ open API เมื่อเดือนกรกฎาคม 2562 แล้ว ก.ล.ต. ยังได้พัฒนาแอปพลิเคชัน “SEC Bond Check” สำหรับค้นหารายชื่อหุ้นกู้ที่ออกและเสนอขายใหม่ โดยได้เปิดตัวเวอร์ชันแรกไปเมื่อ 27 ธันวาคม 2562 ซึ่งผู้ลงทุนสามารถเปรียบเทียบข้อมูลตราสารหนี้ออกใหม่ที่อยู่ระหว่างเสนอขาย ได้ทั้งอัตราดอกเบี้ย อายุตราสาร และระดับความเสี่ยงของตราสารหนี้ที่เสนอขายในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน และยังสามารถเรียกดูเอกสารสรุปข้อมูลสำคัญของตราสารหนี้ ตลอดจนหนังสือชี้ชวนเพื่อใช้ประกอบการตัดสินใจลงทุน ทั้งนี้ ก.ล.ต. จะเปิดตัวแอปพลิเคชัน “SEC Bond Check” เวอร์ชันที่ 2 ในวันที่ 30 เมษายน 2563 นี้ เพื่อแสดงข้อมูลรายชื่อผู้ออกตราสารหนี้รายใหญ่ และจำนวนยอดคงค้างของผู้ออกตราสารหนี้ non-investment grade และ unrated สูงสุด 10 รายแรก เพื่อให้ผู้ลงทุนทราบว่าผู้ออกตราสารหนี้เหล่านี้มีการพึ่งพิงแหล่งเงินทุนจากการออกตราสารหนี้เป็นจำนวนมากเท่าใด และสามารถนำไปประเมินความเสี่ยงประกอบการตัดสินใจลงทุน นอกจากนี้ ผู้ลงทุนยังสามารถค้นหาชื่อผู้ออก อัตราดอกเบี้ย อันดับความน่าเชื่อถือ อายุคงเหลือ และระดับความเสี่ยงได้ โดย “SEC Bond Check” สามารถดาวน์โหลดได้ทั้งระบบปฏิบัติการ IOS และ Android (ระบบปฏิบัติการ IOS ดาวน์โหลดแอปพลิเคชันเพื่อใช้งานได้ที่ AppStore และ Play Store ระบบปฏิบัติการ Android ได้ที่ https://is.gd/nDqpEE) โดยปัจจุบันมีผู้ใช้งานแล้วเกือบ 2,000 ราย

ก.ล.ต. ได้ออกมาตรการเพื่อคุ้มครองสิทธิผู้ลงทุนอย่างเหมาะสม แต่ผู้ลงทุนจำเป็นต้องวิเคราะห์ข้อมูล ผู้ออก ตราสารหนี้ และความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องอย่างละเอียดรอบคอบก่อนการตัดสินใจลงทุนเสมอ โดยเฉพาะตราสารหนี้กลุ่มเสี่ยงซึ่งมักให้ผลตอบแทนสูง เพื่อให้สามารถลงทุนในตราสารหนี้ที่เหมาะสมกับระดับความเสี่ยงที่รับได้และรักษาผลประโยชน์ของตนเองอย่างดีที่สุด

โดย นางสาวจอมขวัญ คงสกุล, CFA CAIA ผู้ช่วยเลขาธิการ
สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)
ทีมโฆษก และฝ่ายตราสารหนี้

www.mithihoon.com