เผยผลจัดอันดับธนาคารแห่งปี Bank of the Year ธนาคารกรุงเทพ ครองแชมป์ ธนาคารแห่งปี 2563 Bank of the Year 2020 ธนาคารไทยพาณิชย์ นั่งอันดับ 2 ธนาคารกสิกรไทย รั้งอันดับ 3 

10863

มิติหุ้น-การเงินธนาคาร ฉบับเดือนเมษายน 2563 ประกาศผลการจัดอันดับ ธนาคารแห่งปี 2563 หรือ Bank of the Year 2020 โดยใช้ผลประกอบการของธนาคารพาณิชย์ 13 แห่ง ในรอบปี 2562 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม-31 ธันวาคม 2562 มาพิจารณาจัดอันดับ ปรากฏว่า ธนาคารกรุงเทพ ได้ครองแชมป์ธนาคารแห่งปี 2563 

  โดยในปี 2562 ธนาคารกรุงเทพสร้างกำไรสุทธิได้สูงเป็นอันดับ 3 ของระบบธนาคารพาณิชย์ โดยมีกำไรสุทธิทั้งสิ้น 35,816.09 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.4% จากปีก่อน มีกำไรต่อหุ้นสูงเป็นอันดับ 1 ที่ 18.76 บาท และมีมูลค่าทางบัญชีต่อหุ้น (Book Value) 225.36 บาท สูงเป็นอันดับ 1 เช่นเดียวกัน ซึ่งกำไรสุทธิที่เพิ่มขึ้นเนื่องจากธนาคารมีรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการเพิ่มขึ้น 3.3% จากค่าธรรมเนียมจากการอำนวยสินเชื่อที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับการเติบโตของค่าธรรมเนียมจากบริการประกันผ่านธนาคารและบริการกองทุนรวม
นอกจากนี้ ธนาคารยังได้ตั้งสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อสินเชื่อสูงเป็นอันดับ 1 ที่ 8.14% เพื่อเสริมสร้างระดับสำรองของธนาคารให้แข็งแรงมากยิ่งขึ้นตามหลักความระมัดระวัง และรักษาระดับเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงให้อยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง โดยมีอัตราส่วนเงินกองทุน (BIS) ขั้นที่ 1 สูงเป็นอับดับ 3 ถึง 17.01%
สำหรับนโยบายของธนาคารกรุงเทพในปี 2563 ธนาคารยังคงยึดมั่นแนวทางการดำเนินธุรกิจที่มุ่งสนับสนุนลูกค้าให้เข้มแข็ง พร้อมรับมือการแข่งขันและความท้าทายรอบด้าน เพื่อให้ลูกค้าเจริญเติบโตได้อย่างยั่งยืน ในขณะเดียวกัน ธนาคารให้ความสำคัญกับการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ๆ พัฒนาระบบเทคโนโลยีที่ทันสมัย เพิ่มขีดความสามารถของบุคลากร และสร้างประโยชน์ต่อยอดจากเครือข่ายพันธมิตร เพื่อให้ธนาคารมีความพร้อมทุกด้านที่จะตอบสนองความต้องการของลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ
ทั้งนี้ ก้าวสำคัญของธนาคารกรุงเทพในปี 2563 คือ การเข้าซื้อกิจการธนาคารเพอร์มาตา ซึ่งเป็นธนาคารพาณิชย์ที่มีขนาดของทรัพย์สินรวมอยู่ในลำดับที่ 12 ของภาคการธนาคารในประเทศอินโดนีเซีย มีสาขากว่า 300 แห่ง ใน 62 เมืองทั่วประเทศอินโดนีเซีย และมีบริการโมบายล์แบงกิ้งที่ได้รับความนิยมและกำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว
สำหรับสายลูกค้าธุรกิจรายใหญ่ และกิจการธนาคารต่างประเทศ เป็น 2 หน่วยงานของธนาคารที่มีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนลูกค้าที่เป็นบริษัทขนาดใหญ่ รวมถึงบริษัทข้ามชาติ โดยธนาคารสามารถสนับสนุนลูกค้าได้อย่างรอบด้าน ทั้งการดำเนินธุรกิจในประเทศ และการค้าและการลงทุนในต่างประเทศ รวมถึงการขยายกิจการเข้ามายังประเทศไทยของบริษัทข้ามชาติ นอกจากนี้ ธนาคารยังพัฒนาโซลูชั่นด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล ที่สามารถเชื่อมโยงกับระบบนิเวศของลูกค้าทั้งในและนอกประเทศ เช่น โซลูชั่นที่มีทั้งบริการการชำระเงิน และบริการสินเชื่อเพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการที่อยู่ในซัพพลายเชนของลูกค้า เป็นต้น
ในส่วนของลูกค้าบุคคล เนื่องจากการที่ลูกค้าในปัจจุบันทำธุรกรรมที่สาขาน้อยลง และหันมาใช้บริการผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น เจ้าหน้าที่สาขาจึงได้รับการพัฒนาทักษะและเพิ่มพูนความรู้เพื่อทำหน้าที่ในการให้คำปรึกษาทางการเงิน และนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการที่เหมาะสมกับความต้องการของลูกค้า ขณะเดียวกัน ธนาคารยังปรับรูปแบบของสาขาให้เอื้ออำนวยต่อการใช้บริการของลูกค้าที่เปลี่ยนจากการทำธุรกรรมพื้นฐาน มาเป็นบริการด้านการให้คำปรึกษาแนะนำมากขึ้น
ธนาคารยังเพิ่มขีดความสามารถด้านข้อมูล ระบบไอที อุปกรณ์สื่อสารและเครื่องมือที่ช่วยวิเคราะห์ข้อมูลลูกค้า เพื่อสนับสนุนการทำงานของเจ้าหน้าที่สาขา ทำให้พนักงานมีความพร้อมด้านข้อมูลและรายละเอียดเกี่ยวกับพฤติกรรมของลูกค้า เพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์ที่ดียิ่งขึ้น พร้อมทั้งสามารถนำเสนอบริการที่ตรงใจและสร้างความประทับใจให้แก่ลูกค้า
ทั้งนี้ ธนาคารยังคงเดินหน้าสู่การเป็นธนาคารดิจิทัล โดยอยู่ระหว่างการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานใหม่ และวางรากฐานข้อมูลด้วยการพัฒนาที่เก็บข้อมูลส่วนกลาง (Data Lake) การนำปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) และการวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) มาใช้ในการจัดการ จัดเก็บ วิเคราะห์ และนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อช่วยให้ธนาคารเข้าใจถึงความต้องการของลูกค้าได้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น และสามารถนำเสนอบริการให้ตรงกับความต้องการของลูกค้าแต่ละราย เช่น บริการเปิดบัญชีออนไลน์โดยใช้เทคโนโลยีจดจำใบหน้าหรือข้อมูลทางชีวภาพอื่นๆ ซึ่งจะเปิดให้บริการในปี 2563 นี้
อันดับ 2 ธนาคารไทยพาณิชย์ ในปี 2562 ธนาคารไทยพาณิชย์ มีกำไรสุทธิสูงเป็นอันดับ 1 รวม 40,436.25 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 368.80 ล้านบาท หรือ 0.92% มีรายได้สูงเป็นอันดับ 2 ที่ 174,900.49 ล้านบาท ทั้งนี้ เป้าหมายหลักของธนาคารไทยพาณิชย์คือ การสร้างการเติบโตอย่างแข็งแกร่งด้วยการพัฒนาไปสู่การเป็น Tech Company โดยการนำเสนอแพลตฟอร์มที่ตอบสนองความต้องการของลูกค้าเป็นสำคัญ ผ่านการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีใช้ Artificial Intelligence / Machine Learning อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
สำหรับปี 2563 ธนาคารไทยพาณิชย์ยังใช้กลยุทธ์ “กลับหัวตีลังกา” ต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา โดยให้ความสำคัญกับการสร้างรายได้ที่ยั่งยืนท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจทั่วโลกที่ยังมีความอ่อนแอ ซึ่งต้องดำเนินการพร้อมไปกับการบริหารค่าใช้จ่ายอย่างมีประสิทธิภาพ
1. การเติบโตในธุรกิจหลักของธนาคาร ธนาคารมุ่งหวังที่จะเป็นธนาคารหลักในการทำธุรกรรมที่ดียิ่งขึ้น (The better main bank) โดยการค้นหาตัวตนของธนาคาร (Brand Identity) และสร้างความแตกต่างจากคู่แข่ง (Differentiation) เพื่อเสริมสร้างความยั่งยืนในการทำธุรกิจ ธนาคารจะมุ่งเน้นการสร้างคุณค่าจากการลงทุนในช่วงที่ผ่านมาโดยจะเน้นการเติบโตธุรกิจผ่านการเชื่อมต่อขีดความสามารถใหม่เพื่อสร้างประสบการณ์ดิจิทัลที่มีคุณค่าให้กับลูกค้า
2. การลงทุนสำหรับอนาคตเพื่อสร้างการเติบโตอย่างก้าวกระโดด บริษัทเอสซีบีเท็นเอกซ์จำกัดตั้งขึ้นเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันในระยะยาวของกลุ่มธนาคารไทยพาณิชย์โดยมุ่งเน้นการสร้างธุรกิจที่มีขีดความสามารถทางเทคโนโลยีใหม่ๆ เช่น Blockchain Solutions และบริการที่มีการนำปัญญาประดิษฐ์มาใช้หรือบริการที่เกี่ยวเนื่องกับ 5G รวมถึงการลงทุนในเทคโนโลยีหรือแผนธุรกิจ (Business Model) และสร้างความร่วมมือกับพันธมิตรทางธุรกิจต่างๆ ที่สร้างผลตอบแทนและเพิ่มขีดความสามารถให้แก่ธนาคารเพื่อนำมาต่อยอดปรับใช้กับธุรกิจธนาคารได้อย่างต่อเนื่อง
นอกจากนั้น ยังให้ความสำคัญกับการสร้างรากฐานและวัฒนธรรมองค์กรรูปแบบใหม่ที่เหมาะกับการดำเนินธุรกิจในยุดดิจิทัลเพื่อดึงดูดผู้ที่มีความสามารถ (Talents) และสามารถลองผิดลองถูกเพื่อสร้างนวัตกรรมที่ไม่เคยมีมาก่อนที่จะสร้างผลลัพธ์เชิงบวกต่อธนาคาร
อันดับ 3 ธนาคารกสิกรไทย ในปี 2562 ธนาคารกสิกรไทย มีสินทรัพย์รวมรวม 3,293.89 ล้านบาท และมีรายได้รวม 185,002.38 ล้านบาทสูงเป็นอันดับ 1 ของระบบธนาคารพาณิชย์ และมีกำไรสุทธิ 38,726.74 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 268 ล้านบาท หรือ 0.70% กำไรสุทธิต่อหุ้น 16.18 บาท มูลค่าหุ้นทางบัญชี 167.57 บาท สูงเป็นอันดับ 2
สำหรับการทำธุรกิจของธนาคารกสิกรไทยในปี 2563 ธนาคารได้กำหนดยุทธศาสตร์ใหม่ ที่ยังคงยึดลูกค้าเป็นศูนย์กลาง และกำหนดเป้าหมายสำคัญคือ การเพิ่มอำนาจให้ทุกชีวิตและธุรกิจของลูกค้า (To Empower Every Customer’s Life and Business)
การดำเนินธุรกิจภายในประเทศ ธนาคารยังคงให้ความสำคัญกับความหลากหลายของช่องทางหรือแพลตฟอร์มต่างๆ ที่ลูกค้าใช้บริการ เพื่อให้ลูกค้าของธนาคารได้รับประสบการณ์ที่ดีที่สุด ตั้งเป้าทำให้บริการของธนาคารไปอยู่ในทุกที่ที่ลูกค้าต้องการใช้บริการทางการเงินต่างๆ โดยร่วมมือกับพันธมิตรรายใหญ่ทั้งในระดับโลกและระดับประเทศในการสร้าง Ecosystem เพื่อตอบสนองไลฟ์สไตล์ต่างๆ ของลูกค้า
การดำเนินธุรกิจข้ามประเทศ ธนาคารใช้กลยุทธ์ Asset-Light Regional Digital Expansion ในการขยายตลาดในภูมิภาคเพื่อสร้างช่องทางการเข้าถึงตลาดลูกค้าต่างประเทศและนำเสนอบริการรองรับการทำธุรกรรมและธุรกิจข้ามประเทศของลูกค้าอย่างต่อเนื่องผ่านความสามารถของธนาคาร
ด้านเทคโนโลยี จะขับเคลื่อนแกนกลางความสามารถทางเทคโนโลยีของธนาคารกสิกรไทย ในแกนสำคัญ 3 ด้าน ดังนี้ 1. วางรากฐานสถาปัตยกรรมและโครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยียุคใหม่ เพื่อรับมือกับการขยายตัวของการให้บริการแก่ลูกค้าของธนาคาร 20 ล้านคน 2. เสริมบทบาทธนาคารในการเป็นเครื่องจักรขับเคลื่อนนวัตกรรมและเทคโนโลยี AI และ 3. สนับสนุนการพัฒนาบริการของพันธมิตร ด้วยการเปิด API รับการเชื่อมต่อเข้ากับระบบบริการของธนาคาร (Open Banking API)
อันดับ 4 ธนาคารธนชาต อันดับ 5 ธนาคารทิสโก้ อันดับ 6 ธนาคารกรุงศรีอยุธยา อันดับ 7 ธนาคารเกียรตินาคิน อันดับ 8 ธนาคารกรุงไทย อันดับ 9 ธนาคารไอซีบีซี (ไทย) อันดับ 10 ธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ อันดับ 11 ธนาคารทีเอ็มบี อันดับ 12 ธนาคารไทยเครดิต เพื่อรายย่อย และ อันดับ 13 ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย
www.mitihoon.com