คปภ.ไฟเขียว ขายประกันเฉพาะกิจ “Digital Face to Face” สู้ภัยโควิด-19

65

ผู้สื่อข่าว “มิติหุ้น” รายงานว่า ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เปิดเผยว่า ตามที่นายประสงค์ พูนธเนศ ปลัดกระทรวงการคลัง ในฐานะประธาน คปภ. ได้ลงนามในประกาศ คปภ. เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการออก การเสนอขายกรมธรรม์ประกันภัยของบริษัทประกันชีวิต/วินาศภัย และการปฏิบัติหน้าที่ของตัวแทนประกันชีวิต/วินาศภัย นายหน้าประกันชีวิต/วินาศภัย และธนาคาร ในระหว่างสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) พ.ศ. 2563

โดยในวันที่ 7 เมษายน 2563 เลขาธิการ คปภ. ได้ลงนามในประกาศ เรื่อง การกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการออกการเสนอขายกรมธรรม์ประกันภัยของบริษัทประกันชีวิต/วินาศภัย และการปฏิบัติหน้าที่ของตัวแทนประกันชีวิต นายหน้าประกันชีวิต/วินาศภัย และธนาคาร ในระหว่างสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) พ.ศ. 2563 (ประกาศการขายประกันเฉพาะกิจ Digital Face to Face) ซึ่งมีสาระสำคัญดังนี้

1. ให้การเสนอขายกรมธรรม์ประกันภัย แบบ Face to Face หรือธนาคาร สามารถใช้วิธีการสื่อสารผ่านอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ โดย เสียง และ/หรือภาพ กับลูกค้าได้ ทั้งนี้ ไม่รวมถึงการเสนอขายกรมธรรม์ประกันชีวิตควบการลงทุน (Unit – Linked) และกรมธรรม์ประกันชีวิตแบบยูนิเวอร์แซลไลฟ์ ซึ่งเป็นกรมธรรม์ที่มีความซับซ้อนและอาจมีข้อกำหนด ที่ต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบของสำนักงาน กลต. ด้วย

2. กำหนดให้บริษัทประกันภัยต้องมีความพร้อมของระบบหรือกระบวนงานที่รองรับการเสนอขายกรมธรรม์ประกันภัย โดยให้ผู้เสนอขายใช้วิธีการสื่อสารผ่านอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์โดยข้อความ เสียง และ/หรือภาพ เช่น การจัดเก็บการสนทนาระหว่างผู้เสนอขายและลูกค้า การตรวจสอบคุณภาพการขาย การบริหารความเสี่ยงที่เหมาะสม และการเก็บรักษาข้อมูลส่วนบุคคลของลูกค้าตามกฎหมาย เป็นต้น

3. ในการเสนอขายกรมธรรม์ประกันภัย จะต้องมีการบันทึกเสียงหรือภาพการสนทนาไว้ โดยผู้เสนอขายต้องอธิบายข้อมูลเกี่ยวกับกรมธรรม์ประกันภัยที่เสนอขาย โดยใช้เอกสารประกอบการเสนอขายที่ได้รับความเห็นชอบจากบริษัทเท่านั้น รวมถึงต้องสอบถามข้อมูลเพื่อทราบความจำเป็น ความต้องการ วัตถุประสงค์ในการซื้อกรมธรรม์ประกันภัย เพื่อแนะนำแบบกรมธรรม์ประกันภัยที่เหมาะสมกับความเสี่ยงและความสามารถในการชำระเบี้ยประกันภัย (Suitability Requirement) ของลูกค้า

4. กรณีลูกค้าสนใจทำประกันภัย ให้ผู้เสนอขายสอบถามข้อมูลต่าง ๆ เพื่อกรอกข้อมูลของลูกค้าในคำขอเอาประกันภัย และเอกสารประกอบการเสนอขาย และส่งให้ลูกค้าตรวจสอบความถูกต้องผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ เช่น แอพพลิเคชั่นที่ตกลงกับลูกค้า ไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ (E-mail) การส่งข้อความสั้น (SMS) ทั้งนี้ หากลูกค้าตกลงทำประกันภัย ให้ลูกค้าส่งข้อความยืนยัน พร้อมส่งภาพบัตรประชาชน คำขอเอาประกันภัย และหลักฐานการชำระเบี้ยประกันภัยเข้าบัญชีบริษัท โดยวิธีทางอิเล็กทรอนิกส์ได้เช่นเดียวกัน และเมื่อบริษัทได้รับชำระเบี้ยประกันภัยแล้ว ให้ออกเอกสารการรับเงินโดยใช้วิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ให้ลูกค้าทันที

5. เมื่อบริษัทตกลงรับประกันภัย บริษัทจะส่งกรมธรรม์ประกันภัยโดยใช้วิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ก่อนก็ได้ หากผู้เอาประกันภัยยินยอม และให้เริ่มนับระยะเวลาขอยกเลิกกรมธรรม์ประกันภัย (Free Look Period) ตั้งแต่วันที่กรมธรรม์ประกันภัยไปถึงผู้เอาประกันภัย ทั้งนี้ บริษัทต้องส่งมอบกรมธรรม์ประกันภัยและเอกสารแสดงการรับเงินฉบับจริงให้ผู้เอาประกันภัยด้วย อย่างไรก็ตาม ผู้เอาประกันภัยอาจแจ้งความประสงค์ให้บริษัทออกกรมธรรม์ประกันภัยโดยใช้วิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งบริษัทต้องปฏิบัติตามที่กำหนดไว้ในประกาศ คปภ. เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการออกกรมธรรม์ประกันภัย การเสนอขายกรมธรรม์ประกันภัย และการชดใช้เงินตามสัญญาประกันชีวิต/การชดใช้เงิน หรือค่าสินไหมทดแทนตามสัญญาประกันภัย โดยใช้วิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2560

6. เมื่อบริษัทออกหรือส่งมอบกรมธรรม์ประกันภัยให้แก่ผู้เอาประกันภัยแล้ว ภายใน 7 วัน บริษัทจะต้องโทรศัพท์ไปขอคำยืนยันการทำประกันภัย (confirmation call) และหากผู้เอาประกันภัยประสงค์จะยกเลิกการทำประกันภัย ให้บริษัทคืนเบี้ยเต็มจำนวนให้ผู้เอาประกันภัย ภายใน 30 วัน นับแต่ได้รับแจ้งการยกเลิกนั้น

“ประกาศการขายประกันเฉพาะกิจ Digital Face to Face จะใช้คู่กับประกาศการขายประกันฉบับปี 2561 ซึ่งเป็นประกาศหลักที่ใช้ในปัจจุบัน โดยจะช่วยเสริมให้เกิดความคล่องตัวเพื่อให้การปฏิบัติตามประกาศการขายประกันฉบับปี 2561 สามารถดำเนินการได้ โดยเปิดช่องให้นำเทคโนโลยีเข้ามาปรับใช้ในกระบวนการเสนอขายผลิตภัณฑ์ประกันภัยแบบ Face to Face เพื่อแก้ปัญหาในทางปฏิบัติในสถานการณ์ที่มีการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) โดยจะใช้เป็นการเฉพาะกิจในช่วงสถานการณ์ที่มีการแพร่ระบาดนี้ ซึ่งการใช้ประกาศเฉพาะกิจฉบับนี้จะเปรียบเสมือน Regulatory Sandbox ของกติกาในการกำกับดูแลของ คปภ. โดยหากประเมินแล้วพบว่ากติกาเฉพาะกิจนี้ใช้ได้ผลดี ก็อาจพิจารณานำส่วนที่เหมาะสมมาปรับใช้ในประกาศฉบับถาวรก็ได้” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย

www.mitihoon.com