“โกลเบล็ก” มองหุ้นไทยได้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจพยุง แนะกลยุทจัดพอร์ตถือเงินสด 75% กองทุนตราสารหนี้ 10% หุ้น 15%

64

มิติหุ้น- บล. โกลเบล็กมองหุ้นไทยผันผวนจากแรงกดดันหลัก ยอดผู้ติดเชื้อไวรัส COVID-19 พุ่งขึ้นต่อเนื่อง ยอดผู้เสียชีวิตสูงขึ้นทั่วโลก ส่งผลให้ IMF คาดการณ์ว่ารุนแรงกว่าวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ในปี 2008-2009 จึงได้แต่คาดหวังว่ามาตรการเยียวยาต่าง ๆ ที่ออกมาจะช่วยพยุงเศรษฐกิจได้ทันท่วงที  จึงให้กรอบการเคลื่อนไหวดัชนีหุ้นไทย 1,050-1,150 จุด แนะนำกลยุทธ์ถือเงินสด 75% ลงทุนในกองทุนตราสารหนี้ 10% และอีก 15% ทยอยสะสมหุ้นได้ประโยชน์จากการส่งเสริมการทำงานที่บ้าน และหุ้นที่ได้ประโยชน์จาก Bangkok Lockdown ส่วนราคาทองคำฟื้นตัว จากแรงหนุนเฟดออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ และมาตรการผ่อนคลาย QE อีกทั้ง SPDR กลับเข้ามาซื้อทองคำเพิ่ม  ประเมินกรอบการเคลื่อนไหวราคาทองคำ 1,580-1,670 ดอลลาร์ต่อทรอยออนซ์

นางสาว วิลาสินี บุญมาสูงทรง ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย  บริษัทหลักทรัพย์ โกลเบล็ก จำกัด หรือ GBS ประเมินทิศทางตลาดหุ้นไทยยังคงแกว่งตัวผันผวน จากแรงกดดันหลักๆ คือ ตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่ยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยล่าสุดสหรัฐได้แซงหน้าจีนและอิตาลีขึ้นเป็นประเทศที่มีผู้ติดเชื้อมากที่สุดแล้ว และจากยอดผู้เสียชีวิตสูงขึ้นทั่วโลกส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจทุกประเทศทั่วโลก  ทั้งนี้กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ประเมินความเสียหายล่าสุดว่าผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 อาจรุนแรงกว่าวิกฤติการเงินปี 2008-2009 หรือ วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ (ซับไพรม์)และจะเริ่มฟื้นตัวในปี 2021 ประกอบกับราคาน้ำมันดิบ WTI ที่ปรับตัวลงต่อเนื่องจนหลุดระดับ 21 ดอลลาร์/บาร์เรล ส่งผลลบเชิงจิตวิทยาต่อหุ้นกลุ่มพลังงาน จึงคาดว่าดัชนีตลาดหุ้นไทยจะยังคงเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 1,050-1,150 จุด

อีกทั้งยังคงต้องจับตาการเคลื่อนไหวต่าง ๆ ทั้งในประเทศ และต่างประเทศถึงการรับมือและการแก้ไขสถานการณ์จากผลกระทบของการแพร่ระบาดไวรัส COVID-19 โดยวันนี้ทางธนาคารแห่งประเทศไทยจะมีการรายงานภาวะเศรษฐกิจไทย เช่นเดียวกับจีนจะมีการเปิดเผยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิต-ภาคบริการเดือนมี.ค. ส่วนอังกฤษ จะมีการเปิดเผย GDP ไตรมาส 4/2562 (ประมาณการครั้งสุดท้าย) รวมทั้งอียูจะมีการเปิดเผยอัตราเงินเฟ้อเดือนมี.ค. และสหรัฐเปิดเผยดัชนีราคาบ้าน และความเชื่อมั่นผู้บริโภค

ขณะที่วันที่ 1 เม.ย. ทางจีนจะมีการเปิดเผยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตเดือนมี.ค.รวมทั้งอียูเปิดเผยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตขั้นสุดท้ายเดือนมี.ค. และสหรัฐเปิดเผยตัวเลขจ้างงานภาคเอกชนเดือนมี.ค. ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตขั้นสุดท้ายเดือนมี.ค. ดัชนีภาคการผลิตเดือนมี.ค.  การใช้จ่ายภาคการก่อสร้างเดือนก.พ. และสต็อกน้ำมันรายสัปดาห์ และวันที่ 2 เม.ย. อียูเปิดเผยดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) เดือนก.พ. ส่วนสหรัฐเปิดเผยจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ ดุลการค้าเดือนก.พ. ดัชนีภาวะธุรกิจนิวยอร์กเดือนมี.ค. และยอดสั่งซื้อภาคโรงงานเดือนก.พ. ซึ่งจะเป็นการบ่งชี้ถึงการเติบโตของเศรษฐกิจในช่วงไตรมาส 1/2563 ได้ชัดเจนมากขึ้น

“หากพิจารณาสถานกาณ์ตอนนี้หลาย ๆ ฝ่ายต่างออกมาช่วยกอบกู้สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 อย่างเร่งด่วนมากขึ้นพร้อมทั้งการออกมาตรการพยุงเศรษฐกิจ ล่าสุด จีนเตรียมออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ เพื่อรับมือกับผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ฉีดเงินเข้าสู่ระบบธนาคารวงเงิน 5 หมื่นล้านหยวน หรือราว 7.1 พันล้านดอลาร์สหรัฐ ผ่านการทำข้อตกลง reverse repo อายุ 7 วัน ซึ่งถือเป็นการดำเนินการดังกล่าวเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่วันที่ 17 ก.พ. ส่วนในประเทศเองทาง บลจ.เตรียมเปิดขายกองทุน SSF วงเงินพิเศษ มีกำหนดระยะเวลาลงทุน 3 เดือนระหว่าง 1 เม.ย.-30 มิ.ย.63 พร้อมกันวันแรก 1 เม.ย.ส่งเสริมการออมระยะยาวเน้นลงทุนหุ้นไทย และทางดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้กระทรวงคลังพิจารณาแนวทางการออกพ.ร.ก.กู้เงินกว่า 2 แสนล้านบาทนำมาใช้ในการกระตุ้นเศรษฐกิจและเร่งจัดทำมาตรการระยะ 3 หลังประกาศมาตรการระยะ 2 แล้ว ซึ่งหากเม็ดเงินกระตุ้นต่างๆเข้าสู่ระบบได้รวดเร็วก็จะสามารถพยุงเศรษฐกิจได้”

ดังนั้นแนะนำกลยุทธ์การลงทุน นายณัฐวุฒิ วงศ์เยาวรักษ์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บล.โกลเบล็ก แนะนำว่ากระจายการลงทุนในการถือเงินสดหรือเงินฝากระยะสั้นในสัดส่วน 75% ลงทุนในกองทุนตราสารหนี้ 10% และอีก 15%  เลือกทยอยสะสมหุ้นได้ประโยชน์จากการส่งเสริมการทำงานที่บ้าน อาทิ ADVANC, INTUCH, DTAC, TRUE, JAS, JASIF, DIF, COM7, SIS และ SYNEX รวมทั้งหุ้นที่ได้ประโยชน์จาก Lockdown อาทิ MAKRO, BJC, CPALL, TU และ TFM

ส่วนราคาทองคำ นายณัฐวุฒิ  คาดว่าราคาทองคำปรับตัวขึ้น 128 ดอลลาร์ต่อทรอยออนซ์ จากแรงหนุนของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ ซึ่งรวมถึงการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ในวงเงินไม่จำกัด และจะเข้าซื้อหุ้นกู้ของภาคเอกชนเป็นครั้งแรก โดยจะซื้อหลักทรัพย์ที่มีอันดับความน่าเชื่อถือในขั้นน่าลงทุน ทั้งในและนอกตลาดรวมทั้งจะเข้าซื้อกองทุน ETFs และเฟดจะเพิ่มวงเงิน 3 แสนล้านดอลลาร์สำหรับโครงการปล่อยกู้แก่ภาคธุรกิจ และโครงการสินเชื่อที่มีสินทรัพย์ค้ำประกันที่มีการใช้ในช่วงที่เกิดวิกฤตทางการเงิน นอกจากนี้กองทุน SPDR กลับเข้ามาซื้อทองคำอีกครั้งเป็นสัปดาห์แรกกว่า 40 ตันหลังขายติดต่อกัน 2 สัปดาห์ มองกรอบทองคำสัปดาห์นี้ที่ 1,580-1,670 ดอลลาร์ต่อทรอยออนซ์ หรือคิดเป็นทองคำไทย 24,170-25,690 บาทต่อบาททองคำ

www.mitihoon.com