“สโตนเฮ้นจ์” จัดตั้งโครงการเพื่อสังคม อาสาพลิกฟื้นอาคารเรียน เข้าสำรวจ และออกแบบโครงสร้าง ณ โรงเรียนวัดลานนาบุญ

178

มิิติหุ้น-“สโตนเฮ้นจ์” ผู้นำธุรกิจบริหารและคุมงานก่อสร้าง จัดตั้งโครงการ CSR ขอส่งต่อความรู้ความสามารถ และทำดีเพื่อสังคม ภายใต้ชื่อ “โครงการสำรวจและออกแบบเสริมกำลังโครงสร้างอาคารแบบ 017”  ที่โรงเรียนวัดลานนาบุญ (น้อม หงสะเดชอุปถัมภ์) จ.นนทบุรี เป็นต้นแบบซ่อมแซมอาคารที่ใกล้จะรื้อทิ้ง ให้กลับมาใช้งานได้อย่างมั่นคงแข็งแรง เป็นแบบแผนส่งต่อให้กับ สำนักงานคณะกรรมการขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ต่อไป

นายสมจิตร์ เปี่ยมเปรมสุข กรรมการบริหาร บริษัท สโตนเฮ้นจ์ อินเตอร์ จำกัด (มหาชน) (STI) และ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สโตนเฮ้นจ์ จำกัด (STH) เปิดเผยว่า กลุ่มบริษัทมีความมุ่งมั่นในการจัดทำกิจกรรมความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม หรือ CSR (Corporate Social Responsibility) จึงมีแนวคิดจัดตั้งโครงการเพื่อสังคมภายใต้ชื่อ “โครงการสำรวจและออกแบบเสริมกำลังโครงสร้างอาคารแบบ 017”  เป็นโครงการที่สามารถใช้ความรู้ความสามารถของทีมวิศวกร และช่างเทคนิคของกลุ่มสโตนเฮ้นจ์ เข้ามาสำรวจ และซ่อมแซมอาคาร ให้กลับมาใช้งานได้ปกติ ประเดิมที่ โรงเรียนวัดลานนาบุญ (น้อม หงสะเดชอุปถัมภ์) อ.เมืองนนทบุรี จ.นนทบุรี  ที่ได้สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2515 มีอายุกว่า 48 ปี ได้ชำรุดเสียหายจากโครงสร้างเสาคอนกรีต ที่มีการผุกร่อนจากโครงเหล็กด้านในที่หมดสภาพขึ้นสนิมจำนวน 27 ต้น เป็นเหตุทำให้ ปัจจุบัน อาคารต้องถูกปิดไม่สามารถเข้าใช้งานได้ เนื่องจากอาจก่อให้เกิดเหตุอันตรายขึ้น

ผมในฐานะผู้บริหาร อีกทั้ง เป็นประธานคณะอนุกรรมการ คลินิกช่าง วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย (วสท.) เล็งเห็นว่า โครงการนี้จะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนในวงกว้าง เดิมทีอาคารหลังนี้ต้องถูกทุบทิ้งทำลาย แต่เนื่องจากเป็นอาคารหลังแรก ทางโรงเรียนจึงอยากเก็บรักษาเอาไว้ และได้ขอความอนุเคราะห์มายังวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ เพื่อเข้าช่วยเหลือ สำรวจ และซ่อมแซม ซึ่งสโตนเฮ้นจ์เราอาสานำทีมวิศวกรเข้ามาทำงานดังกล่าวอย่างดีที่สุด

สำหรับผลการสำรวจ ตัวอาคารยังสามารถที่จะซ่อมแซมได้ โดยทางบริษัท สโตนเฮ้นจ์ จำกัด จะทำการประเมินเบื้องต้น ทำข้อมูล ออกแบบ และทำสรุปงบประมาณ ว่าจะมีแนวทางในการซ่อมแซมอย่างไร โดยจะเลือกแนวทางที่ง่ายและประหยัดที่สุด นอกจากนี้ สโตนเฮ้นจ์ ยังมีแผนที่จะทำแบบงบซ่อมแซมอาคารตัวอย่าง ในการซ่อมแซมอาคารที่ใกล้จะรื้อทิ้ง ให้กลับมาใช้งานได้อย่างมั่นคงแข็งแรงได้ โดยที่ใช้งบประมาณในการซ่อมแซมไม่เยอะจนเกินไป เพื่อจะได้เป็นตัวอย่างให้กับหลายๆ โรงเรียนในการซ่อมแซมอาคาร โดยทาง สโตนเฮ้นจ์ ยินดีที่จะทำเป็นแบบแผนส่งต่อให้กับ สำนักงานคณะกรรมการขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เพื่อที่จะได้นำแผนนี้ไปใช้งานต่อไปกับโรงเรียนอื่นๆ และสร้างประโยชน์ให้มากยิ่งขึ้นต่อไป